รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำทัพผู้บริหาร และสภาเกษตรกรแห่งชาติ รับทราบสถานการณ์ลำไยเมืองเหนือ แนะแนวทางกันลำไยล้นตลาด พร้อมชี้ช่องส่งออกผ่าน FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 17, 2018 13:45 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2561 กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก บ้านร้องขุด อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ โดยมีกรมการค้าภายใน และพาณิชย์จังหวัดร่วมคณะด้วยซึ่งกลุ่มเกษตรกรชาวสวนลำไยมัดปุ๊ก เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกลำไยแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการแบบกลุ่ม เพื่อพัฒนาผลผลิตและการตลาด อีกทั้งยังเป็นผู้รวบรวมรับซื้อลำไยในพื้นที่ มีการรับซื้อเฉลี่ยวันละ 30 -50 ตันเพื่อจำหน่ายในประเทศ เช่น ตลาดไอยรา และตลาดไทย พร้อมทั้งส่งออกไปประเทศมาเลเซีย และจีน โดยปัจจุบัน มีสมาชิก 110 คน ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ มีสวนลำไยที่ได้มาตรฐาน GAP 70 แปลง และกำลังพัฒนาให้เป็นเกษตรอินทรีย์

ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการส่งออกลำไยภาคเหนือ มุ่งป้องกันลำไยล้นตลาดในปี 2561 ซึ่งนายสนธิรัตน์ ได้สร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรด้วยการประกาศมาตรการบริหารจัดการลำไยสดสำหรับปีนี้ ได้แก่ (1) ผลักดันลำไยผลสดออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย จีน และตลาดที่มีคนเอเชียอาศัยอยู่ (2) ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยกระจายลำไยออกนอกจังหวัดแหล่งผลิต เป้าหมาย 5,000 ตัน ผ่านตลาดประชารัฐ โมเดิร์นเทรด สถานีบริการน้ำมัน และไปรษณีย์ไทย (3) สนับสนุนการแปรรูปลำไยเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งรัฐจะช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และ (4) รณรงค์และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยในประเทศ เช่น การจัดเทศกาลผลไม้ โดยกระทรวงฯ ได้ทำงาน เชิงรุก และเร่งดำเนินมาตรการหลายส่วนไปแล้ว ซึ่งเชื่อมั่นว่า ปีนี้ กระทรวงฯ จะบริหารจัดการลำไยสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่มีความกังวลต่อผลกระทบจากมาตรการห้ามนำเข้าลำไยของอินโดนีเซียในช่วงกรกฎาคมถึงสิงหาคม และย้ำให้เกษตรกรรักษาคุณภาพของสินค้า และพยายามรวมกลุ่มกันเพื่อลดการพึ่งพาล้ง

นายสนธิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA มองหาตลาดส่งออกศักยภาพอื่นๆ นอกเหนือจากอินโดนีเซีย โดยกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นแนวหน้าเจรจาผลักดันให้คู่ค้าเปิดตลาดและลดภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อเป็นการขยายโอกาสในการส่งออก โดยในช่วงที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการจัดทำ FTA ซึ่งปัจจุบัน ไทยมี FTA รวม 12 ฉบับ กับคู่ภาคีรวม 17 ประเทศ และทุกฉบับได้มีการลดภาษีสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว มีเพียงความตกลงไทย-อินเดีย ที่อินเดียมีการยกเลิกภาษีให้แค่สินค้าลำไยสดเท่านั้น ในขณะที่ผลิตภัณฑ์จากลำไย อาทิ ลำไยแช่แข็ง ลำไยอบแห้ง และลำไยกระป๋อง ยังถูกเก็บภาษี MFN คือ ร้อยละ 30 ซึ่งสำหรับคู่ภาคีส่วนใหญ่ ได้มีการยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยและผลิตภัณฑ์ให้ไทยแล้ว อาทิ ประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีนและญี่ปุ่น ที่มีการยกเลิกภาษีสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง และลำไยอบแห้งให้ไทยภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน และความตกลงไทย-ญี่ปุ่น สำหรับความตกลงอาเซียน สมาชิกอาเซียนได้ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าลำไยสด ลำไยแช่แข็ง ลำไยกระป๋อง และลำไยอบแห้งให้ไทยหมดแล้วเช่นกัน ยกเว้น ลาว ที่มีการเก็บภาษีลำไยอบแห้งที่ร้อยละ 5 ดังนั้น ตอนนี้ไทยสามารถส่งลำไยไปขายในประเทศอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยไม่ต้องเสียภาษีแล้ว

ในปี 2560 ไทยส่งออกลำไยสดไปยังตลาดโลกปริมาณ 726,413.99 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,970.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 80.53 โดยมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 55.68) จีน (ร้อยละ 24.93) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 13.48) ฮ่องกง (ร้อยละ 3.66) และมาเลเซีย (ร้อยละ 0.93) ในส่วนของลำไยอบแห้ง ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 213,980 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 11,110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 31.64 ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 67.82) จีน (ร้อยละ 26.64) เมียนมา (ร้อยละ 2.09) ฮ่องกง (ร้อยละ 1.29) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 0.38) สินค้าลำไยกระป๋อง ในปี 2560 ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 8,681.89 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 504.56 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10.34 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ มาเลเซีย (ร้อยละ 36.72) สิงคโปร์ (ร้อยละ 17.32) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 15.35) สหรัฐฯ (ร้อยละ 11.24) และกัมพูชา (ร้อยละ 5.88) และสินค้าลำไยแช่แข็ง ไทยส่งออกไปยังโลกปริมาณ 13.01 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.34 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 56.17 ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง (ร้อยละ 62.66) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 33.62) และมาเก๊า (ร้อยละ 3.72)

กระทรวงพาณิชย์

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

16 กรกฎาคม 2561

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ