สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนพฤศจิกายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 30, 2010 13:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 22/2553

เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อนตามการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน จากรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น แม้บางพื้นที่ประสบกับภาวะน้ำท่วม แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผลสำคัญของภาคมากนัก การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการใช้จ่ายด้านการลงทุน ขณะที่เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัว นอกจากนี้มูลค่าการค้าตามบริเวณจังหวัดชายแดนไทย - สปป. ลาว และไทย - กัมพูชา ขยายตัวดี

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เท่ากับเดือนก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 1.5 ของเดือนที่แล้ว

สำหรับรายละเอียด มีดังต่อไปนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.1 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 โดยดัชนีราคาเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 34.8 ขยายตัวจากเดือนก่อนตามราคามันสำปะหลัง ในขณะที่ราคาข้าวหอมมะลิเริ่มปรับตัวดีขึ้น สำหรับดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.7 ขยายตัวจากเดือนก่อนตามผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ

ข้าว ผลผลิตข้าวเริ่มออกสู่ตลาด โดยราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,457 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 เนื่องจากการส่งออกข้าวยังคงลดลง ผู้ส่งออกและโรงสีชะลอการรับซื้อ อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวหอมมะลิปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 3.1 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพ่อค้าคาดว่าผลผลิตจะลดลงจากอุทกภัย สำหรับราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10 % (เมล็ดยาว) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เกวียนละ 15,205 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 76.8 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 98.2

มันสำปะหลัง ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ราคายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยราคาขายส่งหัวมันสดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 2.77 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64.9 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.9 สำหรับราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.58 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 47.6 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.2 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความต้องการจากประเทศจีนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับรัฐบาลขยายระยะเวลาการระบายสต็อกมันเส้นประมาณ 1 ล้านตัน ออกไปเป็นเดือนธันวาคม

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังอยู่ในเกณฑ์ดีเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.26 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 37.4 แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการของโรงงานอาหารสัตว์ยังทรงตัว

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ผลจากการนำเอาน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวเพิ่มขึ้นตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.3 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนเพื่อสต๊อกไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลและอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามวัตถุดิบที่ลดลง สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) และอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษหดตัวร้อยละ 5.4 และ 3.5 ตามลำดับเนื่องจากมีการเร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าและการส่งออกที่ชะลอลง

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากรายได้เกษตรกรยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น มีการจับจ่ายใช้สอยสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากห้างสรรพสินค้าโดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 สำหรับการจดทะเบียนรถทุกชนิดยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 70.9 และการจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.7 ส่วนการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์แม้ว่าจะชะลอตัวจากเดือนก่อน แต่ยังคงขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 11.0 และปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.0

4. การลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันของปีก่อนจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น นักลงทุนมั่นใจในการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น โดยมีเครื่องชี้ที่สำคัญ ดังนี้

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 17.6 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ โดยในจังหวัดขอนแก่นมีการขออนุญาตก่อสร้างโครงการหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ 2 แห่ง นอกจากนี้ เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะในจังหวัดนครราชสีมาที่มีเงินลงทุนจากกิจการผลิต Hard Disk Drive สูงถึงร้อยละ 56.8 ของเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น

สำหรับเงินทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และชัยภูมิ จำนวน 6 แห่ง เป็นเงินทุนถึงร้อยละ 74.6 ของเงินทุนโรงงานที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด ส่วนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7

อย่างไรก็ตามทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ ลดลงร้อยละ 76.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเป็นผลจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการจดทะเบียนของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ซึ่งหากไม่นับรวมแล้วจะทำให้ทุนจดทะเบียนในเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากหมวดธุรกิจขายส่ง ขายปลีกเป็นสำคัญ

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล เดือนนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 3,972.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.2 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9 เป็นผลจากการขยายตัวของภาษีทุกประเภท มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,933.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.8 เร่งตัวจากเดือนก่อน ตามการเร่งตัวของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นผลจากการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินค่าวิทยฐานะข้าราชการครูเพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัดในภาค ภาษีเงินได้นิติบุคคล เร่งตัวจากภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาดีขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว จากอุตสาหกรรมผลิตแป้งมัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และห้างสรรพสินค้า

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 2,014.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากภาษีเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และโซดาเพิ่มขึ้น

อากรขาเข้าจัดเก็บได้ 24.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากอากรขาเข้าจากการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปในด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรนครพนม

การเบิกจ่ายงบประมาณ มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 26,343.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยรายจ่ายประจำ 22,769.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 รายจ่ายลงทุน 3,573.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในหมวดเงินเดือน และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

ส่วนราชการที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นได้แก่ สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และสำนักงานชลประทาน โดยเฉพาะในลักษณะงานด้านเชื้อเพลิงและพลังงาน และด้านการศึกษา

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว มีมูลค่าการค้า 9,169.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและการนำเข้า ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 7,197.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 38.3 ตามมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ไปยังประเทศจีนและฮ่องกง สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้างและเหล็ก และเครื่องจักรอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม สินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ ผ้า/อุปกรณ์ตัดเย็บ เครื่องใช้ไฟฟ้า/อุปกรณ์

การนำเข้า มีมูลค่า 1,971.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.2 ตามมูลค่านำเข้าสินแร่ทองแดง ยานพาหนะ/ส่วนประกอบ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่มูลค่าการนำเข้าลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าเกษตร การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 5,236.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกและการนำเข้า ตามรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 4,362.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.0 ตามมูลค่าการส่งออกของ อะไหล่ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ เครื่องเก็บเกี่ยว/อุปกรณ์การเกษตร ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ อาหาร สำเร็จรูป/อาหารกระป๋อง อะไหล่ส่วนประกอบรถยนต์/บรรทุก สำหรับสินค้าสำคัญที่มูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่น้ำตาลทราย สุกรมีชีวิต เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ปูนซิเมนต์ และน้ำมันดีเซลซึ่งลดลงอย่างมากจากการที่กัมพูชาระงับการนำเข้าเพื่อปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ

การนำเข้า มีมูลค่า 874.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.0 ตามมูลค่าการนำเข้า ถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เศษเหล็กและเศษทองแดง สำหรับสินค้าสำคัญที่มูลค่านำเข้าลดลง ได้แก่ เศษอลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เท่ากับเดือนก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 8.3 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ชะลอลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อน ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและยานพาหนะเป็นสำคัญ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 1.5 ตามการเพิ่มขึ้นของหมวดเคหสถาน

8. ภาคการจ้างงาน การจัดหางานของภาครัฐ มีตำแหน่งงานว่างเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผู้สมัครงานและการบรรจุงานลดลง โดยตำแหน่งงานว่างในเดือนนี้มีจำนวน 5,747 อัตรา เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.6 สำหรับผู้สมัครงานมีจำนวน 6,912 คน ลดลงร้อยละ 28.4 และการบรรจุงานมีจำนวน 4,108 คน ลดลงร้อยละ 33.5

คนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ มีจำนวน 6,952 คน ลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศกาตาร์ สิงค์โปร์ และญี่ปุ่น สำหรับจังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมากที่สุดคือ อุดรธานี รองลงมาได้แก่ นครราชสีมา และขอนแก่น

9. ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553 ปริมาณเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมียอดคงค้าง 428,613 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามเงินฝากออมทรัพย์ และเงินฝากประจำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเงินฝากกระแสรายวันชะลอตัวจากเดือนก่อน

ด้านสินเชื่อ มียอดคงค้าง 448,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนชะลอจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากในเดือนนี้อยู่ที่ร้อยละ 104.6 เทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ร้อยละ 104.4

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2553มียอดเงินฝากคงค้าง 230,648 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 ธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 และธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0

สำหรับด้านเงินให้สินเชื่อคงค้าง 571,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ26.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 ธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.1 ธนาคารอาคารสงเคราะห์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.0

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ