ความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีเดือนกุมภาพันธ์ 2553 (ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย)

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2010 15:38 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย

(Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA)

ความเป็นมา/การดำเนินการ

ความเป็นมา

  • เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2002 นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศให้เริ่มการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลง Closer Economic Relations (CER) (ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)

กรอบการเจรจา

  • ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน (Comprehensive) การเจรจาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
  • การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน
  • ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ

สรุปผลความตกลงฯ

  • ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลียแล้ว เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2004 ณ กรุงแคนเบอร์ร่า ประเทศออสเตรเลีย และความตกลง ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2005 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) การเปิดเสรีการค้าสินค้า ออสเตรเลียเสนอลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 83% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 2010 และ 2015 ส่วนไทยเสนอลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 49% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี2010 สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางรายการที่มีความอ่อนไหว เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า (ออสเตรเลีย) และเนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย ชา และกาแฟ (ไทย) ภาษีจะเหลือ 0% ภายใน 10 15 และ 20 ปี โดยมีมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards) สำหรับสินค้าบางรายการ

2) การค้าบริการและการลงทุน ออสเตรเลียให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้100% ยกเว้น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ และท่าอากาศยาน แต่หากเป็นการลงทุนเกิน 10 ล้านเหรียญออสเตรเลียต้องขออนุญาตก่อน และได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการให้บุคลากรไทยเข้าไปให้บริการ ส่วนไทยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากได้ถึง60% ในปี 2005 สำหรับกิจกรรมย่อยๆ บางประเภท เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติหอประชุม มารีน่า และเหมืองแร่ เป็นต้น

3) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ใช้หลัก i) สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly obtained) ii) การแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) หรือ iii) กำหนดมูลค่าของวัตถุดิบ (Regional Value Content: RVC)

4) ความร่วมมือ ด้านมาตรการสุขอนามัย โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยกำหนดแผนงานและกรอบระยะเวลาที่แน่นอน ด้านพิธีการศุลกากร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน

สถานะล่าสุด

การทบทวนและการติดตามผลการดำเนินการภายใต้ความตกลงฯ

  • ภายใต้ความตกลงฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม FTA ไทย-ออสเตรเลียโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนผลและติดตามการดำเนินงานภายใต้ความตกลงฯ
  • การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 2 ออสเตรเลียจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งขณะนี้รอคำยืนยันจากไทยว่าพร้อมจะประชุมเมื่อไร
  • เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2009 เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่าต้องการจะเจรจาต่อในเรื่องการค้าบริการการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแข่งขัน เป็นต้น โดยเฉพาะการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณทางบวกแก่นักลงทุนออสเตรเลียที่มีอยู่จำนวนมากในไทยไทยแจ้งว่าไทยอยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เช่นการทำ public hearing และการขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ ออสเตรเลียเสนอว่าอาจมีการประกาศเรื่องการเจรจาต่อในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐมนตรีการค้าออสเตรเลียจะมาเข้าร่วมด้วย ในเดือนสิงหาคม 2009
  • ในความตกลงมีข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ

1) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ที่กำหนดให้มีขึ้นทุกปีหรือตามที่ตกลงกัน

2) การประชุมระดับรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีขึ้นภายใน 5 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ม.ค. 2010)

3) ภายใน 3 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ม.ค. 2008) ให้เจรจาเปิดตลาดการค้าบริการพิ่มเติม (สาขา Finance & Telecommunication), ทบทวนสินค้าที่มีมาตรการปกป้องพิเศษ, นโยบายการแข่งขัน, และการจัดซื้อโดยรัฐ

  • ไทยจ้างศึกษาวิเคราะห์ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย และเตรียมท่าทีการเจรจาเปิดตลาดบริการ คาดว่าจะเสร็จต้นปี 2010
  • คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย

การดำเนินการขั้นต่อไป

  • เสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาต่อเนื่องตามความตกลงฯ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifta.com (ไทย-ออสเตรเลีย)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ