สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 31, 2011 13:35 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 25/2553

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2553 ขยายตัวต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อนของการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน ตามการปรับตัวของราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะผลจากการใช้จ่ายตามโครงการไทยเข้มแข็ง แรงกดดันด้านราคาสูงขึ้น และการจ้างงานอยู่ในระดับสูง

1. ด้านการผลิต

ในภาพรวมภาวะการผลิตภาคเกษตรในปี 2553 ขยายตัวสูงจากที่ทรงตัวในปีก่อน ส่งผลให้รายได้เกษตรกรจากการขายพืชเศรษฐกิจสำคัญขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.2 เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 10 ปีเป็นผลจากปัจจัยด้านผลผลิตที่ตึงตัว เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในหลายประเทศทั่วโลกประสบปัญหาสภาพอากาศ และการผลิตพืชเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งในช่วงต้นฤดูเพาะปลูกและอุทกภัยในช่วงก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้ราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.9 จากระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ตามการสูงขึ้นของทั้งราคาข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกหอมมะลิ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงานยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกเหนียวและยางพาราสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ โดยราคาได้ทยอยปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีและเร่งขึ้นมากช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวในไตรมาสที่ 3 แม้ชะลอลงบ้างในไตรมาสที่ 4 แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

การผลิตภาคอุตสาหกรรมในปี 2553 หดตัวร้อยละ 2.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานสูงเข้าสู่วัฏจักรปกติของเศรษฐกิจภาค และผลจากการหดตัวของอุตสาหกรรมน้ำตาลจากความล่าช้าของการเปิดหีบอ้อยที่เปิดในเดือนธันวาคม จากช่วงปกติในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปีและการนำเอาน้ำตาลทรายดิบมาผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ขยายตัวจากความต้องการของทั้งตลาดในและต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับภาคบริการ การท่องเที่ยวในปี 2553 ขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐโดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม อนุรักษ์และนิเวศน์

2. ด้านอุปสงค์

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวจากปีก่อน ตามการเพิ่มขึ้นของอำนาจซื้อของผู้บริโภคจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาพืชเศรษฐกิจสำคัญ รวมทั้งเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับเงินชดเชยจากโครงการประกันรายได้ ประกอบกับสัดส่วนการใช้จ่ายต่อรายได้ของเกษตรกรจะค่อนข้างสูงส่งผลให้การอุปโภคบริโภคขยายตัว โดยการอุปโภคบริโภคสินค้าไม่คงทนขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี แม้ชะลอลงบ้างในไตรมาสที่ 4 จากความกังวลและความไม่สะดวกในการเดินทางไปจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคจากปัญหาอุทกภัย แต่การใช้จ่ายด้านวัสดุก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและร้านค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยขยายตัวมากช่วยพยุงการอุปโภคและบริโภคไม่ให้ชะลอลงมาก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายสินค้าคงทนยังขยายตัวในเกณฑ์ดี เนื่องจากการแข่งขันการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ประกอบกับมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมาให้เลือกมาก สะท้อนจากจำนวนการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ขยายตัวสูงอยู่ที่ร้อยละ 36.2 และร้อยละ 19.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุน สังเกตจากเงินทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยกระจุกตัวในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ ขณะที่เงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการใหม่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ประมาณครึ่งหนึ่งของเงินลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ ชีวมวล และแสงอาทิตย์ แนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป มีทิศทางขยายตัวในอุตสาหกรรมที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศักยภาพทั้งในด้านวัตถุดิบและภูมิประเทศ โดยเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นกว่าห้าเท่าตัวเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทนทั้งพลังงานเชื้อเพลิงจากเอทานอลและพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล ชีวภาพ แสงอาทิตย์ และลม

ภาคการคลัง รัฐบาลมีรายได้จัดเก็บภาษีอากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และรัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณหดตัวร้อยละ 10.6 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยรายจ่ายลงทุนหดตัวมากร้อยละ35.6 โดยเฉพาะรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนทั่วไป หมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และหมวดครุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้งบไทยเข้มแข็งขยายตัวร้อยละ 8.1 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายในสาขาขนส่ง สาขาทรัพยากรน้ำและการเกษตร และสาขาการลงทุนในระดับชุมชน

3. ภาคต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย-ลาว ขยายตัวสูงร้อยละ 41.4 จากปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าโดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปลาว ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากลาว ได้แก่ สินแร่ทองแดง เสื้อผ้าสำเร็จรูปจากประเทศจีน และเครื่องใช้ไฟฟ้า การค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ขยายตัวสูงร้อยละ 24.0 จากปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าเช่นกัน โดยสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปกัมพูชา ได้แก่ น้ำตาลทราย อะไหล่ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ปูนซีเมนต์ และผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากกัมพูชา ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองและเศษโลหะ

4. ภาวะการเงิน

ณ สิ้นธันวาคม 2553 ยอดคงค้างเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายตัวร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากประจำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในไตรมาสที่ 4 ยอดคงค้างสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 15.6 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้อยู่ที่ 106.6 สูงขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 101.1

ณ สิ้นธันวาคม 2553 ยอดคงค้างเงินฝากของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขยายตัวร้อยละ 16.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวของเงินฝากของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยอดคงค้างสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 26.1 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเดือนตุลาคม 2553 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ

5. เสถียรภาพราคาและการจ้างงาน

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เร่งตัวจากหดตัวอยู่ที่ 0.6 ในปีก่อน ตามแรงกดดันจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ข้าวเหนียวจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงและความต้องการเพิ่มสูงจากจีน และผักและผลไม้สด อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 เร่งขึ้นจากอยู่ที่ร้อยละ 0.4 ในปีก่อน

ภาวะการจ้างงาน ในปี 2553 อยู่ในภาวะตึงตัว สะท้อนจากการจัดหางานของรัฐในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผู้สมัครงานจำนวน 108,471 คน หดตัวร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ขณะที่ตำแหน่งงานว่างจำนวน 69,059 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตามมีการบรรจุงาน จำนวน 55,875 คน หดตัวร้อยละ 2.4

ส่วนเศรษฐกิจภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม: ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ หัวหน้าเศรษฐกร E-mail: saovanec@bot.or.th

นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา เศรษฐกรอาวุโส E-mail: Rotelukp@bot.or.th

โทร: 0-4333-3000 ต่อ 3411

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ