สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนเมษายน ปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2013 13:19 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 11/2556

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนเมษายน 2556 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามผลผลิตพืชเกษตรที่เพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี รวมทั้งยังมีแรงส่งจากการอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อที่ยังขยายตัว อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรและมูลค่าการส่งออกลดลงจากผลทางด้านราคา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงตามภาคก่อสร้าง ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ เงินเฟ้อชะลอตัวต่อเนื่องตามราคาพลังงาน และอัตราว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคใต้ มีดังนี้

การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันและยางพาราที่ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.6 ตามการผลิตไม้ยางแปรรูป ยางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและน้ำมันปาล์มดิบ ยกเว้นอาหารทะเลแช่แข็งการผลิตลดลงติดต่อกันมา 3 เดือน เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบกุ้งขาวที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 24.4 ตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากสต็อกทั้งในประเทศและโลกยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 15.6 และมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 13.6

ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 22.1 โดยนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกแหล่งท่องเที่ยวโดยเฉพาะจังหวัดภูเก็ตที่มีการจัดประชุมและงานสัมมนาระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีการเพิ่มเที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศในจังหวัดภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี สอดคล้องกับอัตราการเข้าพักของโรงแรมที่สูงขึ้นจากร้อยละ 63.0 ของเดือนเดียวกันปีก่อน เป็นร้อยละ 67.4 ในเดือนนี้

ขณะเดียวกันการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 5.0 ปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวขยายตัวดี โดยเครื่องชี้การอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นร้อยละ 10.1 จากธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร นอกจากนี้หมวดยานยนต์ยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.4 เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบรถยนต์ตามนโยบายรถยนต์คันแรก สอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อขยายตัวร้อยละ 26.5 ทั้งสินเชื่ออุปโภคบริโภคจากการเช่าซื้อรถ และสินเชื่อภาคธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อประเภทขายส่งขายปลีกและสินเชื่อโรงแรมภัตตาคารขยายตัวต่อเนื่อง

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.5 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 ในเดือนก่อนตามการลงทุนภาคการก่อสร้างที่ชะลอตัวลง หลังจากที่ขยายตัวมากในช่วงก่อนหน้า โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเฉลี่ยเคลื่อนที่ย้อนหลัง 12 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ชะลอจากร้อยละ 8.3 ในเดือนก่อน

การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 ตามการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ ของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และการเบิกจ่ายในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นส่าคัญขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ตามการจัดเก็บภาษีทุกประเภท

ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.21 ชะลอลงจากร้อยละ 2.76 ในเดือนก่อน ตามการชะลอลงในดัชนีราคาเกือบทุกหมวด ประกอบกับหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารลดลงร้อยละ 0.18 โดยเป็นผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าโดยสารในท้องถิ่นลดลง ตามราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อ่อนลง

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: ส่วนเศรษฐกิจภาค โทรศัพท์ 0-7427-2000 ต่อ 4716

e-mail : Arunyas@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ