ข้อมูลธุรกรรมภาพรวมระบบการชำระเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 10, 2011 15:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทีมวิเคราะห์ระบบการชำระเงิน

ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน

บทคัดย่อ

ในชีวิตประจำวันของประชาชนมีความเกี่ยวข้องกับการชำระเงินอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้า/บริการ การโอนเงิน หรือการทำธุรกรรมการเงินอื่นใด การขยายตัวของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งผลให้บริการด้านการชำระเงินมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยรูปแบบการชำระเงินมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การให้บริการมีความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้นสอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจและประชาชน และมีผู้ให้บริการรายใหม่ๆ เกิดขึ้น โดยในปัจจุบันนี้ ผู้ให้บริการมิได้มีแต่สถาบันการเงินเท่านั้น แต่ยังมีผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) อีกด้วย

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะที่ต้องติดตามข้อมูลด้านการชำระเงิน เพื่อกำหนดทิศทางและนโยบายด้านการชำระเงินของประเทศ ส่งเสริมและกำกับดูแลให้ระบบการชำระเงินของประเทศดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคงและปลอดภัย เพื่อช่วยสนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าและการเงินให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและคล่องตัว ช่วยลดต้นทุนและส่งเสริมการทำธุรกรรมการค้า นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ได้รวบรวมและจัดทำข้อมูลด้านการชำระเงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการเพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของ ธปท.เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สนใจได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

ทั้งนี้สามารถเรียกดูข้อมูลสถิติธุรกรรมภาพรวมระบบการชำระเงินได้ที http://www.bot.or.th/Thai/PaymentSystems/Pages/index.aspx

1. ความเป็นมา

ระบบการชำระเงิน

ระบบการชำระเงิน หมายถึงกระบวนการส่งมอบหรือโอนสื่อการชำระเงินเพื่อชำระราคา โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ

1. องค์กรและบุคคล หมายถึง ผู้จ่ายเงิน ผู้รับเงิน และองค์กรที่เป็นตัวกลางในการชำระเงิน เช่น ธนาคาร พาณิชย์ สถาบันการเงิน เป็นต้น

2. กระบวนการดำเนินการภายใต้กฎหมาย ระเบียบ ข้อตกลง กฎเกณฑ์ธรรมเนียมปฏิบัติ ที่กำหนดบทบาทหน้าที่และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรและบุคคลต่าง ๆ รวมถึงกลไกการชำระเงินที่เกี่ยวข้อง

3. สื่อการชำระเงินประเภทต่าง ๆ เช่น เงินสด ตราสารการเงิน บัตรพลาสติก การโอนเงินทางบัญชี ตลอดจนถึงการชำระเงินด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ระบบการชำระเงินในประเทศไทย

รูปแบบการชำระเงินในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดตามสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม และพัฒนาการด้านเทคโนโลยี สื่อการชำระเงินนอกจากเงินสดแล้วยังมีสื่อการชำระเงินอีกหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ตั๋วเงิน การใช้บัตรพลาสติกต่างๆ เช่น บัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือก็มีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน

ผู้ให้บริการการชำระเงินก็ไม่ได้มีเฉพาะผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ที่เข้ามามีบทบาทให้การให้บริการมากขึ้น เช่น บริษัทไปรษณีย์ไทยที่ให้บริการโอนเงิน และบริษัทอื่นๆ ที่ให้บริการรับชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ พัฒนาการในการให้บริการได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรูปแบบก็หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมปัจจุบันและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น

การชำระเงินในประเทศไทย แบ่งได้ดังนี้

1. การชำระเงินที่เป็นเงินสด (Cash Payment) ได้แก่ การชำระเงินโดยใช้ธนบัตร หรือเหรียญกษาปณ์

2. การชำระเงินที่ไม่ใช่เงินสด (Non-Cash Payment) แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ข้อมูลธุรกรรมภาพรวมระบบการชำระเงิน 4 (Browallia New, Size 14, Bold: ชื่อและเลขหน้า)

2.1 การชำระเงินที่เป็นตราสาร (Paper-based Payment) ได้แก่ เช็ค ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน

2.2 การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เช่น การโอนเงินระหว่างบัญชี การใช้บัตรพลาสติก ต่างๆ (บัตรเดบิต บัตรเครดิต บัตรเอทีเอ็ม บัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต การโอนเงินผ่านระบบบาทเนต การโอนเงินตามคำสั่งล่วงหน้า การโอนเงินระหว่างประเทศ เป็นต้น

ปัจจุบันแม้เงินสดและเช็คยังคงมีการใช้อย่างแพร่หลายแต่การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-payments) ก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ บริการชำระเงินทางอินเทอร์เน็ต ธนาคารทางโทรศัพท์ นอกจากนี้ ยังมีการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ หากมีการใช้ระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น จะทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ได้รับประโยชน์ ดังนี้

1. ประโยชน์ต่อประเทศหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวม

เงินสดและเช็คมีต้นทุนการจัดการที่สูง โดยเฉพาะเงินสดซึ่งมีกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง และเมื่อออกสู่มือประชาชนแล้ว ยังมีหลายกระบวนการเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งการนับธนบัตร การคัดธนบัตร การขนส่ง การจัดเก็บ ตลอดจนการทำลาย แต่ละกระบวนการมีต้นทุนดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและทำลายธนบัตรธนาคารพาณิชย์ ร้านค้า ผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งประชาชนคงเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายของธนบัตรที่แฝงอยู่ในค่าสินค้าและบริการ หรือบริการของธนาคารพาณิชย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากประชาชนหันมาใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ก็จะช่วยส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของประเทศลดลง

2. ประโยชน์ต่อประชาขน

ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายจากการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะไม่ต้องเดินทางในการทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดความเสี่ยงในการถือเช็คและเงินสด นอกจากนี้ ยังสามารถทำธุรกรรมได้โดยไม่ติดข้อจำกัดเรื่องของเวลา อีกทั้งมีช่องทางการให้บริการที่หลากหลายทำให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น และยังสามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ทันทีและตลอดเวลา (ขึ้นกับประเภทของบริการ) นอกจากนี้ การชำระเงินโดยใช้เงินสด ประชาชนต้องรับค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสดที่แฝงมาในค่าสินค้าและบริการ ซึ่งหากมีการใช้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลายมากขึ้น น่าจะทำให้ต้นทุนบริการต่ำลงได้

3. ประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจ

การใช้เงินสดในภาคธุรกิจทำให้เกิดต้นทุนในการบริการเช่นกัน หากผู้ประกอบการหันมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดการเงินสด ลดความเสี่ยงจากการทุจริตของพนักงาน มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เพิ่มช่องทางหรือมีทางเลือกให้กับลูกค้าในการชำระค่าสินค้า/บริการได้หลากหลาย และยังสามารถตรวจสอบรายการได้อย่างรวดเร็ว

4. ประโยชน์ต่อสถาบันการเงิน

สถาบันการเงินต้องมีภาระในการจัดการเงินสดจำนวนมาก ทั้งการจัดเก็บ คัดแยก กระบวนการขนส่งทำให้มีต้นทุนการให้บริหาจัดการที่สูง หากลูกค้าใช้เงินสดและเช็คลดลงจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของสถาบันการเงินได้อย่างมาก

5. ประโยชน์ต่อองค์กรภาครัฐ

ภาครัฐเอง หากเปลี่ยนมาใช้การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านการเงินของภาครัฐให้มีความถูกต้องรวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการทุจริตของเจ้าหน้าที่ สามารถติดตามตรวจสอบรายการชำระเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น

บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่เป็นธนาคารกลาง ดำเนินการจัดพิมพ์ธนบัตร นำธนบัตรออกใช้ เป็นนายธนาคารให้แก่รัฐบาลและสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งเป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้ายแก่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ นอกจากนี้ ยังดำเนินนโยบายการเงินและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ดูแลระบบการชำระเงิน กำกับ ควบคุม และตรวจสอบการดำเนินงานของสถาบันการเงิน อันได้แก่ ธนาคารพาณิชย์บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ธนาคารเฉพาะกิจตามที่กระทรวงการคลังมอบหมายรวมถึงผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)

สำหรับบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อระบบการชำระเงินที่สำคัญ มี 3 ด้าน ได้แก่

1. กำหนดนโยบายด้านการชำระเงิน ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาระบบการชำระเงิน รวมถึงเข้าร่วมในองค์กรด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

2. กำกับดูแลระบบการชำระเงิน เพื่อลดความเสี่ยงด้านต่างๆ เพิ่มประสิทธิภาพของระบบการชำระเงินสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ใช้บริการ

3. ให้บริการระบบการชำระเงินที่สำคัญได้แก่ ระบบบาทเนต (BAHTNET) การเคลียริ่งเช็คระหว่างธนาคาร

2. การรวบรวมข้อมูลธุรกรรมการชำระเงิน

วัตถุประสงค์

ธปท. ได้จัดทำฐานข้อมูลธุรกรรมการชำระเงิน และรวบรวมข้อมูลปริมาณและมูลค่าการชำระเงินผ่านระบบและช่องทางต่างๆ รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. เพื่อติดตามความก้าวหน้าและทิศทางของธุรกรรมการชำระเงินในประเทศ

2. ศึกษาและติดตามพฤติกรรมการใช้สื่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

3. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำนโยบายด้านการชำระเงินของ ธปท.

4. เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนของภาคธุรกิจ

ที่มาของข้อมูล

ธปท. ได้รับข้อมูลธุรกรรมด้านการชำระเงินจากผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) และ ผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ซึ่งผู้ให้บริการดังกล่าว ต้องส่งรายงานมายัง ธปท. ตามที่กฎหมายกำหนด ตามงวดระยะเวลาที่แตกต่างกันตามแต่ละประเภทธุรกิจ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. พระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 และประกาศที่เกี่ยวข้อง

2. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และประกาศที่เกี่ยวข้อง

ประเภทของข้อมูล

ข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินที่เผยแพร่ ประกอบด้วย

1. ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบให้บริการและช่องทางต่างๆ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น จำนวนบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม จำนวนเครื่องเอทีเอ็ม จำนวนเครื่องรับข้อมูลจากบัตรเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ณ จุดขาย เป็นต้น

2. ปริมาณและมูลค่าธุรกรรมการชำระเงินของผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้ พ.ร.ฎ. ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 โดยมีข้อมูลเผยแพร่ เช่น การให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์การให้บริการชำระเงินแทน การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยจำแนกเป็นผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงิน (Bank) และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non-bank)

3. การเผยแพร่ข้อมูลธุรกรรมการชำระเงิน

ธปท. จัดทำตารางสถิติและเผยแพร่ข้อมูล โดยมีความถี่เป็นรายเดือน/ไตรมาส/ครึ่งปี โดยมีรายละเอียดการเผยแพร่ข้อมูลปรากฏตามตารางดังนี้

รหัสตาราง                    ชื่อตาราง                            ความถี่           กำหนดการเผยแพร่ข้อมูล
PS_PT_002     ปริมาณการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่างๆ   รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_003     มูลค่าการชำระเงินผ่านระบบการชำระเงินและช่องทางต่างๆ    รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_004     ปริมาณการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน                รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_005     มูลค่าการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน                 รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_006     จำนวนบัตรพลาสติก                                  รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_007     จำนวนเครื่องรับบัตร (EFTPOS Terminal)               รายครึ่งปี/ปี        31 สิงหาคม 2554
PS_PT_008     มูลค่าเฉลี่ยการใช้บัตรพลาสติกที่สำคัญ                     รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_009     ธุรกรรมการชำระเงินผ่านบริการ Mobile                 รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554
              banking และ Internet banking                    ไตรมาส/ปี
PS_PT_010     การชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ที่เคาน์เตอร์ธนาคาร             รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554
              และผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน (non-bank)           ไตรมาส/ปี
PS_PT_011     ปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์            รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านทางเครือข่าย1 (e-Payment) ไตรมาส/ปี

PS_PT_012     มูลค่าการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์             รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

อย่างหนึ่งอย่างใด หรือผ่านทางเครือข่าย1 (e-Payment) ไตรมาส/ปี

PS_PT_013     ปริมาณการรับชำระเงินแทน (Bill Payment)             รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_014     มูลค่าการรับชำระเงินแทน (Bill Payment)              รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

PS_PT_015     เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)                         รายเดือน/         31 สิงหาคม 2554

ไตรมาส/ปี

ทั้งนี้ ธปท. ดำเนินการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวใน โดยมีข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ เดือน มกราคม ปี 2553 เป็นต้นไป และเผยแพร่ใน BOT Website ภายใต้หมวด “สถิติ > สถิติระบบการชำระเงิน” หัวข้อ “ธุรกรรม ภาพรวมระบบการชำระเงิน” หรือ URL http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/PaymentSystems/Pages/index.aspx

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ