FAQ Issue 56: Sovereign Wealth Funds (SWFs) กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2011 15:22 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 56

Sovereign Wealth Funds (SWFs)

กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ

สมศจี ศิกษมัต

Summary

Sovereign Wealth Funds (SWFs) หรือกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติ คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยนำสภาพคล่องส่วนเกินของประเทศ ซึ่งอาจเกิดจากการเกินดุลการคลังของภาครัฐ (fiscal surpluses) ติดต่อกัน หรือการมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศส่วนเกิน (excess foreign reserves) จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง มาลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลตอบแทนสูงสุดในระยะยาว แต่การจะจัดตั้ง SWFs มีประเด็นเรื่องของแหล่งที่มาของเงินทุน โดยเฉพาะหากเงินทุนนั้นมาจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพราะต้องแน่ใจว่าเงินส่วนนี้เป็นส่วนที่เกินความจำเป็นที่ประเทศต้องใช้ในการดูแลรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และวิธีการจัดสรรเงินสำรองจะต้องไม่ส่งผลเสียหายต่อวินัยการเงินการคลังของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ต้องมั่นใจในประเด็นของความโปร่งใสในการบริหารทรัพย์สินของประเทศจากการถ่ายโอนความมั่งคั่งของประเทศไปยัง SWFs ตลอดจนโครงสร้างขององค์กรที่รับผิดชอบ และการวางระเบียบกฎเกณฑ์ในการเปิดเผยข้อมูลของ SWFs

กองทุนความมั่งคั่งของประเทศ (SWF)เปรียบเสมือน Special Vehicle Purpose ของรัฐบาลทำหน้าที่ตัวกำหนดกลยุทธ์การจัดสรรทรัพย์สินในการลงทุนโดยหวังกำไรหรือผลตอบแทนที่มากขึ้น โดยยอมรับระดับความเสี่ยงที่มากขึ้นเช่นกัน โดยทั่วไปแล้วจะลงทุนในหุ้นของบรษัทต่างชาติ เช่น SWF ของจีนที่ลงทุนในหุ้นของ Morgan Stanley และ Blackstone SWF ของดูไบเข้าซื้อหุ้นของบริษัท Sony และเทมาเส็กของสิงค์โปร์ซื้อหุ้นชินคอร์ปของไทย เป็นต้น

SWF ไม่ใช่เรื่องใหม่ ประเทศแรกที่จัดตั้ง SWF คือคูเวต (ชื่อกองทุน Kuwait Investment Authority) ในปี 1953 โดยเงินทุนมาจากรายได้จากการขายน้ำมันอย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังปี 2000 เป็นต้นมา SWF ได้กลับมาเป็นจุดสนใจมากขึ้น เนื่องจาก

  • ความไม่สมดุลของดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ(Global Balance of Payment Imbalance) ที่ส่งผลให้เงินสำรองทางการระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันและประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเอเชีย เช่น จีน จนกระทั่งมีฐานะทุนต่างประเทศเป็นบวกทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ (Alternative investment) เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น
  • การที่ SWF จากต่างประเทศเข้าซื้อหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯและยุโรป ทำให้ทางการบางประเทศกังวลเกี่ยวกับการถูกต่างชาติ(ผ่าน SWFs) เข้าไปควบคุมการบริหารงานในบริษัทที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ (เช่น กรณีการเข้าซื้อธนาคารพาณิชย์บางแห่งในสหรัฐฯ จากกองทุน SWFs จากเอเชียและจากตะวันออกกลาง)
  • การเรียกร้องจากหลายๆ ประเทศถึงการตรวจสอบกองทุนดังกล่าว เนื่องจากกองทุนดังกล่าวขาดความโปร่งใส ในเรื่องของข้อมูล และวิธีการลงทุน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินโลก

จำนวน SWFs ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจุบันมีมากกว่า 50 กองทุน สินทรัพย์รวม ณ ปี 2010 ประมาณ 4,000 พันล้านดอลลาร์สรอ. ส่วนใหญ่เป็นของประเทศในตะวันออกกลางที่มีทรัพยากรพลังงาน และเอเชีย โดยการลงทุนของ SWFs เหล่านี้กระจายอยู่ใน หลายประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคการเงิน

SWF ขนาดใหญ่สุดคือ Abu Dhabi Investment Authority ของอาหรับเอมิเรต (UAE) จัดตั้งในปี 1976 ซึ่ง ณ ปี 2010 มีสินทรัพย์การลงทุนมูลค่ารวม 627 พันล้านดอลลาร์ สรอ. รองลงมาคือ Government Pension Fund ของ Norway จัดตั้งในปี 1990 มูลค่าสินทรัพย์ลงทุน 443 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ส่วนทางฝั่งเอเชียนั้นมีจีนเป็นผู้นำคือมีจำนวน SWFs ถึง 5 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์ลงทุนรวม 1,015 พันล้านดอลลาร์ สรอ. สิงค์โปร์มี 2 กองทุน สินทรัพย์รวม 380 พันล้านดอลลาร์ สรอ. บรูไน 30 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และมาเลเซีย 25 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

เหตุที่หลายๆ ประเทศจัดตั้ง SWF เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ (โดยเฉพาะน้ำมัน) และการเกินดุลบัญชีเงินสะพัดของประเทศที่กำลังพัฒนาทำให้ประเทศที่ส่งออกมีปริมาณเงินหมุนเวียนมากขึ้นรวมทั้งการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจสูงมากจนเกินความจำเป็น ทำให้ต้องมีการกระจายการลงทุนในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น

แรงจูงใจการจัดตั้ง SWF และแหล่งที่มาของเงินทุน

แรงจูงใจ (Motive) ของการจัดตั้ง SWFs แบ่งได้เป็น (1) Stabilization Motive เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค หรือรายได้ของประเทศโดยลดผลกระทบในระยะสั้นของการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกหลักของประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน (2) Savings Motive เน้นการออมหรือกระจายรายได้ที่เกิดจากการขายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุ โดยนำไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อให้ผลตอบแทนตกถึงคนรุ่นหลัง ดังนั้น ถึงแม้ในอนาคตปริมาณทรัพยากรเหล่านี้ลดลงหรือหมดไป ประเทศก็จะยังคงมีรายได้จากที่ได้ลงทุนเอาไว้ การดำ เนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาว (Longer investment horizon) และยอมรับกับสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่ำได้ (3) Revenue Motive เป็นการเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายประเภทขึ้น (Alternative assets) เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น แหล่งที่มาของเงินทุนในการจัดตั้ง SWF โดยทั่วไปมาจาก 3 แหล่ง คือ

(1) รายได้จากรัฐบาล ซึ่งมาจากการเกินดุลงบประมาณ การขายสินทรัพย์ และการแปลงรัฐวิสาหกิจ (Privatization proceeds)

(2) รายได้จากสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)ส่วนใหญ่เป็นพวกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติและแร่ธาตุโดยรายได้จาก Commodity เหล่านี้อาจจะเกี่ยวเนื่องจากการส่งออก หรือจากการที่รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีในสินค้าเหล่านี้ ทั้งนี้ เงินทุน SWFs ส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ โดยก่อนปี 1998 SWFs ประเภท Commodity Fund มีมูลค่าสินทรัพย์รวมคิดเป็นร้อยละ 74 ของสินทรัพย์ SWFs ทั้งหมด*(1) แต่หลังจากปี 1998 Non-commodity SWFs ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้ปัจจุบันสัดส่วนดังกล่าวได้ลดลงเหลือร้อยละ 59 อย่างไรก็ดี SWFs ขนาดใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกเป็น Commodity Fund ทั้งสิ้น

(3) ทุนสำรองทางการหรือทุนสำรองระหว่างประเทศ ในระยะหลังมี SWFs ประเภท Noncommodity เกิดขึ้นพอสมควร เนื่องจากหลายประเทศที่ทางการเข้าแทรกแซงค่าเงินมีเงินสำรองฯ เพิ่มสูงขึ้นมาก จึงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้น

อย่างไรก็ดี ประเด็นสำคัญที่พึงตระหนัก คือส่วนใหญ่ของทุนสำรองฯ ในหลายประเทศถือได้ว่าเป็นเพียง Borrowed wealth จากการที่ธนาคารกลางเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้แข็งค่าและขณะเดียวกันมีภาระผูกพันต้องดูดซับสภาพคล่องของเงินในระบบ (Sterilized Foreign Exchange Intervention) โดยการออกพันธบัตรในประเทศ หรือทำผ่านตลาดซื้อคืนพันธบัตร หรือ FX swap ซึ่งในกรณีเช่นนี้ เงินสำรองฯ ที่ธนาคารกลางบริหารอยู่ไม่ใช่ความมั่งคั่งที่แท้จริง (Intrinsic wealth) ทำให้ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการนำมาจัดตั้ง SWFs ดังนั้น จึงต้องพิจารณาความมั่นคงของแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดว่าเป็นแบบวัฏจักร (Cyclical surplus) คือ การเกินดุลที่สัมพันธ์หรือขึ้นอยู่กับภาวะ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้มูลค่าส่งออกและนำเข้ามากหรือน้อยแบบชั่วครั้งชั่วคราว หรือเป็นการเกินดุลจากที่มีโครงสร้างส่งออกที่แข็งแกร่ง(Structural surplus) คือ ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ อาทิ น้ำมัน เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าจำเป็น ทดแทนได้ยาก และราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศผู้ส่งออกมีรายได้มั่นคงกว่า

กรณีที่แหล่งเงินทุนมาจากเกินดุลในบัญชีเงินทุน(Capital account) หากจะนำมาจัดตั้ง SWF ก็จะยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะการไหลเข้าออกของเงินทุนมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะหากเป็นเงินทุนระยะสั้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า SWFs ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ในแต่ละประเทศสามารถมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง แหล่งที่มาของเงินทุน ความซับซ้อนในการบริหารจัดการ และการยอมรับระดับของความเสี่ยงในการบริหารกองทุน SWFs อาจเลือกลงทุนในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic investment) ในการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างเช่นการเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานของต่างประเทศ ธุรกิจสื่อสารและคมนาคม และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้นหรือเลือกเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เพื่อนำผลตอบแทนมาใช้ประโยชน์ในโครงการลงทุนที่ยังผลต่อเศรษฐกิจและสังคม (Long-term yield enhancement) ดังนั้น การกำหนดรูปแบบการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่รับได้ต้องชัดเจน เนื่องจากการลงทุนภายใต้ SWF มีความเสี่ยงสูงขึ้น ประเทศจึงต้องมีความทนทานต่อภาวะขาดทุนพร้อมทั้งสามารถอธิบายให้สาธารณชนเข้าใจได้

เงื่อนไขที่จำเป็นของการนำเงินทุนสำรองทางการมา จัดตั้ง SWF

Government of Singapore Investment Corporation, Korea Investment Corporation และ China Investment Corporation เป็น Non-Commodity SWFs ที่จัดตั้งโดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมีข้อดีที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุน เพราะสามารถลงทุนในสินทรัพย์นอกเหนือจากตราสารหนี้รัฐบาลต่างประเทศหรือตราสารการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำและสภาพคล่องสูง ทำให้ผลตอบแทนภายใต้การบริหารแบบ SWFs มีโอกาสที่จะสูงกว่าการบริหารเงินสำรองแบบดั้งเดิม หรืออาจลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Strategic investment) อย่างเช่น ลงทุนในธุรกิจน้ำมันซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การจัดตั้ง SWFs โดยใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงและข้อควรระวังหลายเรื่อง ได้แก่

(1) ความเพียงพอของเงินสำรองระหว่างประเทศในการรองรับความผันผวนของเงินทุนไหลออก ซึ่งปัจจุบันความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายสูงขึ้นตามกระแสโลกาภิวัตน์และความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการเงินที่มากขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความเพียงพอของเงินทุนสำรองฯ ที่จะเหลืออยู่ โดยการทำ Stress test ภายใต้ข้อสมมติกรณีฉุกเฉินที่มีการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เพื่อให้แน่ใจว่าประเทศยังมีสินทรัพย์ในรูปเงินสำรองฯ ที่สามารถนำมาใช้ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้อย่างพอเพียงและทันท่วงที

อย่างไรก็ดี ระดับความเพียงพอของเงินทุนสำรองที่คำนวณได้อาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับข้อสมมติและมุมมองของผู้ประเมิน และที่สำคัญ ผู้ประเมินต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงในด้านอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องความสามารถของระบบเศรษฐกิจในการรองรับความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน ความแข็งแกร่งทนทาน (Resilience) ของภาคธุรกิจต่อความอ่อนไหวของค่าเงิน และความสามารถในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะไม่เช่นนั้นก็อาจจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีเงินสำรองไว้ในระดับสูงเพื่อใช้ดูแลเสถียรภาพของค่าเงิน ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่าเบื้องหลังของเงินสำ รองทางการที่อยู่ในระดับสูงๆ นี้มีภาระผูกพันทั้งสิ้น เพราะแม้ว่าเงินทุนสำรองจะเป็นสินทรัพย์ของประเทศ แต่ก็เป็น Borrowed wealth คือมีหนี้สินควบคู่ไปด้วย เนื่องจากทางการต้องดูดซับสภาพคล่องควบคู่ไปกับการที่เข้าซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อชะลอการแข็งขึ้นของค่าเงิน ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายในการดูดซับสภาพคล่องดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งต่างจากประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นทำให้รายได้จากการส่งออกยั่งยืนกว่า

(2) วิธีการจัดสรรเงินสำรองระหว่างประเทศหากจะมีการจัดสรรเงินสำรองส่วนที่เกินความจำเป็นออกไปจากธนาคารกลาง ก็ควรต้องมีวิธีการที่เหมาะสมเช่น ระดมเงินผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลขายในตลาดแล้วนำเงินมาแลกกับเงินสำรองฯ เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบ (accountability) ซึ่งจะมีผลดีเป็นอย่างยิ่งในด้านการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว และการป้องกันการนำเงินสำรองฯ ไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ถูกต้องในอนาคต

(3) ความสามารถในการรองรับผลขาดทุนเนื่องจากการลงทุนของ SWFs มีความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนแบบดั้งเดิม (Traditional investment) ของธนาคารกลาง ดังนั้น ถ้ายังไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงความพร้อมและแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม ก็อาจนำไปสู่การขาดทุนได้ อย่างเช่นในกรณีของ China Investment Corporation (CIC) ของประเทศจีนที่ขาดทุนอย่างมหาศาลจากการที่มูลค่าหุ้นของ Blackstone ได้ลดลงกว่าร้อยละ 70 เมื่อปี 2008 และปัญหาของ National Pension Reserve Fund ของไอร์แลนด์ เป็นต้น

(4) ขนาดของเงินทุนที่เหมาะสมในการจัดตั้งSWF การจัดตั้ง SWF โดยใช้เงินสำรองทางการส่วนเกินอาจทำให้ทุนเริ่มแรกมีขนาดเล็กจนทำให้ขาดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) จนไม่ได้เปรียบในเชิงต้นทุนการบริหารจัดการ (Cost efficiency) ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและ infrastructure ต่างๆ อีกทั้ง กองทุนขนาดเล็กอาจเสียเปรียบเพราะการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนทำได้จำกัด

(5) ระบบธรรมาภิบาลที่ดีมีมาตรฐาน หากไม่มีระบบธรรมาภิบาลหรือหลักเกณฑ์ที่ดีพอ ก็จะเสี่ยงต่อการแทรกแซงทางการเมืองและการแสวงหาผลประโยชน์ทับซ้อนโดยผู้เกี่ยวข้องในการจัดตั้งและผู้บริหารกองทุนซึ่งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของคนในประเทศและภาพลักษณ์ของ SWFs ที่จัดตั้งขึ้นในสายตาของต่างชาติซึ่งอาจถูกต่อต้านจากประเทศที่ SWFs จะเข้าไปลงทุน

ทั้งนี้ ธรรมาภิบาลของ SWFs เป็นประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะ SWFs จากประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Emerging markets) ที่ยังไม่สามารถยกระดับมาตรฐาน ตนเองให้เทียบเท่ากับหลักธรรมาภิบาลของประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ซึ่งความกังวลในเรื่องนี้อาจนำไปสู่การต่อต้านการลงทุนจากประเทศที่ SWFs จะเข้าไปลงทุน

สรุป

เงินทุนที่ใช้จัดตั้ง SWFs ทั่วโลกส่วนใหญ่มาจากรายได้จากการขายสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ก็มีบางประเทศที่จัดตั้ง SWFs จากการที่ประเทศเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงอย่างต่อเนื่องและทางการได้ดูแลค่าเงินจนเงินทุนสำรองทางการเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การบริหาร SWFs มีความแตกต่างจากการบริหารเงินสำรองฯ ที่เน้นความมั่นคงและสภาพคล่องมากกว่าผลตอบแทน ดังนั้น การพิจารณาจัดสรรเงินสำรองฯ ออกไปจึงต้องให้มั่นใจว่าเป็นเงินสำรองฯส่วนเกินอย่างแท้จริง อีกทั้งต้องให้ความสำคัญกับวิธีการจัดสรรเงินสำรองฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลเสียหายต่อการรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ ควรมีความชัดเจนในเรื่องของวัตถุประสงค์การจัดตั้ง SWFs รูปแบบการลงทุน ระบบโครงสร้าง และธรรมาภิบาลองค์กร รวมถึงประเด็นในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุด การยอมรับและความทนทานของ SWF ต่อการขาดทุนเป็นเรื่องที่สำคัญซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องใช้เวลาศึกษาพิจารณาให้ชัดเจนและครบถ้วนถึงความพร้อมของประเทศก่อนการตัดสินใจ

References

Benjamin J. Cohen, “Sovereign Wealth Funds and National Security: The Great Tradeoff” August 2008.

Peter Kunzel, Yinqiu Lu, Iva Petrova, and Jukka Pihlman, “Investment objectives of Sovereign Wealth Funds: A Shifting Paradigm IMF, WP/11/19 January 2011.

Udaibir S. Das, Yinqiu Lu, Christian Mulder, and Amadou Sy “Setting up a Sovereign Wealth Fund: Some Policy and Operational” IMF WP/09/179, August 2009.

Goldman Sachs, “In Defence of Sovereign Wealth Funds, Global Economic Paper No. 167 May 2008.

Rita Raagas De Romos, “US, Singapore, Abu Dhabi Agree on Wealth Funds Principles” Asian Investor March 2008.

Contact authors:

สมศจี ศิกษมัต

หัวหน้านักวิจัยอาวุโส

สายนโยบายการเงิน

[email protected]

*(1) ข้อมูลจาก Global Finance 2010

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ