แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนธันวาคม และทั้งปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 31, 2012 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 7/2555

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนในทุกภาคเศรษฐกิจหลัง ปัญหาอุทกภัยเริ่มคลี่คลาย สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อชะลอลง อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและคาดว่าจะปรับลดลงในระยะต่อไป ส่วนดุลการชาระเงินขาดดุล แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทย มีดังนี้

ปัญหาการขนส่งและการเดินทางที่กลับสู่ภาวะปกติ และปัญหาการขาดแคลนสินค้าและชิ้นส่วน การผลิตที่บรรเทาลงหลังน้ำลด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เริ่มฟื้นตัว การผลิตภาคอุตสาหกรรม แม้จะหดตัวร้อยละ 25.8 จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวถึงร้อยละ 47.2 โดยปรับดีขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะยานยนต์ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากโรงงานที่ถูกน้ำท่วมสามารถกลับมาผลิตได้บางส่วนและโรงงานที่ไม่ได้ถูกน้ำท่วมโดยตรงสามารถจัดหาวัตถุดิบจากทั้งในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศมาทดแทนได้มากขึ้น และทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 52.3 จากเดือนก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 40.5 การฟื้นตัวของภาคการผลิตดังกล่าวส่งผลให้การส่งออกเริ่มฟื้นตัวตาม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เริ่มกลับมาผลิตได้ อย่างไรก็ดี อุปสงค์จากต่างประเทศที่ชะลอตัวต่อเนื่องยังทำให้การส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆ ชะลอลง อาทิ อาหารพร้อมปรุง รวมทั้งการส่งออกข้าวยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ทำให้การส่งออกในเดือนนี้ แม้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนยังลดลงร้อยละ 2.1 ทั้งนี้ ในระยะต่อไป คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะทยอยฟื้นตัวเป็นลำดับและกลับเป็นปกติในช่วงกลางปี 2555

ผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวร้อยละ 4.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน แม้ผลผลิตข้าวยังคงเสียหายจากอุทกภัย แต่ผลผลิตสินค้าเกษตรชนิดอื่นยังขยายตัวดี โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากมีพื้นที่ให้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นปาล์มได้รับน้ำฝนที่เพียงพอ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 4.3 ตามราคายางพาราที่ลดลงต่อเนื่องตามอุปสงค์ในภาคการผลิตยานยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังฟื้นตัว ไม่เต็มที่ ส่งผลให้รายได้เกษตรกรขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน

สำหรับอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวสอดคล้องกับภาคการผลิต การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเดือนธันวาคมที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อน (%mom, sa) ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในทุกหมวด ที่สำคัญได้แก่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เร่งตัวขึ้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าที่ยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ รวมทั้งยอดจำหน่ายยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับปริมาณการใช้เชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มพลังงาน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนเริ่มกลับมาลงทุนบ้างแล้ว แม้ดัชนีการลงทุนจะยังหดตัว แต่เครื่องชี้ต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในหมวดก่อสร้าง เป็นผลจากการซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้าง และการลงทุนตามแผนเดิมของโครงการก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ขณะที่ การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เริ่มมีการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่เสียหาย ส่วนปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่ยังไม่ฟื้นตัวเป็นปกติ

การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 19.6 เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำค่อนข้างสูงหลังจากราคาทองคำในตลาดโลกปรับลดลง หากไม่รวมทองคำ การนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 โดยเป็นการนำเข้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องมือเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อชดเชยชิ้นส่วนการผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลนในประเทศ รวมทั้งมีการเร่งนำเข้าน้ามันดิบภายหลังการปิดซ่อมบารุงโรงกลั่นในเดือนก่อนหน้า

ภาคการท่องเที่ยวเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศทั้งเดือนมีจานวน 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านคนในเดือนก่อน จากการกลับมาท่องเที่ยวของกลุ่มเอเชียตะวันออกเป็นสาคัญ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนยังลดลงร้อยละ 2.2 ส่วนการประกาศเตือนการก่อการร้ายในเดือนมกราคมคาดว่าจะกระทบความเชื่อมั่นนักท่องท่องเที่ยวไม่มากนักหากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น

ภาครัฐมีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนนี้มีการเบิกจ่ายมากขึ้นและ มีจำนวนมากกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ขาดดุลเงินสด 37.1 พันล้านบาท ขณะเดียวกัน นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้ และความต้องการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูความเสียหายของภาคครัวเรือน ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ขณะที่ยอดเงินฝากของสถาบันการเงินยังคงขยายตัวจากการระดมเงินฝากเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อ

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.53 และ 2.66 ตามลำดับ เป็นผลจากการชะลอตัวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาในกลุ่มอาหารเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานปรับเพิ่มขึ้นบ้างจากเดือนก่อน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำและคาดว่าจะปรับลดลงในระยะต่อไปตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต ส่วนดุลการชาระเงินขาดดุล แต่ส่วนใหญ่เกิดจากการออกไปลงทุน ในต่างประเทศของธุรกิจไทย

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขยายตัวชะลอลงมากจากปีก่อน เนื่องจากภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นที่ส่งผลให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน และจากสถานการณ์อุทกภัยของไทยที่รุนแรงและขยายวงกว้างในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายและเกิดปัญหาในการกระจายสินค้า ส่งผลให้การส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ แม้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เริ่มแผ่วลงในช่วงปลายปี สำหรับเสถียรภาพต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์มั่นคง โดยดุลการชาระเงินเกินดุล และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศระยะสั้นต่อหนี้ต่างประเทศทั้งหมดปรับลดลง

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0 2283 5647, 0 2283 5648

e-mail: MPGMacroEconomics@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ