‘พาณิชย์’ เกาะติดสถานการณ์เบร็กซิทดีล เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 22, 2019 13:20 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

สหราชอาณาจักรและอียู บรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกอียูแล้ว เตรียมนำข้อตกลงเสนอรัฐสภายุโรปและรัฐสภาสหราชอาณาจักรเห็นชอบ ภายในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ย้ำช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปีนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกอียูและใช้กฎระเบียบของอียู ปูทางให้ภาคธุรกิจและพลเมืองสองฝ่ายมีเวลาปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยยังมีเวลาเตรียมความพร้อมด้วย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (นายบอริส จอหน์สัน) และประธานกรรมาธิการยุโรป (นายฌ็อง-โคล้ด ยุงเคอร์) ได้ร่วมกันแถลงว่า สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และจะต้องนำข้อตกลงดังกล่าวเสนอให้รัฐสภายุโรป และรัฐสภา สหราชอาณาจักรเห็นชอบ ภายในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันกำหนดที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หากข้อตกลงฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย สหราชอาณาจักรก็จะสามารถออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้ แต่จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่ สหราชอาณาจักรจะแยกตัวออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิก อียูและใช้กฎระเบียบของอียู ปูทางให้ภาคธุรกิจและพลเมืองทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับสหราชอาณาจักรและอียูก็จะมีเวลาในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน

นางอรมน เพิ่มเติมว่า หากรัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบข้อตกลง เนื่องจากยังมีสมาชิกรัฐสภาและพรรคการเมืองคัดค้าน สหราชอาณาจักรก็อาจมีทางเลือก คือ (1) ขอให้อียูขยายกำหนดเบร็กซิทออกไป เพื่อให้มีเวลาในการเจรจาจัดทำข้อตกลงถอนตัวที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย แต่จะยืดเวลาไปแค่ไหน ทั้งสองฝ่ายคงต้องตกลงกัน ซึ่งไม่น่าจะขยายได้นานเกินไป หรือ (2) ออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ตามกำหนดเดิม ซึ่งที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้เคยประกาศว่า หากเกิด no deal ได้เตรียมที่จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจำนวนกว่าร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น จิวเวลรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ แว่นตา อาหารปรุงแต่ง ยางรถยนต์ เครื่องสำอาง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ให้กับประเทศต่างๆ รวมทั้งอียู แต่จะยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้า อีกร้อยละ 13 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) เนื้อหมู เนื้อแกะ ข้าว น้ำตาล เซรามิก รถยนต์ เอธานอล เนย และชีส เป็นต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัวและส่งผลกระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการและส่งออกของไทย ควรแสวงโอกาสจากการยกเว้นภาษีดังกล่าว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพของไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ของทำด้วยพลาสติก และจิวเวลรี่ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2561 สหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3,963 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น จิวเวอรี่ ฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กระสอบและถุงทำจากพลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องเงิน แว่นตา เครื่องสำอางค์ ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบของเครื่องพิมพ์ เป็นต้น สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากไทยมูลค่าสูงเป็นสินค้าโควตาภาษี เช่น ข้าว ไก่แปรรูป พาสต้า ซอส และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

18 ตุลาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ