ความคืบหน้าการเจรจาการค้าเสรีเดือนกุมภาพันธ์ 2553 (ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์)

ข่าวทั่วไป Tuesday February 23, 2010 15:43 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์

(Thailand-New Zealand Closer Economic Partnership Agreement: TNZCEP)

ความเป็นมา/การดำเนินการ

ความเป็นมา

  • ในระหว่างการประชุมผู้นำเอเปค ครั้งที่ 11 ณ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17-21 ตุลาคม2003 ผู้นำไทยและนิวซีแลนด์ได้เห็นชอบให้จัดทำการศึกษาร่วมความเป็นไปได้ในการทำความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น (CEP) ระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ และเห็นชอบให้เริ่มการเจรจาในเดือนเมษายน 2004 โดยเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงฯ ในเดือนพฤษภาคม 2004 และสามารถสรุปผลการเจรจาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2004

กรอบการเจรจา

  • ครอบคลุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจทุกด้าน ทั้งการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการค้า (ใช้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจา)

สรุปผลความตกลง

  • รัฐมนตรีพาณิชย์ไทยและนิวซีแลนด์ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ โดยมีผู้นำของทั้งสองประเทศเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2005 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2005 ความตกลงมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) การเปิดเสรีการค้าสินค้า

  • นิวซีแลนด์ลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 79% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายในปี 10 ปี (2015)
  • ไทยลดภาษีเหลือ 0% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ 54% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือจะทยอยลดภาษีเหลือ 0% ภายใน 15 ปี (2020) มีการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ 23 สินค้า และให้โควตาเฉพาะสำหรับนิวซีแลนด์ 4 สินค้า

2) การค้าบริการและการลงทุน

  • นิวซีแลนด์ให้คนไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ 100% ยกเว้นประมง และหากลงทุนเกินกว่า 50 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติก่อน ส่วนไทยจะเปิดเสรีการลงทุนทางตรงให้คนนิวซีแลนด์ลงทุนได้ 100% ในธุรกิจผลิตสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท อาทิ ธุรกิจผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟแวร์เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์กระดาษ การแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น

3) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า ใช้หลัก Wholly-Obtained หรือ Product Specific Rules (กฎการเปลี่ยนพิกัด การเกิดปฏิกิริยาเคมี การกำหนดมูลค่าของวัตถุดิบ Regional Value Content: RVC)

4) ความร่วมมือด้านการค้า เช่น มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยเป็นการเฉพาะ รวมทั้งความร่วมมือด้านพิธีการศุลกากร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น

สถานะล่าสุด

การทบทวนและการติดตามผลการดำเนินการภายใต้ความตกลง

  • ภายใต้ความตกลงฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วม FTA ไทย-นิวซีแลนด์ เพื่อทบทวนและติดตามผลการดำเนินงานภายใต้ความตกลงฯ
  • นิวซีแลนด์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 2 ซึ่งขณะนี้รอคำยืนยันจากไทยว่าพร้อมจะประชุมเมื่อไร
  • เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2009 เอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ประจำประเทศไทย ได้เข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึงการเจรจาต่อในเรื่องการค้าบริการ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ตามพันธกรณีภายใต้กรอบความตกลงไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP)
โดยเสนอให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายหารือกันอย่างไม่เป๋นทางการเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาไทยแจ้งว่าไทยจะเจรจาต่อไปตามพันธกรณี แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
  • ในความตกลงมีข้อกำหนดที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง คือ

1) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมที่กำหนดให้มีขึ้นทุกปีหรือตามที่ตกลงกัน

2) การประชุมระดับรัฐมนตรีที่กำหนดให้มีขึ้นภายใน 5 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ก.ค. 2010)

3) ภายใน 3 ปี นับจากวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ก.ค. 2008) ให้เจรจาเปิดตลาดการค้าบริการ, ทบทวนสินค้าที่มีมาตรการปกป้องพิเศษ และการจัดซื้อโดยรัฐ

  • ไทยจ้างศึกษาวิเคราะห์ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-นิวซีแลนด์ และเตรียมท่าทีการเจรจาเปิดตลาดบริการ คาดว่าจะเสร็จต้นปี 2010
  • คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ให้ความเห็นชอบร่างกรอบความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์การดำเนินการขั้นต่อไป
  • เสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาต่อเนื่องตามความตกลงฯ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaifta.com (ไทย-นิวซีแลนด์)

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ