แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมีนาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 4, 2012 11:29 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 07/2555

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2555 ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอลงจากเดือนก่อนโดยด้านอุปทานมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญหดตัวเนื่องจากผลของราคาเป็นสำคัญและภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวด้านอุปสงค์ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัว และการเบิกจ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงเล็กน้อยตามราคาสินค้าในหมวดอาหาร ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.5 โดยดัชนีราคาพืชสำคัญหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.9 เป็นผลจากการลดลงของราคามันสำปะหลังและราคายางพาราที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ส่วนดัชนีผลผลิตพืชสำคัญ หดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.6 จากผลผลิตข้าวที่ลดลงเนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงก่อนหน้าและเป็นช่วงปลายฤดูการผลิต

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.3 ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) เพิ่มขึ้นเนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงจากผลกระทบของสึนามิ อย่างไรก็ตาม การผลิตในอุตสาหกรรมน้ำตาลหดตัวเนื่องจากปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเพราะเป็นช่วงใกล้ปิดหีบ

ภาคการค้า ดัชนีการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.9 ขยายตัวจากเดือนก่อน ตามการเร่งตัวของการค้ายานยนต์ และการขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากผู้จำหน่ายสามารถส่งมอบรถยนต์ได้หลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย และการค้าส่งสินค้าคงทนและสินค้าขั้นกลางขยายตัวดีต่อเนื่อง

การบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.0 จากระยะเดียวกันของปีก่อนปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ เนื่องจากความต้องการใช้จ่ายที่ยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ยอดการจดทะเบียนยานยนต์ชะลอลงเนื่องจากฐานในปีก่อนสูง แต่ในเดือนนี้เริ่มปรับเข้าสู่ระดับปกติเนื่องจากมีการส่งมอบรถยนต์ได้มากขึ้นหลังปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การลงทุนภาคเอกชน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.4 ชะลอตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลและโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการใหม่ลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรอดูผลกระทบจากต้นทุนที่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

การใช้จ่ายของภาครัฐ ขยายตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 57.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ทั้งงบลงทุนและงบประจำ โดยงบลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับจัดสรรเพิ่มขึ้น หลังจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้ ขณะที่งบประจำเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.9 จากรายจ่ายในหมวดเงินเดือน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.96 ชะลอตัวตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มโดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์และผักสด ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้า ค่าเชื้อเพลิง และค่าน้ำประปา เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.38 สำหรับอัตราการว่างงานเดือนกุมภาพันธ์ 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.5

เงินฝากธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม เงินฝากเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 เร่งตัวจากเดือนก่อน จากเงินฝากทุกประเภท โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ที่เร่งตัว เป็นผลจากเงินฝากของส่วนราชการเป็นสำคัญ สำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.0 จากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อเพื่อการค้าปลีกเป็นสำคัญ สำหรับอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 106.0

เงินฝากสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ณ สิ้นเดือนมีนาคม เงินฝากเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.6 เร่งตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากเงินฝากของส่วนราชการประเภทออมทรัพย์ที่นำมาฝากหลังได้รับจัดสรรงบประมาณ สำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 30.5 และขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนจากสินเชื่อของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรที่ขยายตัวตามสินเชื่อในนโยบายโครงการรับจำนำข้าวนาปรังเป็นสำคัญ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410

E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ