FAQ Issue 46: ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 25, 2011 10:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 46 ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

Summary

ปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องชี้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยที่พัฒนาจากฐานข้อมูลสินเชื่อปล่อยใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เครื่องชี้เหล่านี้มีประโยชน์ทั้งในด้านการประเมินคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ และการสะท้อนความเสี่ยงด้านการเงินของภาคครัวเรือน ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดย (1) Price to Income ratio (Median Multiple) ใกล้เคียงค่ามาตรฐาน (2) Loan to value ratio (LTV) ผ่อนคลายมากขึ้นจากการแข่งขันระหว่างธนาคารในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (3) Housing Affordability Index (HAI) ปรับตัวดีขึ้นจากระยะเวลาผ่อนชำระเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น และ (4) Repayment to Income ratio ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้กู้ที่จ่ายค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ หรือที่ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม Housing Stress เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการผ่อนคลายเกณฑ์การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเพื่อแข่งขันแย่งชิงลูกค้า สัญญาณนี้อาจชี้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรขาลงในอนาคต

"การออมเงินเพื่อดาวน์บ้านนับว่ายากแล้ว การอดทนจ่ายเงินผ่อนทุกๆ เดือนจนชำระหนี้หมด นับว่ายากยิ่งกว่า"

ประโยคข้างต้นคงตรงใจของมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คนที่กำลังก่อร่างสร้างตัวอยู่ในปัจจุบัน เพราะการมีบ้านของตัวเองเป็นความฝันของคนทุกคน แต่การจะเป็นเจ้าของบ้านได้สักหลังกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแม้ว่าบ้านจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ซึ่งเป็นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต แต่กลับ มีราคาสูงจนอาจต้องเก็บเงินซื้อหรือผ่อนส่งกันทั้งชีวิตเลยทีเดียว

ดังนั้น ความสามารถของประชาชนที่จะมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเองจึงเป็นเครื่องชี้ที่สำคัญในการประเมินคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ขณะที่ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้บ้านสามารถใช้สะท้อนความเสี่ยงทางการเงิน (Financial Vulnerability) ของภาคครัวเรือนและเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูงจะไม่ค่อยมีความสามารถในการรับแรงกระแทกจาก Shock เช่น การตกงาน รวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามความจำเป็นของการดูแลเศรษฐกิจมหภาคได้ ดังเช่นผู้กู้ซื้อบ้านในสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่ม Subprime ที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้บ้านต่อไปได้เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น จึงเกิดเป็นหนี้เสียจำนวนมาก อันเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งลุกลามไปทั่วโลก

หากมองเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลสะเทือนถึงประเทศไทยเมื่อปี 2552 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และเศรษฐกิจไทยกำลังโตวันโตคืน รายได้ของประชาชนจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรในต่างจังหวัด แรงงานในโรงงาน หรือพนักงานในออฟฟิศก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้น่าจะช่วยให้ประชาชนคนไทยสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้นไม่มากก็น้อย ในขณะเดียวกัน ธนาคารกำลังแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างเข้มข้น สะท้อนได้จาก Promotion อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0% ในช่วง 6-12 เดือนแรก หรือการผ่อนคลายเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำในการขอสินเชื่อ เป็นต้น ตัวช่วยทางด้านการเงินเหล่านี้น่าจะมีส่วนส่งเสริมความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยเช่นกัน

คำถามที่หลายคนอาจจะคิดต่อมา คือ จะวัดได้อย่างไรว่าสุทธิแล้วความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นที่มาของ FAQ ฉบับนี้ ซึ่งจะประเมินความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยในปัจจุบันโดยใช้เครื่องชี้ต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นจากฐานข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของระบบธนาคารพาณิชย์

นิยามของความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย
เริ่มแรกขอทำความรู้จักกับความหมายของคำเสียก่อน ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย(Housing Affordability) หมายถึง การที่ครัวเรือนสามารถจ่ายค่าที่อยู่อาศัยได้ โดยยังมีรายได้เหลือพอสำหรับรายจ่ายอื่นๆ ตามมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี ซึ่งนิยามนี้ครอบคลุมทั้งผู้ที่กำลังผ่อนบ้าน ผู้ที่คิดจะซื้อบ้าน รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเช่าด้วย ซึ่งกลุ่มหลังนี้มีจำนวนมากเช่นกัน

สำหรับปัจจัยที่มีส่วนกำหนดความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่

1) ด้านรายได้ หากประชาชนมีรายได้และเงินออมเพิ่มขึ้น จะทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้น ทั้งนี้ คนที่มีรายได้ประจำจะมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยสูงกว่าผู้มีรายได้ไม่แน่นอน เพราะธนาคารเชื่อมั่นความสามารถในการชำระหนี้มากกว่า จึงอนุมัติให้สินเชื่อได้ง่ายกว่า

2) ด้านราคาที่อยู่อาศัย หากการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ จะทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง เนื่องจากไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยในระดับเดิมตามที่วางแผนไว้

3) ด้านการเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากการซื้อที่อยู่อาศัยเกือบทั้งหมดจะมีการขอสินเชื่อจากธนาคาร เงื่อนไขในการให้สินเชื่อจึงกระทบต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย อาทิ วงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value ratio: LTV) ระยะเวลาของสัญญากู้ และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น โดยจะเห็นได้จากสิ่งที่ผู้กู้ต้องการเมื่อไปติดต่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคาร คือ "ดาวน์น้อย ผ่อนนาน ดอกเบี้ยต่ำ" เพราะเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยสูงขึ้นนั่นเอง ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย

บทความนี้ใช้กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นตัวแทนในการวิเคราะห์ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยในปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์และมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากถึงร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ โดยใช้ฐานข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลของธนาคารพาณิชย์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อย

ละ 60) ครอบคลุมบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ อาคารชุดทั้งมือหนึ่งและมือสอง

เนื่องจากเครื่องชี้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยมีอยู่หลายประเภท บทความนี้จึงเลือกเฉพาะเครื่องชี้ที่สำคัญมานำเสนอทั้งสิ้น 4 ตัว ได้แก่ (1) Price to Income ratio (2) Loan to Value ratio (LTV) (3) Housing Affordability Index (HAI) และ (4) Mortgage Repayment to Income ratio โดยเครื่องชี้แต่ละตัวมีความครอบคลุมแตกต่างกันดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 เครื่องชึ้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย

    เครื่องชี้      เกณฑ์           ความครอบคลุม

มาตรฐาน รายได้ ราคา การเงิน

Price to      ไม่เกิน 3.0      /     /     -
Income ratio
LTV                -         -     /     /
HAI           มากกว่า 100     /     /     /
Repayment to  ไม่เกิน 30%      /     /     /
Income ratio

(1) สัดส่วนราคาที่อยู่อาศัยต่อรายได้ (Price to Income ratio) เป็นเครื่องชี้ที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลกเพราะสามารถแปลความหมายได้ง่ายและการคำนวณไม่ซับซ้อน บทความนี้เลือกใช้วิธี Median Multiple ซึ่งคำนวณจากราคาที่อยู่อาศัยมัธยฐาน หารด้วย รายได้ต่อปีของครัวเรือน มัธยฐาน สำหรับเกณฑ์มาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป (Rule of Thumb) คือ Median Multiple ไม่ควรเกิน 3.0 หรือราคาที่อยู่อาศัยไม่ควรเกินสามเท่าของรายได้ต่อปีของครัวเรือน

Median Multiple ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อยในช่วงที่ผ่านมา จากในปี 2551 ที่ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.9 เป็น 3.2 ในปี 2553 1 สะท้อนว่าความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย เป็นผลจากราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ของผู้กู้ อย่างไรก็ดี ล่าสุด Median Multiple เฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 3.1 ตามราคาที่อยู่อาศัยมัธยฐานที่ลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี การนำข้อมูลของผู้ที่ธนาคารอนุมัติให้สินเชื่อแล้วมาคำนวณอาจทำให้ค่าสถิติดีเกินจริง (Overestimate) เพราะเป็นกลุ่มคนที่ต้องมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยดีในระดับหนึ่งแล้วจึงจะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้น จึงได้นำข้อมูลรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2552 มาคำนวณกับราคาที่อยู่อาศัยในปีเดียวกัน2พบว่าสัดส่วนราคาที่อยู่อาศัยต่อรายได้ในปี 2552 อยู่ที่ 5.0 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อย่างไรก็ตาม Median Multiple ที่บ่งชี้ถึงความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ยังดีกว่าหลายเมืองในต่างประเทศ

(2) สัดส่วนวงเงินสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value ratio: LTV) เป็นสัดส่วนที่กำหนดว่าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะสามารถพึ่งพาสินเชื่อจากธนาคารได้มากน้อยเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น หาก LTV=80% ธนาคารจะให้สินเชื่อ 80% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย และผู้ซื้อจะต้องจ่ายส่วนที่เหลืออีก 20% จากเงินออมหรือจากแหล่งทุนอื่น หรือที่เรียกว่า "เงินดาวน์" นั่นเอง ดังนั้น LTV ที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เงินดาวน์ลดลง ประชาชนจึงใช้เวลาสั้นลงในการออมเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น

ในช่วงปี 2551-2553 ผู้กู้เพื่อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยได้ LTV เฉลี่ยอยู่ที่ 82.9% โดยในช่วงปี 2552 LTV ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เนื่องจากเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารจึงเข้มงวดกับมาตรฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น ทว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 เป็นต้นมา LTV มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ประกอบกับธนาคารแข่งขันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยกันมากขึ้น โดยล่าสุดในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 LTV เฉลี่ยอยู่ที่ 85.2

(3) สัดส่วนรายได้ครัวเรือนต่อรายได้ที่เพียงพอในการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย (Household Income to Mortgage Qualifying Income ratio) เนื่องจากเครื่องชี้นี้รวบรวมมิติด้านรายได้ ด้านราคา และด้านการเงินไว้ด้วยกัน เครื่องชี้นี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Housing Affordability Index (HAI) โดย HAI ที่สูงขึ้นสะท้อนความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น สำหรับค่า HAI ที่เหมาะสมควรสูงกว่า 100 ซึ่งหมายความว่า ครัวเรือนมัธยฐานมีรายได้เพียงพอที่จะสามารถขอสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคามัธยฐานได้ ณ อัตราดอกเบี้ยและระยะเวลาผ่อนชำระในปัจจุบัน*(3) โดย HAI จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่างๆ ดังตารางที่ 2

ตารางที่ 2

ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ กับ HAI

      ตัวแปร        ความสัมพันธ์กับ HAI
 ราคาที่อยู่อาศัย           แปรผกผัน
ระยะเวลาการผ่อนชำระ    แปรผันตรง
 อัตราดอกเบี้ย            แปรผกผัน
รายได้ของครัวเรือน       แปรผันตรง

เนื่องจากค่าสถิติรายเดือนของ HAI ค่อนข้างผันผวน จึงควรพิจารณา HAI ในมิติเวลาที่ยาวขึ้น เช่น รายไตรมาสหรือรายปี โดยค่าเฉลี่ยของ HAI ในปี 2551 2552 และ 2553 อยู่ที่ 153.3 149.7 และ 149.4 ตามลำดับ ทั้งนี้ การลดลงของ HAI ในช่วงดังกล่าวเกิดจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ และสำหรับในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ดี ค่าสถิติ HAI อยู่สูงกว่า 100 มาโดยตลอด สะท้อนว่าโดยทั่วไปผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์มีความสามารถในการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในเกณฑ์ดี

ล่าสุด HAI ปรับสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยปี 2553 มาอยู่ที่ 153.1 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ราคาที่อยู่อาศัยมัธยฐานที่ปรับลดลง และระยะเวลาการผ่อนชำระเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้นจากการแข่งขันปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ทำให้ HAI ลดลง

(4) สัดส่วนค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อรายได้ (Mortgage Repayment to Income ratio) หากสัดส่วนค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายได้สูงขึ้น ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยจะลดลง เนื่องจากครัวเรือนจะมีรายได้เหลือน้อยลงสำหรับใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เพื่อดำรงชีวิต เกณฑ์มาตรฐานสากล คือ ครัวเรือนไม่ควรจ่ายค่าที่อยู่อาศัยมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับวิธีปฏิบัติตามปกติของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งกำหนดวงเงินสินเชื่อสูงสุดโดยพิจารณาเงินผ่อนชำระต่องวดไม่ให้เกินร้อยละ 30-40 ของรายได้ต่อเดือนของผู้กู้

สำหรับครัวเรือนที่จ่ายค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้จะจัดอยู่ในกลุ่ม Housing Stress ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่วัฏจักรขาลง เพราะเมื่อรายได้ลดลงหรือตกงาน ครัวเรือนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงที่จะผ่อนชำระไม่ไหวจนผิดนัดชำระหนี้ กลายเป็นหนี้เสีย และอาจถูกยึดบ้านขายทอดตลาดในที่สุด

ในกรณีของประเทศไทยพบว่า สัดส่วนค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่อรายได้ของผู้กู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากล 30% ของรายได้ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 23.9% ของรายได้ อย่างไรก็ดี ผู้กู้กลุ่ม Housing Stress เริ่มมีสัดส่วนสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 30.2% ของผู้กู้ทั้งหมด ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวรวมเฉพาะผู้ขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ โดยไม่ครอบคลุมถึงผู้ขอสินเชื่อจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 40) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้ปานกลาง-ต่ำ ดังนั้น ค่าสถิตินี้จึงอาจต่ำเกินจริง (Underestimate) ไปบ้าง

อนึ่ง เครื่องชี้หลายตัวที่กล่าวมาไม่เพียงสามารถใช้ในการประเมินภาวะปัจจุบัน แต่ยังอาจใช้ติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงเพื่อประเมินความเสี่ยงของภาคครัวเรือนได้ เช่น สามารถตอบคำถามว่าหากอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น หรือหากอัตราการขยายตัวของรายได้ต่ำลง สัดส่วนครัวเรือนในกลุ่มHousing Stress จะเพิ่มขึ้นเท่าใด ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากระยะเวลาการผ่อนชำระหนี้ของผู้ซื้อบ้านมักยาวนาน 20-30 ปี และในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ซื้อคงต้องเผชิญกับความผันผวนทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย

สรุป

จากเครื่องชี้ทั้ง 4 ตัวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทย ณ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อยู่ในเกณฑ์ดี โดย Price to Income Ratio (Median Multiple) ใกล้เคียงค่ามาตรฐาน ขณะที่ LTV ผ่อนคลายมากขึ้นจากการแข่งขันระหว่างธนาคาร สอดคล้องกับ HAI ที่ปรับตัวดีขึ้นจากระยะเวลาผ่อนชำระเฉลี่ยที่ยาวนานขึ้น ส่วน Repayment to Income ratio ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผู้กู้กลุ่ม Housing Stress เริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งจากการผ่อนคลายเกณฑ์การให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารเพื่อแข่งขันแย่งชิงลูกค้า

แม้การผ่อนคลายมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารจะมีข้อดีที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่อาจทำให้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นในอนาคต ทางการจึงควรติดตามความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยข้างต้นและความเสี่ยงทางการเงินของภาคครัวเรือนผ่านเครื่องชี้ที่รอบด้าน อีกทั้งผู้ขอสินเชื่อและธนาคารควรพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระในระยะยาวอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจกู้เงินหรือปล่อยสินเชื่อ เพื่อให้ผู้กู้เงินซื้อบ้านในวันนี้ได้เป็นเจ้าของบ้านสมดังใจในวันหน้า โดยไม่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารอย่างไม่สมัครใจไปเสียก่อน

*(1) ในปี 2553 ราคาประเมินหลักประกันมัธยฐานอยู่ที่ 2.3 ล้านบาท/หลัง ขณะที่รายได้ผู้กู้มัธยฐานอยู่ที่ 7.2 แสนบาท/ปี

*(2) รายได้ครัวเรือนโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2552 อยู่ที่ 452,784 บาท/ปี สำหรับราคาประเมินมัธยฐานมาจากฐานข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ของ ธพ. ซึ่งค่าเฉลี่ยในปี 2552 อยู่ที่ 2,272,800 บาท/หลัง

*(3) วิธีคำนวณ HAI แสดงไว้ในภาคผนวก

References

Hawtrey, Kim. (2009) Affordable Housing Finance , London: Palgrave Macmillan.

Cox, Wendell. and Hugh Pavletich (2011) 7th Annual Demographia International Housing Affordability Survey: 2011 Demographia and Performance Urban Planning.

Robinson, Mark, Grant M. Scobie, and Brian Hallinan. (2006) Affordability of Housing Concepts, Measurement and Evidence New Zealand Treasury Working Paper 06/03.

ผู้เขียนขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำในการปรับปรุงบทความจาก คุณรุ่ง มัลลิกะมาส คุณนันทวัฒน์ สังข์หล่อ คุณวรางคณา อิ่มอุดม คุณรุจา อดิศรกาญจน์ และขอบคุณเป็นพิเศษสำหรับคุณอรนุช วงศ์ปิยะบวร ซึ่งทำหน้าที่ผู้ช่วยวิจัยด้วยความขยันขันแข็งอย่างดียิ่ง

Contact author:

Mr. Nitisan Phongpiyaphaiboon

NitisanP@bot.or.th

Economist Economic Intelligence Team Domestic Economy Department

Monetary Policy Group

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ