‘กรมเจรจาฯ’ ลงพื้นที่เชียงใหม่รับฟังความเห็นฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2019 14:37 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จัดสัมมนารับฟังความเห็นการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 เผยภาคเอกชนอยากให้ฟื้นเจรจาฯ ขยายตลาดสินค้าไทย หวั่นเสียโอกาสให้ประเทศอื่นที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว กรมฯ เตรียมลงพื้นที่ซาวด์เสียงที่สงขลาและขอนแก่นต่อ ก่อนรวบรวมผลความเห็นเสนอ ครม. เคาะ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 กรมฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนกี่ยวข้องในภาคเหนือ ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยการสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายหัวข้อ “ผลการศึกษาเชิงเปรียบเทียบความตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรปและผลกระทบต่อไทย” และ “โอกาสและความท้าทายของไทยในการเจรจา FTA ไทย-สหภาพยุโรป” ซึ่งมีผู้สนใจจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ร่วมรับฟังกว่า 200 คน นอกจากนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็น โดยผลที่ได้จะรวบรวมและนำไปศึกษาวิเคราะห์เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป

“กรมฯ ขานรับนโยบายรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เร่งหาข้อสรุปการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู กรมฯ จึงได้ดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการเจรจาดังกล่าว โดยได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนาเป็นผู้ศึกษา และลงพื้นที่จัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศ เพื่อรวบรวมข้อมูลเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้” นางอรมน เสริม

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดสัมมนารับฟังความเห็นที่กรุงเทพฯ และชลบุรี พบว่าภาคเอกชนต้องการให้ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพื่อเป็นโอกาสในการขยายตลาดใหม่ๆ ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป สิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ และยานยนต์และชิ้นส่วน อีกทั้งเกรงว่าไทยจะเสียโอกาสทางการค้าและการเป็นฐานการผลิต การกระจายสินค้า และการลงทุนในภูมิภาคให้ประเทศอื่นที่ได้จัดทำเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนามและสิงคโปร์ ขณะที่ผู้ประกอบการบางส่วนและภาคประชาสังคมมีข้อกังวลที่ไทยอาจจะต้องเปิดตลาดหรือปรับกฎระเบียบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองพันธุ์พืช ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน นอกจากนี้ กลุ่มเกษตรกรยังเสนอให้จัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเอฟทีเอ โดยครั้งต่อไป กรมฯ จะลงพื้นที่จัดสัมมนารับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียในภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 28 ตุลาคม 2562 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 ก่อนรวบรวมผลการรับฟังความเห็นและผลการศึกษาวิเคราะห์เสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป

ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ ครอบคลุม 28 ประเทศในทวีปยุโรป มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

22 ตุลาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ