ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในการเป็นประธานอาเซียนปี 2562 ของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 26, 2019 14:48 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ริ่เริ่มและผลักดันประเด็นเศรษฐกิจ 3 ด้าน 13 ประเด็น ให้สำเร็จใน 1 ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน

ด้านที่ 1 การเตรียมความพร้อมรับมืออนาคต

(1) จัดทำแผนการดำเนินงานตามกรอบการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน 6 ด้าน ได้แก่ (1) การอำนวยความสะดวกทางการค้า (2) การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (3) การส่งเสริมการชำระเงินดิจิทัล (4) การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล (5) การส่งเสริมวิสาหกิจและการปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ง่ายขึ้น (6) การพัฒนากลไกการประสานงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน

(2) จัดทำแผนงานด้านนวัตกรรมของอาเซียน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

(3) จัดทำแนวทางการพัฒนาแรงงานมีทักษะ/ผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เช่น การเพิ่มพูนความสามารถของบุคลากร การส่งเสริมการพัฒนาทักษะเพื่อรองรับยุคดิจิทัล การให้ความสำคัญกับโอกาสและความท้าทายและการใช้ประโยชน์จาก 4IR และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

(4) ประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยผู้นำของอาเซียนแสดงความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยจะเสริมสร้างกลไกที่สนับสนุนการทำงานของภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในวงกว้าง จัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และพัฒนากฎระเบียบที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของอาเซียนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เป็นต้น

(5) การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยอาเซียน เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อยของอาเซียนสามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านกิจกรรม เช่น การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Global Digitalization Model for Micro Enterprises เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ และการจัดประชุมเรื่อง Formalization of Micro Enterprises ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ

ด้านที่ 2. ความเชื่อมโยงในอาเซียน

(6) การเชื่อมโยงระบบ ASEAN Single Window ให้ครบทั้ง 10 ประเทศ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวการนำเข้า-ส่งออกให้กับผู้ประกอบการ ช่วยลดภาระที่เกี่ยวข้องกับเอกสารด้านพิธีการศุลกากร โดยเริ่มจากการเชื่อมโยงเอกสารใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดระยะเวลาในการเตรียมและยื่นเอกสาร ทำให้ผู้ประกอบการทำการค้าได้คล่องตัวมากขึ้น จากขั้นตอนและต้นทุนที่ลดลง

(7) ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการค้าและการลงทุนในภูมิภาค – โดยเริ่มจากการจับคู่ระหว่างสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ในการใช้เงินสกุลท้องถิ่นชำระค่าสินค้าระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนในการชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศ

(8) พัฒนากลไกการระดมทุนจากภาคเอกชนสำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยขณะนี้ ASEAN Infrastructure Fund ได้เปิดตัว ASEAN Catalytic Green Finance Facility แล้ว โดยจะระดมทุนจากภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนารวมเป็นเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มช่องทางและโอกาสในการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน

(9) จัดทำแผนแม่บทด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของอาเซียน – ประกอบด้วย (1) ปัจจัยสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (2) การสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงอาหารจากหลากหลายสาขา (3) เกณฑ์เพื่อให้ประเทศสมาชิกไปคัดเลือกเมืองเพื่อเข้าประกวดการเป็นเมืองที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยเมืองที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัลซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น เพื่อช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นของสมาชิกอาเซียน ผู้เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวตลอดทั้งห่วงโซ่ด้านอาหารและการท่องเที่ยวได้ประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารร่วมกัน เพื่อให้อาเซียนเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

(10) สรุปผลการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้ครบ 20 ข้อบท เพื่อลงนามในปี 2563 ซึ่งสมาชิก RCEP 16 ประเทศ จะได้ประโยชน์ทั้งจากการเปิดตลาดเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับกฎเกณฑ์การค้าของสมาชิก 16 ประเทศ ให้ได้มาตรฐาน โปร่งใส และอำนวยความสะดวกทางการค้ามากขึ้น

ด้านที่ 3 สร้างความยั่งยืนควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

(11) ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการประมงที่ยั่งยืน โดยมีการวางนโยบายด้านการประมงร่วมกันในอนาคต รวมทั้งมีเครือข่ายความร่วมมือที่เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศนอกภูมิภาคว่าอาเซียนให้ความสำคัญกับการประมงที่ยั่งยืน

(12) จัดทำแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของตลาดทุนอาเซียน เพื่อเป็นการวางรากฐานและกำหนดทิศทางที่ชัดเจนเพื่อยกระดับระบบนิเวศของตลาดทุน อันจะช่วยสนับสนุนให้ตลาดทุนของอาเซียนมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุนทั่วโลก

(13) จัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างศูนย์พลังงานอาเซียนและมหาวิทยาลัย/หรือสถาบันวิจัยในอาเซียนเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานชีวภาพในภูมิภาคอาเซียน - เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในภูมิภาคผ่านการนำทรัพยากรจากภาคการเกษตรมาผลิตเป็นพลังงานในภาคการขนส่ง ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากต่างประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งสร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จอื่นๆ ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน

(1) ลงนามพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของอาเซียนฉบับปรับปรุง เพื่อให้อาเซียนมีกลไกระงับข้อพิพาทที่ทันสมัย มีขั้นตอนที่ชัดเจน เท่าทันสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปรับจากกลไกระงับข้อพิพาทเดิมใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2547

(2) ได้ข้อสรุปข้อตกลงยอมรับร่วมผลการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วนของอาเซียน (AP MRA) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์ที่ออกโดยหน่วยรับรองการทดสอบของประเทศผู้ส่งออก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยหน่วยงานในประเทศผู้นำเข้าไม่ต้องทดสอบซ้ำ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับความสะดวกในการค้าขายภายในอาเซียนมากขึ้นและอุปสรรคทางการค้าลดลง ช่วยลดต้นทุนทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการส่งออก-นำเข้าสินค้ายานยนต์ภายในภูมิภาค

(3) ลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ATISA) ซึ่งจะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพและไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าบริการเกินความจำเป็น ช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพในอาเซียน เช่น ด้านสุขภาพ ด้านการท่องเที่ยว

(4) ลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ACIA) ช่วยอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุน ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน

(5) สรุปการเจรจา และปะกาศใช้ระบบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียน (ASEAN-Wide Self-Certification) ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในปี 2563 ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ สามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขอรับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจากหน่วยงานภาครัฐอีกต่อไป

(6) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง และความตกลงการลงทุนอาเซียน-ฮ่องกงมีผลใช้บังคับ เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 ที่จะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการไทยและฮ่องกง ขยายการค้าการลงทุนระหว่างกัน

(7) ลงนามพิธีสารฉบับที่หนึ่งเพื่อแก้ไขความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เพื่อปรับปรุงความตกลงฉบับเดิมที่ครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีการค้าสินค้า ความตกลงฯครอบคลุมถึงเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการ การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา และการคุ้มครอง การส่งเสริมและการอำนวยความสะดวกการลงทุน

(8) ตกลงที่จะอัพเกรด หรือเปิดเสรีเพิ่มเติมความตกลงเอฟทีเอของอาเซียนกับคู่ค้า เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

16 ธันวาคม 2562

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ