แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนธันวาคม และปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 6, 2012 11:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 2/2555

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนธันวาคม 2554 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนเกือบทุกภาคเศรษฐกิจหลังผลกระทบจากอุทกภัยในประเทศคลี่คลาย การท่องเที่ยวขยายตัวดีมากจากอากาศหนาวเย็นและการจัดเทศกาลการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมปรับดีขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้การค้า การบริโภค การส่งออกและนำเข้าขยายตัว แต่ภาคการลงทุนยังหดตัว ด้านเสถียรภาพ เงินเฟ้อลดลงเล็กน้อยตามราคาพลังงาน การว่างงานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เงินให้สินเชื่อและเงินฝากยังขยายตัวดี

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

ภาคบริการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากภาวะอากาศหนาวเย็นประกอบกับมีการจัดงานเทศกาลและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจูงใจ เช่น งานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554 รวมทั้งผลจากการเปลี่ยนเส้นทางการท่องเที่ยวจากจังหวัดในภาคใต้ที่ประสบภัยคลื่นลมชายฝั่งและน้ำท่วมมายังภาคเหนือแทน

ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 11.8 ตามการผลิตเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมน้ำตาลเครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้าง ประกอบกับส่วนหนึ่งเป็นผลชั่วคราวจากการย้ายการผลิตจากจังหวัดประสบอุทกภัยในภาคกลางมาผลิตในภาคเหนือ อย่างไรก็ตาม การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกและอีกส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย สำหรับภาคการเกษตร รายได้ของเกษตรกร ข้อมูลเบื้องต้น หดตัวร้อยละ 6.2 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากราคาพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 5.1 โดยราคาข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกเหนียวนาปี สูงขึ้นจากนโยบายรับจำนำของรัฐเป็นสำคัญ และราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยตามฤดูกาลขณะที่ตลาดยังมีความต้องการ ส่วนปริมาณผลผลิตพืชหลักยังหดตัวร้อยละ 10.8 เป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปีส่วนหนึ่งลดลง เนื่องจากได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลงเนื่องจากพื้นที่ปลูกส่วนหนึ่งถูกน้ำท่วมเสียหายประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น อ้อยโรงงาน ขณะที่ผลผลิตอ้อยโรงงานและมันสำปะหลังขยายตัว สำหรับดัชนีการค้าขยายตัวร้อยละ 6.4 จากหมวดค้าส่งและหมวดค้าปลีก ส่วนหมวดยานยนต์ยังหดตัวเนื่องจากการขาดแคลนสินค้าจำหน่าย

อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวในอัตราชะลอลงจากการขาดแคลนสินค้าคงทนโดยเฉพาะในหมวดยานยนต์โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 ชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากสินค้าคงทนหลายประเภทประสบปัญหาจากอุทกภัยทำให้ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าจำเป็นยังขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนทางด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 1.9 ตามการชะลอตัวของการลงทุนเพื่อก่อสร้างและการหดตัวของปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวดีตามความต้องการเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟู ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐหดตัวร้อยละ 6.3 เป็นผลจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปE 2555 ยังไม่ประกาศใช้ ประกอบกับฐานการเบิกจ่ายระยะเดียวกันปีก่อนสูง

การส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือ มีมูลค่า 333.0 ล้านดอลลาร6 สรอ. ขยายตัวร้อยละ 19.9 เร่งตัวจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่การส่งออกไปประเทศอื่นๆ ขยายตัวจากสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร ด่านการนำเข้ามีมูลค่า 141.5 ล้านดอลลาร์ สรอ.ขยายตัวร้อยละ 21.3 ตามการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและสินค้าทุนเพื่อชดเชยการซื้อจากผู้ผลิตในประเทศที่ประสบปัญหาอุทกภัย ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามการนำเข้าถ่านหินลิกไนต์จากลาว

เสถียรภาพในประเทศ เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องตามราคาพลังงาน แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 4.36 จากราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสดประเภทเนื้อสุกร ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 3.68 ทางด้านการว่างงานในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีอัตราร้อยละ 0.5 ยังอยู่ในระดับต่ำ แม้จำนวนแรงงานที่ขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าจะเป็นภาวะชั่วคราว เนื่องจากยังมีสถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน

เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 437,034 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.1 ส่วนหนึ่งจากการเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากจูงใจจากการจัดกิจกรรมทางการเงินในภาคเหนือ ด้านเงินให้สินเชื่อมียอดคงค้าง 397,010 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14.6 โดยภาคเหนือตอนบนเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง รับเหมาก่อสร้าง สถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจโรงแรม และสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ขณะที่ภาคเหนือตอนล่างเพิ่มขึ้นตามความต้องการสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ ธุรกิจโรงสีข้าว และค้าพืชไร่ สำหรับสัดส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเท่ากับร้อยละ 90.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 89.7 เดือนก่อน

ภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือในปี 2554 ขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากพิบัติภัยสึนามิที่ญี่ปุ่น วิกฤตเศรษฐกิจยุโรป และโดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยรุนแรงกว่าทุกปี ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวเป็นผลจากเครือข่ายการผลิตประสบอุทกภัย และความต้องการในตลาดโลกลดลง ผลผลิตภาคเกษตรขยายตัวน้อยกว่าที่คาดเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกสำคัญประสบอุทกภัยทำให้รายได้ของเกษตรกรชะลอลง ขณะที่การส่งออกและนำเข้า การค้าและการบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งจากการผลิตสินค้าได้น้อยลงประกอบกับประสบปัญหาการขนส่งและกระจายสินค้า ด้านการลงทุนยังขยายตัวตามการก่อสร้างของโครงการต่อเนื่องทั้งของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย การท่องเที่ยวขยายตัวดีจากการจัดงานและกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ภาวะอากาศหนาวเย็นจูงใจ รวมทั้งได้รับผลดีจากผู้อพยพย้ายถิ่นชั่วคราวมาภาคเหนือเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำท่วม สำหรับการเบิกจ่ายภาครัฐซึ่งยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญและกระตุ้นเศรษฐกิจภาคเหนือขยายตัวดีทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ทางด้านเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงตามราคาอาหารเป็นสำคัญ ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำทางด้านเงินฝากและเงินให้สินเชื่อขยายตัวดี

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ทวีศักดิ์ ใจคำสืบ

โทร. 0-5393-1162

e-mail : Thaveesc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ