กรมเจรจาฯ ปลื้ม! ผู้ประกอบการไทยแห่ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอช่วยส่งออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 15, 2020 14:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติการใช้เอฟทีเอ 13 ฉบับ ชี้ ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิ์ส่งออกจากเอฟทีเอเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เฉลี่ยต่อปีเกินร้อยละ 70 ชิลีครองแชมป์ประเทศคู่ค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกสูงสุด เตรียมยกระดับเอฟทีเอให้เท่าทันรูปแบบการค้าใหม่ๆ พร้อมจับมือพันธมิตรเดินสายให้ความรู้เกษตรกรและผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ สร้างโอกาสขยายส่งออกสู่ตลาดโลก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยภายหลังติดตามสถิติการใช้ประโยชน์ทางภาษีจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยลงนามและบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน 13 ฉบับ 18 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง พบว่า ผู้ประกอบการไทยตระหนักถึงประโยชน์ของเอฟทีเอและขอใช้สิทธิประโยชน์การส่งออกภายใต้เอฟทีเอมากขึ้นเป็นลำดับ โดยในช่วงปี 2558-2561 ผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิส่งออกจากเอฟทีเอต่อรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ ภายใต้ เอฟทีเอ 12 ฉบับ (ไม่รวมความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ฮ่องกง ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนมิถุนายน 2562) เป็นสัดส่วนเฉลี่ยต่อปีสูงถึงร้อยละ 73 และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 สัดส่วนดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 78.25 โดยประเทศคู่ค้าที่ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ชิลี ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และเปรู ตามลำดับ สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอส่งออกอันดับต้น ได้แก่ รถยนต์ขนส่งของ รถยนต์ส่วนบุคคล เนื้อไก่และเครื่องในไก่แปรรูป น้ำตาลที่ได้จากอ้อย และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน เป็นต้น

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากเปรียบเทียบมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอระหว่างการส่งออกและการนำเข้า พบว่าไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์จากการส่งออกด้วยเอฟทีเอสูงกว่าการใช้สิทธิประโยชน์จากการนำเข้าด้วยเอฟทีเอ โดยในช่วงปี 2558-2561 ไทยส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอทั้ง 12 ฉบับเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อปีถึง 58,261 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่าการนำเข้าเป็นมูลค่าเฉลี่ย 28,502 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าโดยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอแล้ว 50,312 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี สูงกว่าการนำเข้า 22,718 ล้านเหรียญสหรัฐ

นางอรมน เสริมว่า นอกจากนี้ กรมฯ ยังเตรียมเปิดทบทวนยกระดับความตกลงเอฟทีเอปัจจุบันที่ไทยทำกับหลายประเทศ เช่น อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ และไทย-อินเดีย เป็นต้น เพื่อเปิดเสรีเพิ่มเติมหรือผนวกข้อบทใหม่ในเอฟทีเอให้เท่าทันสภาพแวดล้อมและรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งเดินสายลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการในเครือข่ายของสภาเกษตรกรแห่งชาติ และสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ รวมถึงจะจัดงานสัมมนา “ชี้ช่องทางการทำตลาดสินค้าไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอ” ระหว่างวันที่ 24 – 28 มกราคม 2563 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยเชิญเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ในการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดเอฟทีเอ 18 ประเทศ รวมทั้งให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาจับคู่ธุรกิจกับผู้ส่งออก และผู้ประกอบการจากสมาคมการค้าต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย

นางอรมน ทิ้งท้ายว่า ผู้ประกอบการไทยทั้งผู้นำเข้าและส่งออก ควรตรวจเช็คอัตราภาษีที่คู่เอฟทีเอให้กับไทย หรือไทยให้กับคู่เอฟทีเอก่อนทำการค้า และเลือกใช้กรอบเอฟทีเอที่มีอัตราภาษีหรือมีการคำนวณถิ่นกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทยมากที่สุด โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอ ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ http://ftacenter.dtn.go.th หรือ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7555

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

14 มกราคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ