‘กรมเจรจาฯ’ เสริมแกร่งผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ลุยตลาดอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 3, 2019 13:33 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่นราธิวาส ติวเข้มผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ช่องนำสินค้าศักยภาพของจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ปลากุเลาเค็ม ผ้าบาติก อาหารทะเลแปรรูป และผลไม้สด ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ กระจายสินค้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมในอาเซียน

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่ จ.นราธิวาส จัดโครงการ “สร้างเครือข่ายพาสินค้าและผู้ประกอบการจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดอาเซียน”ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2562 เพื่อเผยแพร่ความสำคัญของการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ โดยเน้นสินค้าท้องถิ่นที่มีศักยภาพ เพื่อเปิดตลาด ลดภาษีนำเข้าสินค้า และลดต้นทุนการทำธุรกิจ รวมถึงใช้ความได้เปรียบในพื้นที่จังหวัดชายแดนซึ่งเป็นประตูการค้า และความใกล้ชิดด้านวัฒนธรรม กระตุ้นการส่งออกสินค้าโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอไปตลาดอาเซียน โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์

นายดวงอาทิตย์ กล่าวเสริมว่า กรมฯ ได้จัดเสวนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดเอฟทีเอ” เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรม ดิอิมพีเรียล นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการและเกษตรกรที่เข้าร่วมกว่า 160 คน ให้ได้รับทราบช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ และการทำการตลาด นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าการตลาดมาติวเข้มวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับผู้ประกอบการ และเกษตรกรได้นำสินค้ามาวิเคราะห์ และร่วมจำหน่ายอย่างคับคั่ง อาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก น้ำผึ้งชันโรง ปลากุเลาเค็ม ทุเรียนกวน ข้าวเกรียบปลากรือโป๊ะ โดยกรมฯ เชื่อมั่นว่า การจัดงานครั้งนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นช่องทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าและขยายช่องทางการจำหน่ายไปตลาดโลกด้วยการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ซึ่งได้ยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่เหลือร้อยละศูนย์แล้ว

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ลงพื้นที่พบปะผู้ผลิตปลากุเลาเค็มตากใบ ซึ่งเป็นสินค้าที่ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือสินค้า GI แล้ว ทำให้จำหน่ายสินค้าได้ราคาสูง เป็นสินค้าที่มีเฉพาะในพื้นที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ เป็นที่ต้องการของตลาด และได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการผ้าบาติกที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น ซึ่งเป็นผ้าย้อมสีที่รวมศิลปะด้านฝีมือและเทคนิคการย้อมสีเข้าด้วยกัน โดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นชาวไทยและมาเลเซีย และยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกหลายรายการ เช่น สินค้าเกษตร ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด และสินค้าประมงแช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปต่างๆ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันส่งออกไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ผ่านด่านถาวร 3 แห่ง ในจังหวัดคือ ด่านสุไหงโกลก ด่านตากใบ และด่านบูเก๊ะตา เป็นประตูเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน โดยกรมฯ ได้เน้นย้ำถึงโอกาสธุรกิจและความเป็นไปได้ของสินค้าท้องถิ่นในการขยายการส่งออก แต่ผู้ประกอบการต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยของอาหาร สินค้าฮาลาล สร้างความแตกต่างจากสินค้าอาเซียน เพื่อให้จำหน่ายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรก ของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) การค้ารวมในอาเซียนมีมูลค่า 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าส่งออกจากไทยไปอาเซียน 36,00 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้า 26,400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้มุ่งสู่ตลาดอาเซียนตอนล่าง ได้แก่ มาเลเซีย โดยการค้าไทย-มาเลเซีย คิดเป็นร้อยละ 25 ของการค้าทั้งหมดในอาเซียน และการค้ากว่าร้อยละ 70 ของการค้าไทย-มาเลเซีย เป็นการค้าชายแดน เช่น อาหาร สินค้าประมง สินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องใช้พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องสำอาง ขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่ม เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 สิงหาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ