‘กรมเจรจาฯ’ แนะผู้ประกอบการเกาะเทรนด์รักสุขภาพ ใช้เอฟทีเอขยายส่งออกสินค้าสมุนไพร

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2020 15:50 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้กระแสรักสุขภาพมาแรง ชวนผู้ประกอบการใช้เอฟทีเอขยายตลาดสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไทย แนะควรให้ความสำคัญกับคุณภาพ มาตรฐาน และหลักสุขอนามัย รวมถึงต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศ เพิ่มเพิ่มโอกาสส่งออก

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้พืชสมุนไพรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย จึงเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการที่จะขยายตลาดสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไทย โดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศที่ไทยมีอยู่ เพิ่มแต้มต่อในการส่งออก ซึ่งสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรของไทยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ 13 ประเทศแล้ว เหลือเพียง สปป.ลาว จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรจากไทยบางรายการ ขณะที่ยารักษาโรคจากสมุนไพรได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอ 17 ประเทศแล้ว ยังเหลืออินเดียที่คงอัตราภาษีที่ร้อยละ 5

นางอรมน กล่าวว่า ในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไปทั่วโลก รวมเป็นมูลค่าถึง 196 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยพบว่าสินค้ากลุ่มขิงและขมิ้นมีสัดส่วนการส่งออกสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37 รองลงมา คือ หมาก ร้อยละ 34 และพริก ร้อยละ 14 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอ 18 ประเทศ ถึง 130 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 66 ของการส่งออกทั้งหมด มีตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น อาเซียน ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 49 (เมียนมา เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 79) ปากีสถาน ร้อยละ 12 ญี่ปุ่น ร้อยละ 9 สหภาพยุโรป ร้อยละ 7 และจีน ร้อยละ 3 เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า นับตั้งแต่ความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนมีผลใช้บังคับในปี 2535 จนถึงปี 2562 การส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 321 และมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องเทศและสมุนไพรไปประเทศคู่เอฟทีเอยังขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด โดยตลาดอาเซียนขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 3,470 รองลงมาคือนิวซีแลนด์ ขยายตัวร้อยละ 2,800 เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 1,500 จีนขยายตัวร้อยละ 1,400 และออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 200

“ถือเป็นโอกาสทองที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มยอดการส่งออก ทั้งในรูปวัตถุดิบ และการแปรรูปใช้เป็นวัตถุดิบในสินค้าที่มีมูลค่าสูง เช่น อาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส อาหารเสริม เครื่องสำอาง เป็นต้น และควรให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า โดยเฉพาะความสะอาดปลอดภัย เช่น ระมัดระวังให้ปราศจากสารปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง สิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค และแมลง เป็นต้น และควรศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออกจากสมุนไพรของแต่ละประเทศด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้” นางอรมน กล่าว

ทั้งนี้ การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอาจมีมาตรการควบคุมเข้มงวดเพิ่มเติม อาทิ ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ที่กำหนดให้ต้องขออนุมัติผลิตภัณฑ์สมุนไพรก่อนออกสู่ตลาด รวมทั้งต้องขออนุญาตผลิต ขายและนำเข้า หรือในกรณีที่เป็นยาทำจากสมุนไพร อาจมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดเป็นพิเศษ โดยต้องมีการขอขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงาน อย. โดยต้องมีรายละเอียดชัดเจนเกี่ยวกับสูตร ส่วนประกอบ กรรมวิธีการผลิตที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนด มีความปลอดภัยและสามารถเชื่อถือในสรรพคุณตามหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล ขณะที่ต่างประเทศอาจกำหนดมาตรการควบคุมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แตกต่างกัน อาทิ การขออนุญาตนำเข้า การจดทะเบียนโรงงาน การตรวจสอบสุขอนามัยและความปลอดภัย การตรวจสอบย้อนกลับ การดูแลในเรื่องฉลากสินค้า และการอวดอ้างสรรพคุณของสินค้า

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

26 มีนาคม 2563

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ