‘พาณิชย์’ เผย ความสำเร็จการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หารือเข้มประเด็นความยั่งยืน พร้อมเสนอผลลัพธ์เสาเศรษฐกิจต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 15, 2023 09:20 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Council: AEC Council) ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการประชุมระดับรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เพื่อสรุปความคืบหน้าการดำเนินงานและผลลัพธ์สำคัญของเสาเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 42 โดยเฉพาะประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน การปรับอาเซียนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของติมอร์-เลสเต เป็นต้น ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเตเข้าร่วมประชุมด้วย

นายเอกฉัตร กล่าวว่า ในวาระความยั่งยืนของอาเซียน ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของผู้นำที่จะผลักดันให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก และแสดงความชัดเจนจะเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานน้ำมันไปสู่พลังงานทางเลือกโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสอดคล้องกับวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยผู้นำอาเซียนจะรับรองปฏิญญาฯ ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในวันที่ 10-11 พฤษภาคม ศกนี้ นอกจากนี้ ได้ติดตามและรับทราบความคืบหน้าสำคัญอื่นๆ อาทิ (1) แผนปฏิบัติการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน ที่จะนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กับ 3 สาขานำร่อง ได้แก่ ภาคเกษตร พลังงาน และขนส่ง อาทิ การปรับประสานมาตรฐานและการยอมรับร่วมกันเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการแบบหมุนเวียน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ การส่งเสริมทางด้านการเงิน เป็นต้น (2) การให้มีหน่วยงานประสานงานหลักระดับประเทศของแต่ละประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนการจัดทำยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (3) ความคืบหน้าการจัดทำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล (Blue Economy) ของอาเซียน ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต และ (4) ความคืบหน้าการสร้างกลไกในการแบ่งประเภทธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้มาตรฐานด้านการสนับสนุนทางการเงิน การใช้มาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนมีความชัดเจนและมีมาตรฐานเดียวกัน

พร้อมกันนี้ นายเอกฉัตรฯ กล่าวต่อว่า ในด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล คณะมนตรีฯ ได้เร่งรัดการศึกษาประโยชน์และผลกระทบการจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) ให้แล้วเสร็จในปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายประกาศเริ่มเจรจาความตกลง DEFA ภายในการประชุม AEC Council ครั้งที่ 23 ในเดือนกันยายน 2566

นายเอกฉัตร กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีรัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจของติมอร์-เลสเต ได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีฯ ในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกด้วย ในประเด็นนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องแนวทางการเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของติมอร์-เลสเตในส่วนของเสาเศรษฐกิจ โดยได้พิจารณาและให้การรับรองกฎและระเบียบสำหรับการเข้าร่วมการประชุมต่าง ๆ ในฐานะสมาชิกสังเกตการณ์ของติมอร์ฯ การรับรองร่างเอกสารประกอบแผนการดำเนินงาน (Roadmap) สำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัวของติมอร์ฯ ในส่วนของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำไปรวมเป็นเอกสารภาคผนวกร่วมกับเสาการเมืองและเสาสังคม ก่อนจะเสนอให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ให้การรับรอง ในวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปี 2566 ได้ผลักดันการดำเนินการการรวมกลุ่มของอาเซียน ภายใต้แนวคิดบทบาทอาเซียนที่มีความสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเจริญเติบโต (ASEAN Matters: Epicentrum of Growth) ที่เน้นย้ำความสำคัญในการสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียนพร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก โดยที่อาเซียนได้มีเป้าหมายที่จะผลักดันในการค้าระหว่างกันเติบโตถึง 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 โดยในปี 2564 การค้ารวมอาเซียนมีมูลค่า 710,776.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 25.33 สำหรับการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนในปี 2565 มีมูลค่ารวม 124,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 71,890 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2566 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่า 30,633.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกัน ร้อยละ 1.1 โดยไทยส่งออกไปอาเซียน 17,174.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน 13,458.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์

11 พฤษภาคม 2566

ที่มา: กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ