รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2012 11:27 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 25/2555

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้เผยแพร่ รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2555 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. สาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ทิศทางเศรษฐกิจ

ปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวรุนแรงในเกือบทุกหมวด ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554 ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 0.1 ซึ่งต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมที่ร้อยละ 1.0 อย่างมาก อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้เดิม จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งด้านการผลิตและการใช้จ่ายที่สามารถฟื้นตัวได้เร็วตั้งแต่ในไตรมาสแรกของปี

ภายหลังอุทกภัยคลี่คลาย การผลิตภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างชัดเจนและกลับมาตอบสนองอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น โดยผู้ประกอบการได้เร่งลงทุนเพื่อซ่อมแซมและฟื้นฟูความเสียหาย จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งอื่นเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน รวมทั้งมีการเร่งผลิตโดยผู้ประกอบการที่ไม่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมจะกลับมาเป็นปกติได้ในปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 โดยการฟื้นตัวในระยะต่อไปยังมีแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศและกำลังซื้อในประเทศที่อยู่ในเกณฑ์ดี ตลอดจนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะผลต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจที่ต้องพึ่งพาแรงงานมาก

ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภาคเอกชนฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ โดยการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับเป็นปกติได้ตั้งแต่ในไตรมาสที่ 1 ตามที่คาดไว้ แต่เป็นการเร่งตัวในอัตราที่สูงขึ้นมากจากการเร่งใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าทดแทนทรัพย์สินที่เสียหาย ประกอบกับความต้องการบริโภคที่สะสมมาจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up Demand) ที่ยังมีสูง โดยในระยะต่อไปแนวโน้มรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดีจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้มากและคาดว่าจะกลับเป็นปกติได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 เช่นเดียวกับการบริโภคภาคเอกชน โดยเป็นการเร่งตัวในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์เป็นสำคัญ สะท้อนถึงการเร่งลงทุนของผู้ประกอบการเพื่อกลับมาทำการผลิต ทั้งนี้ นโยบายและมาตรการภาครัฐจะเป็นแรงสนับสนุนที่ช่วยรักษาแรงส่งการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกให้มีต่อเนื่องในระยะต่อไป

สำหรับภาคต่างประเทศ คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การส่งออกสินค้าและบริการจะกลับสู่แนวโน้มเดิมก่อนอุทกภัยได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ส่วนหนึ่งเนื่องจากบางอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และแผงวงจรรวม ยังมีข้อจำกัดด้านการผลิตอยู่บ้างและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการฟื้นตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การส่งออกจะทยอยฟื้นตัวตามภาวะอุปสงค์โลกที่คาดว่าจะปรับดีขึ้นเป็นลำดับ และจะเริ่มกลับมามีบทบาทต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นในปี 2556 ควบคู่กับอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวสูงกว่าการส่งออกโดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ตามการบริโภคและการลงทุนที่เร่งฟื้นตัว ก่อนจะชะลอลงในระยะต่อไปพร้อมกับการผลิตภายในประเทศที่กลับมาเป็นปกติ

2. แรงกดดันเงินเฟ้อ

แรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยแรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าจ้างแรงงานเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาในหมวดพลังงานมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี จากความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับชาติตะวันตกที่ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว รวมทั้งมีผลเพิ่มเติมจากการกลับมาจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตั้งแต่กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ขณะที่การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ส่วนราคาอาหารสดชะลอการเร่งตัวหลังจากภาวะขาดแคลนสินค้าในช่วงอุทกภัยคลี่คลายลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากตลาดยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกอยู่

ในขณะเดียวกัน ภาระต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการได้มากขึ้นด้วยในช่วงที่อุปสงค์ภาคเอกชนเร่งฟื้นตัว โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้มากในช่วงครึ่งปีแรก และมีแนวโน้มที่แรงกดดันด้านอุปสงค์จะมีต่อเนื่องในระยะต่อไปจากผลของการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนข้าราชการ สอดคล้องกับช่องว่างการผลิต (Output Gap) ที่แคบลงและคาดว่าจะกลับมาปิดได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555

3. ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

คณะกรรมการฯ ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีฐานสำหรับปี 2555 จากครั้งก่อน โดยเป็นผลของฐานจากการหดตัวรุนแรงในปีก่อนหน้าและอุปสงค์ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี สำหรับปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยภาคการส่งออกจะเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับอุปสงค์ภายในประเทศ ในภาพรวม คณะกรรมการฯ ประเมินว่า ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมี

สรุปผลประมาณการ

 ร้อยละต่อปี                 2554*   2555   2556
อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ    0.1     6.0    5.8

(4.9) (5.6)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป             3.8     3.5    3.5

(3.2) (2.9)

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน            2.4     2.5    2.1

(2.2) (1.7) หมายเหตุ: * ข้อมูลจริง ( ) รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับมกราคม 2555

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

อยู่สูงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงด้านลบต่อประมาณการเศรษฐกิจยังมีมากกว่าด้านบวก อย่างไรก็ดี อุปสงค์ภาคเอกชนและภาคการผลิตที่ฟื้นตัวได้เร็ว ประกอบกับวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงด้านลบและความไม่แน่นอนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโดยรวมลดลงจากครั้งก่อนแผนภาพรูปพัด (Fan Chart) ของประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจึงเบ้ลงน้อยกว่าครั้งก่อนและแคบลงตลอดช่วงประมาณการ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการฯ ปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อตลอดช่วงประมาณการ ตามแรงกดดันจากต้นทุนด้านพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับอุปสงค์ภาคเอกชนที่เร่งฟื้นตัวและจะได้รับแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งจะเอื้อให้การส่งผ่านภาระต้นทุนสามารถทำได้มากขึ้นด้วย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความเสี่ยงด้านสูงต่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากครั้งก่อน ทั้งจากทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างต่อต้นทุนการผลิต การส่งผ่านภาระต้นทุน และการคาดการณ์เงินเฟ้อ แผนภาพรูปพัดของประมาณการเงินเฟ้อจึงเบ้ขึ้นและกว้างกว่าครั้งก่อนตลอดช่วงประมาณการ

4. การดำเนินนโยบายการเงิน

ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 มีนาคม และวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกเริ่มลดลงโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่การจ้างงานยังอยู่ในเกณฑ์ดีและความเชื่อมั่นของภาคเอกชนปรับดีขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยและยังต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม ประเทศหลักในยุโรปยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีและเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น สำหรับเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากอุทกภัยได้เร็วกว่าที่ประเมินไว้ สะท้อนจากเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในทุกด้าน โดยการผลิตในภาพรวมคาดว่าจะกลับเป็นปกติได้ในปลายไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเร่งตัวขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อในประเทศที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งแรงกระตุ้นจากภาครัฐและภาวะการเงินที่ยังเอื้ออำนวย ส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อยังมีอยู่ในระยะต่อไปจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับสูงและการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่เริ่มทยอยเห็นผลภายใต้ภาวะอุปสงค์ในประเทศที่เร่งฟื้นตัว ซึ่งจะเอื้อให้การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าและบริการสามารถทำได้มากขึ้น

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ประเมินว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจ กอปรกับคณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง พร้อมกับช่วยดูแลความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่มีอยู่ได้ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมทั้งสองครั้งให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.0 ต่อปี

ข้อมูลเพิ่มเติม: บดินทร์ ศิวิลัย โทร. 0 2356 7876 E-mail: bodinc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ