
การประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา มีนายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานฯ ร่วมด้วย น.ส.รัชนก ศรีนอก ส.ส.พรรคประชาชน ผู้ยื่นหนังสือร้องกรณีขาดคุณสมบัติของประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย น.ส.รัชนก และ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกสทช.อ้างถึงรายงานผลการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา ชุดก่อน
ที่ประชุมเร่งกระบวนการส่งหนังสือทวงถามถึงนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เป็นกลางด้านกฎหมาย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้มาร่วมชี้แจงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
น.ส.นุชนาถ เกษมพิบูลย์ไชย รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบายแง่มุมกฎหมายว่า กรณีมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามเป็นกรรมการ ควรเป็นหน้าที่และอำนาจของ "คณะกรรมการสรรหา" และคำวินิจฉัยนั้นถือเป็นที่สิ้นสุด
"กรณีที่มีข้อสงสัยจึงต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะที่เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการสรรหาเมื่อวินิจฉัยแล้ว หากพบว่ากรรมการมีคุณสมบัติ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี แต่หากพบว่ามีลักษณะต้องห้าม ต้องส่งเรื่องให้นายกฯนำความกราบบังคมทูลเพื่อให้พ้นตำแหน่ง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย สามารถฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง แต่จะไม่เป็นเหตุให้ระงับการสรรหาที่ดำเนินการไปแล้ว และไม่มีผลต่อกิจการที่ทำไว้ก่อนจะมีคำพิพากษา
นางนพเก้า สุขะนันท์ รองเลขาธิการวุฒิสภา ชี้แจงที่ประชุมสรุปว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการสรรหาและคัดเลือกกรรมการกสทช. มาตรา 15/1 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับแก้ไขที่ 4 พ.ศ.2565 กำหนดให้กรรมการสรรหา มีอำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติ "ผู้สมัคร" เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจวินิจฉัยคุณสมบัติต้องห้ามของ "กรรมการกสทช." ดังนั้น ตรงนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรรมการสรรหา
"การพิจารณารายงาน คณะกรรมการธิการไอซีที วุฒิสภา ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังและละเอียดรอบคอบ อาจมีการโต้แย้งได้ง่าย" ล่าสุดทางประธานวุฒิสภา ได้ให้สำนักกฎหมายจัดทำความเห็น โดยเห็นว่า "ควรส่งเรื่องกลับไปยังคณะกรรมาธิการ เนื่องจากหากคณะกรรมาธิการมีข้อสงสัยข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะ ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ประกอบข้อบังคับการประชุม กล่าวคือ จะต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาก่อน จึงสามารถส่งรายงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้"
การอ้างอิงกรณี นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกสทช. พ้นจากตำแหน่งเพราะขาดคุณสมบัตินั้น ข้อเท็จจริงก็คือ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นเหตุให้มี ลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 7 ภายหลังศาลมีคำพิพากษาแล้ว ได้ส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้นายกรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง "โดยกระบวนการดังกล่าวไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาดำเนินการชี้ขาด ด้วยเหตุนี้วุฒิสภาจึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบอย่างยิ่ง"
อีกประเด็นที่ น.ส.รัชนก เร่งรัดคือกรณีของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการ กสทช. ที่ดำรงตำแหน่งมา 5 ปี ยังไม่มีการตั้งเลขาธิการกสทช.อย่างเป็นทางการ ขณะที่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า นายไตรรัตน์ เป็นรองเลขาธิการกสทช. เมื่อ 1 พฤษภาคม 2563 และเป็นรักษาการเลขาธิการกสทช. เมื่อ 10 มิถุนายน 2563 เนื่องจากนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออก แต่ปัญหาคือตำแหน่งรองเลขาธิการกสทช.ฝ่ายยุทธศาสตร์ สัญญาจ้างหมดวันที่ 30 เมษายน 2568 ควรต้องได้รับการประเมินจากกรรมการกสทช.
นางยุพา ทรัพย์ยิ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. ชี้แจงที่ประชุมว่า กรณีการต่อวาระการดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการกสทช. ทางสำนักงานกสทช.ได้ดำเนินการโดยยึดหลักการ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งรองเลขาธิการสายงานยุทธศาสตร์และกิจการองค์กร ตามระเบียบว่าด้วย การบริหารงานบุคคลสามารถต่อวาระดำรงตำแหน่งได้ ภายใต้เงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยเลขาธิการ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรองเลขาธิการฯ ดำรงตำแหน่งรักษาการ เลขาธิการกสทช.ขณะนั้นสำนักงานจึงเสนอให้ประธานกสทช. เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานแทน
"รักษาการเลขาธิการกสทช.ผ่านการประเมิน จึงได้รับการต่อวาระการทำงาน กลับเข้าสู่การเป็นพนักงานประจำ ซึ่งเป็นไปตามปกติ กสทช. ชุดเดิม และระเบียบบริหารงานบุคคล ได้ปรับแก้ไขให้สอดคล้องกัน"สำหรับประเด็นคุณสมบัติประธานกสทช. ข้อเท็จจริงเป็นไปตาม หนังสือที่ส่งมาจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 มกราคม 2568 พร้อมเอกสารแนบ หนังสือสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ชี้แจงว่า "รายงานของ คณะกรรมาธิการไอซีที วุฒิสภา เป็นเอกสารที่ดำเนินการภายในยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ ที่ประชุมวุฒิสภา ยังมิได้พิจารณาเห็นชอบด้วย และเมื่ออายุวุฒิสภาสิ้นสุดลง การดำเนินการของคณะกรรมาธิการย่อมสิ้นสุดลงด้วย"
ขณะที่หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า "จะรับพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและมีข้อยุติแล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นประเด็นยังไม่ชัดเจนจึงไม่อาจรับข้อหารือเพื่อพิจารณาความเห็นได้"