ปาฐกถาพิเศษ: แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2012 16:09 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

เรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56”

โดย นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ

รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

ในงานสัมมนา “สแกนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 56 โอกาสและความท้าทายใหม่”

จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ

ณ ห้องบอลรูม ชั้น C โรงแรมแกรนด์เซ็นเตอร์พอยท์โฮเต็ลแอนด์เรตซิเด้นท์ สุขุมวิท เทอร์มินอล 21

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 เวลา 13.15-14.00 น.

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

          ดิฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาร่วมงานในวันนี้ และขอขอบคุณหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจที่ให้โอกาสธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนร่วมในการสัมมนาเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง

          ปาฐกถาพิเศษในวันนี้มีหัวข้อว่า “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 56” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเรื่องที่กำลังได้รับความสนใจเพราะเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ และหลายท่านก็คงอยากทราบว่า ธปท. ในฐานะผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ติดตามพัฒนาการทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด จะมองภาพเศรษฐกิจไทยในปีหน้าอย่างไร ดิฉันคิดว่ามี 3 ประเด็นหลักที่อยากจะกล่าวถึง ประเด็นแรก ได้แก่ สุขภาพโดยทั่วไปของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ประเด็นต่อมา คือความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยที่ควรจับตามอง และประเด็นสุดท้าย คือ ผลต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งแนวนโยบายที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งดิฉันหวังว่าการแลกเปลี่ยนมุมมองในวันนี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์บ้าง

ช่วงที่ 1: มองภาพเศรษฐกิจโลกและแนวโน้มเศรษฐกิจไทย

ท่านผู้มีเกียรติคะ

          ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักต้องเผชิญกับปัญหาด้านการเงินการธนาคาร รวมทั้งการคลัง ทำให้บทบาทในการเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกตกเป็นของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ หรือ Emerging Markets ที่ยังเติบโตได้พอควรแทน ในปี 2554 ที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 3.8 นั้น เกือบร้อยละ 3.0 เป็นการเติบโตมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นี้เอง*(1) โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังเติบโตได้ในขั้นดี และมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า แม้เศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ยังเติบโตได้พอควรในปัจจุบัน แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจเหล่านี้ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศอุตสาหกรรมหลัก หรือ G3 ที่ถือว่าเป็นผู้บริโภครายใหญ่อยู่ค่อนข้างมาก ซึ่งหากเศรษฐกิจของ G3 ยังมีแนวโน้มซบเซาต่อไปอีก เศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็จะได้รับผลกระทบในท้ายที่สุดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          เศรษฐกิจไทยก็เช่นกัน นอกจากจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวมาระยะหนึ่งเช่นเดียวกับประเทศอื่นในภูมิภาคแล้ว ในปีก่อนเรายังถูกซ้ำเติมจากอุทกภัยที่ทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมส่วนหนึ่งต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว แต่ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยที่ดี ผู้บริโภคยังคงมีความเชื่อมั่น ทำให้มีความต้องการซื้อสินค้าอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนภาครัฐเองก็มีมาตรการสนับสนุนการฟื้นฟูความเสียหาย ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาผลิตและดำเนินการตามปกติได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และกำลังซื้อในประเทศที่ยังแข็งแกร่งนี้เอง จะเป็นปัจจัยหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดย ธปท. คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.7

          สำหรับแนวโน้มในปี 2556 คาดว่าภาคการส่งออกจะยังได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกที่จะอ่อนแอต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง แต่การจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน จะสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 4.6 โดยปัจจัยที่จะเป็นแรงหนุนการใช้จ่ายมาจากแนวโน้มรายได้ของครัวเรือน การจ้างงาน และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ภาครัฐเองก็มีแผนชัดเจนที่จะเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับการลงทุนของภาคเอกชนได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ภาวะการเงินยังคงผ่อนคลาย เห็นได้จากต้นทุนการกู้ยืมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารพาณิชย์เองก็ยังมีความพร้อมที่จะปล่อยสินเชื่อ นักลงทุนยังมีความต้องการหุ้นกู้ของภาคเอกชนทำให้คาดว่าจะช่วยพยุงกำลังซื้อและการลงทุนในประเทศให้ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยทดแทนความต้องการจากต่างประเทศต่อสินค้าและบริการของไทยได้ส่วนหนึ่ง

          สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นกังวล ส่วนในปี 2556 นั้น อัตราเงินเฟ้อน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็มีปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงกว่าคาดบ้าง ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างราคาพลังงานของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง และ (2) การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันทั่วประเทศตั้งแต่ต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจในระยะต่อไป

ช่วงที่ 2 : สามปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามองในระยะข้างหน้า

ท่านผู้มีเกียรติคะ

          แต่ภายใต้ภาพเศรษฐกิจที่เรามองนี้เอง ก็มีปัจจัยที่อาจถือได้ว่าเป็นความไม่แน่นอนแฝงอยู่ และอาจทำให้ทิศทางเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยแตกต่างไปจากที่คาดไว้ ซึ่งดิฉันอยากจะกล่าวถึงปัจจัยหลักที่ควรจับตามองเหล่านี้ 3 ปัจจัยด้วยกัน

          ปัจจัยแรก คือแนวโน้มการฟื้นตัวและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งนอกจากจะขึ้นอยู่กับการแก้ปัญหาทั้งในตลาดการเงิน รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักแล้ว พัฒนาการในระยะต่อไปของเศรษฐกิจจีนที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกก็มีความสำคัญ

          สิ่งหนึ่งที่ควรจับตามองและเชื่อว่าหลายฝ่ายก็กำลังติดตามสถานการณ์อยู่ในขณะนี้ คือ ความเป็นไปได้ของการต่ออายุมาตรการกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ ที่จะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ หรือที่เรียกว่า Fiscal cliff ทั้งการปรับขึ้นอัตราภาษีกลับไปสู่ระดับเดิม และการลดรายจ่ายของภาครัฐ โดยคิดเป็นการลดลงของแรงกระตุ้นทางการคลังที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 3.5 ของ GDP สหรัฐฯ แม้ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะชี้ว่า ทางการจะยังสานต่อแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทำอยู่ต่อไป แต่กระบวนการทางการเมืองสู่ข้อสรุปเพื่อต่ออายุมาตรการเหล่านี้ออกไปอาจไม่ง่ายนัก โดยทางการสหรัฐฯ ประเมินว่าหากภาคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้และมาตรการดังกล่าวต้องสิ้นสุดลง เศรษฐกิจสหรัฐฯ คงจะกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งในปีหน้า (หดตัวร้อยละ 0.3*(2)) หรือถ้าต่ออายุมาตรการทั้งหมดหรือบางส่วนออกไป ก็จะกระทบต่อเพดานหนี้สาธารณะซึ่งอาจส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจไทยก็อาจขยายตัวได้ต่ำกว่าร้อยละ 4.6*(3) ที่ประเมินไว้ (ตัวเลขประมาณการของ ธปท. ประเมินว่าจะมีการต่ออายุมาตรการออกไปส่วนหนึ่ง)

          สำหรับเศรษฐกิจจีนนั้น ธปท. มองว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ในช่วงนี้เราคงจะไม่เห็นการขยายตัวในระดับร้อยละ 8-9 อย่างที่เคยเป็นในอดีต จากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอ ซึ่งกระทบต่อการส่งออกของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจีนยังต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักอยู่พอควร (สัดส่วนการส่งออกของจีนไปยังประเทศเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 43 ของการส่งออกทั้งหมด และการส่งออกมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 30 ของ GDP) และ (2) ทางการจีนหันมาให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น จากที่เคยมุ่งการเติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการส่งออก มาเป็นการเติบโตแบบมีเสถียรภาพและมีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมเป็นหลักรวมถึงมุ่งเน้นที่จะปรับสมดุลของเศรษฐกิจให้หันมาพึ่งพาการจับจ่ายใช้สอยในประเทศมากขึ้น ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่าทางการจีนจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันผลกระทบจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกได้มากน้อยเพียงใด

          และจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอ่อนแอนี้เอง ทางการในประเทศอุตสาหกรรมหลักจึงต้องมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความเสี่ยง และกลายมาเป็นปัจจัยที่สอง ได้แก่ ความกังวลถึงผลของการไหลเข้าของเงินทุนมาสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อค่าเงินและราคาสินทรัพย์อื่นๆ ได้ ในประเด็นนี้ หัวใจสำคัญก็คือการที่ประเทศอุตสาหกรรมหลัก อาทิ สหรัฐฯ ประกาศว่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนที่แท้จริงในประเทศเหล่านี้ยิ่งไม่น่าจูงใจเมื่อเทียบกับในตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนที่แท้จริงที่ดีกว่า ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าประเทศ G3 ที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่นักลงทุนจะต้องแสวงหาตลาดที่ยังคงมีพื้นฐานและอัตราผลตอบแทนที่ดี ซึ่งภูมิภาคเอเชีย ก็ถือเป็นโอกาสดังกล่าวให้กับนักลงทุน

          สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น มาตรการผ่อนคลายทางการเงินล่าสุดของสหรัฐฯ และยุโรป อาจไม่ได้ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้ามายังไทย และส่งผลต่อราคาสินทรัพย์ รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน เท่ากับการดำเนินมาตรการคล้ายคลึงกันในรอบก่อนๆ โดย 3 สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยเป็นที่น่าดึงดูดต่อนักลงทุนน้อยลงได้แก่ (1) เศรษฐกิจไทยแม้ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ขยายตัวสูงเท่ากับช่วงการผ่อนคลายครั้งก่อนๆ (2) นักลงทุนมีทางเลือกในการกระจายการลงทุนไปยังตลาดในภูมิภาคอื่นที่ยังมีอัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่ยังอยู่ในระดับสูง เช่น ละตินอเมริกา มากขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินทรัพย์ของไทยถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร หรืออาจกล่าวได้ว่าสินทรัพย์บ้านเราเริ่มจะแพง สะท้อนจากอัตราส่วนราคาหลักทรัพย์ต่อผลตอบแทน (P/E ratio) ที่เพิ่มขึ้นมาพอควร โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ค่า P/E ratio อยู่ที่ 17.5 เท่า สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาที่ 13.3 เท่า ซึ่งทำให้โอกาสในการทำกำไรจากการลงทุนในตลาดทุนของไทยในมุมมองต่างชาติน่าจะมีน้อยลง และ (3) มาตรการผ่อนคลายด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายของ ธปท. ที่เอื้อให้นักลงทุนคนไทยออกไปลงทุนยังต่างประเทศได้สะดวกขึ้น จะช่วยสร้างสมดุลและลดแรงกดดันจากเงินทุนไหลเข้าได้ส่วนหนึ่ง

          และแม้จะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าที่สร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง แต่ ธปท. มีแนวนโยบายในการดูแลให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และค่าเงินสกุลของประเทศในภูมิภาค เพื่อให้ภาคเอกชนยังสามารถแข่งขันได้ อีกทั้งดูแลไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวผันผวนมาก แต่ขณะเดียวกัน เราคงต้องมองว่า ในวิกฤตก็มีโอกาส เพราะการที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศเป็นโอกาสของทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และสินทรัพย์ต่างประเทศ ทั้งในรูปเงินตราต่างประเทศและเงินบาทก็มีราคาถูกลงด้วย

          นอกจากปัจจัยภายนอกประเทศทั้ง 2 ด้านที่ได้กล่าวไปแล้ว ปัจจัยสุดท้าย คือ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศเอง ทั้งจากภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่จะเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและการส่งออกยังอ่อนแอ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ อาทิ การเพิ่มรายได้ และการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อรถคันแรกและบ้านหลังแรก ในระยะต่อไปที่ผลของมาตรการเหล่านี้จะทยอยหมดลง เราต้องจับตาการดำเนินมาตรการเสริมด้านอื่นๆ รวมทั้งการใช้จ่ายด้านต่างๆ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ตลอดจนปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นทุนการกู้ยืมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในการช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้แม้ไม่หวือหวาร้อนแรง แต่ก็ราบรื่น และไม่ควรสะดุดลงในระยะข้างหน้า

ช่วงที่ 3 : นัยต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย และแนวทางการดำเนินนโยบายของ ธปท.

ท่านผู้มีเกียรติคะ

          ดิฉันคิดว่าทุกท่านคงพอมองเห็นภาพเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าได้อย่างชัดเจนพอควร หลายท่านในที่นี้คงมีคำถามในใจว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างไร และ ธปท. มีแนวทางในการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้อย่างไรบ้าง

          สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังขยายตัวดี จะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน จากการติดตามความเคลื่อนไหวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ยังไม่เห็นสัญญาณความไม่สมดุลทั้งด้านราคาและปริมาณที่อยู่อาศัย แม้ราคาจะมีการเร่งตัวขึ้นบ้างในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคาคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า แต่ก็สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงและต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ผู้กู้เองก็ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ยังมิได้ผ่อนคลายลงจนเป็นความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อ

          ในด้านความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในต่างประเทศ (QE) ต่อการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยนั้น ที่ผ่านมาเห็นผลไม่มากนัก อีกทั้งการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตพบว่า การเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการไหลเข้าออกของเงินลงทุนจากต่างประเทศมากนัก แตกต่างจากบางประเทศในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ที่มาตรการ QE ส่งผลกระทบต่อราคาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพามาตรการเสริม เช่น การกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan-to-Value Ratio: LTV) ในการช่วยดูแลปัญหาฟองสบู่พอควรในช่วงที่ผ่านมา

          ในกรณีของไทย คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้ประกาศมาตรการดูแลความไม่สมดุลในภาคอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วเมื่อปี 2553 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งการออกมาตรการดังกล่าว ถือว่าอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี แม้จะยังไม่มีสัญญาณของปัญหาฟองสบู่เกิดขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์อยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง และมีแนวโน้มที่จะปล่อยสินเชื่อที่มี LTV มากกว่าร้อยละ 90 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การออกมาตรการ LTV โดยให้ธนาคารพาณิชย์กันสำรองสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ก็เพื่อป้องกันพฤติกรรมเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่อาจสูงขึ้นในอนาคต และเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพิ่มความระมัดระวังในการทำธุรกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น โดยให้ส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อผู้บริโภค ทั้งนี้ มาตรการสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนวสูงหรือคอนโดมีเนียมได้ออกใช้แล้วตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และในช่วงต้นปีถัดไป มาตรการ LTV สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยในแนวราบก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังจากที่ถูกเลื่อนออกไปเมื่อเกิดอุทกภัยในปีก่อน การบังคับใช้มาตรการ LTV ดังกล่าวนี้ จึงมิได้สะท้อนว่า ธปท. เห็นว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น แต่เป็นการมองภาพระยะยาวเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจมากขึ้นในการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวมในการรองรับความเสี่ยง และสนับสนุนให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน

          สำหรับแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้านั้น ธปท. ยึดหลักการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยโดยพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจอย่างรอบคอบและรอบด้าน และคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ การดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และการรักษาสมดุลในภาคการเงินควบคู่กันไป ถ้าพิจารณาแล้วพบว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมีเพิ่มขึ้นหรือเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อและเสถียรภาพทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นกังวลนโยบายการเงินก็พร้อมที่จะผ่อนปรนเพิ่มเติม เพื่อช่วยสนับสนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินได้ต่อไปอย่างราบรื่น ในขณะเดียวกัน หากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมีมากขึ้น รวมถึงหากพบสัญญาณความไม่สมดุลเกิดขึ้นในระบบการเงิน ธปท. ก็อาจจะต้องใช้นโยบายการเงินรวมทั้งมาตรการเสริมเพื่อดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว

ท่านผู้มีเกียรติคะ

          ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกทุกวันนี้ เศรษฐกิจไทยยังคงสามารถก้าวไปข้างหน้าได้จากพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ภาคเอกชนเองแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา แต่เราทุกคนก็ไม่ควรวางใจ และต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรองรับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ สำหรับ ธปท. นั้น จะรักษาหลักการในการทำนโยบายตามหน้าที่ของธนาคารกลาง โดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเศรษฐกิจ และการประเมินภาพเศรษฐกิจที่ได้พิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมอย่างรอบคอบ รอบด้าน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ และเอื้อประโยชน์กลับไปสู่ภาคธุรกิจและประชาชนได้มากที่สุด


ขอบคุณค่ะ


หมายเหตุ: *(1) ข้อมูลจาก World Economic Outlook, October 2012 คำนวณโดย ธปท.
         *(2) Congressional Budget Office, An Update to the Budget and Economic Outlook:
              Fiscal Years 2012 to 2022, August 2012
         *(3) ธปท. ประเมินไว้ในกรณีฐานว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังของสหรัฐฯ จะหายไป
              คิดเป็นมูลค่าร้อยละ 1-1.5 ของ GDP จากมูลค่าทั้งหมดประมาณ 5.6 แสนล้านดอลลาร์ สรอ.



          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ