สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 14:43 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 9/2556

ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2556 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลผลิตภาคเกษตรสาคัญลดลง ได้แก่ ผลผลิตยางและกุ้งขาว ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรลดลงตามราคายางและปาล์มน้ำมันที่ลดลงจากแรงกดดันด้านสต็อกที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรและมูลค่าการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดี

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

ผลผลิตเกษตรลดลงร้อยละ 1.1 เนื่องจากผลผลิตยางลดลงจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยและกุ้งขาวประสบปัญหาโรคระบาด ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 18.8 ตามราคายางและปาล์มน้ำมันที่ลดลงจากปริมาณสต็อกอยู่ในระดับสูง และราคาตลาดโลกที่ลดลงตามราคาในตลาดซื้อขายล่วงหน้า แม้ว่าราคากุ้งขาวจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.6 ก็ตาม ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 19.7

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 โดยอุตสาหกรรมอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ตามความต้องการของตลาดตะวันออกกลาง ประกอบกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเริ่มมีคำสั่งซื้อมากขึ้น รวมทั้งอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นจากปริมาณวัตถุดิบเข้าสู่โรงงานมากขึ้น นอกจากนี้การผลิตยางแปรรูปและถุงมือยางปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามการผลิตอาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูปลดลงจากการขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด

ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวยังขยายตัวสูงร้อยละ 16.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมท่องเที่ยว การเพิ่มเที่ยวบินและเปิดเส้นทางบินจากต่างประเทศมายังแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งผลให้อัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 71.2 โดยนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเป็นนักท่องเที่ยวจากจีน รัสเซียและมาเลเซีย เป็นสำคัญ

สำหรับการบริโภคและการลงทุนขยายตัวดี จากรายได้การท่องเที่ยวและการผลิตเพิ่มขึ้น ประกอบกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.3 ตามการขยายตัวของเครื่องชี้ในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเร่งตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จากที่ลดลงร้อยละ 3.3 ในไตรมาสก่อน ยกเว้นการจาหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงตามรายได้เกษตรกร ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.0 โดยเฉพาะยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นตามภาคก่อสร้างที่ยังขยายตัวดี

มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 3.6 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ลดลงร้อยละ 12.7 เนื่องจากการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและไม้ยางแปรรูปเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการส่งออกยางพารา สัตว์น้ำ และถุงมือยางยังคงลดลง สำหรับการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 ชะลอลงตามการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ ซึ่งได้มีการนำเข้ามากในไตรมาสก่อน ขณะที่มูลค่านำเข้าสัตว์น้ำเร่งตัวขึ้น

เงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 25.0 เป็นผลต่อเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ รถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก ที่สิ้นสุดโครงการเมื่อธันวาคม ปี 2555 ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค สำหรับเงินฝากขยายตัวร้อยละ 7.1 ชะลอลงจากร้อยละ 13.1 ใน ไตรมาสก่อน เนื่องจากมีการนำเงินฝากไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ารายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.4 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ นิติบุคคลของสรรพากร เป็นสำคัญ ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการลดลงร้อยละ 6.1 ตามการลดลงของเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.05 ชะลอจากร้อยละ 3.49 ในไตรมาสก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ที่ชะลอลงจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.12 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.79

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ