แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2557

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 30, 2014 14:33 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2557

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนสิงหาคม 2557 ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับรายจ่ายของภาครัฐจากงบประจำที่ยังขยายตัว จึงส่งผลให้ยอดจำหน่ายโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้ายังขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม รายได้ของเกษตรกรที่ยังคงหดตัว ทำให้การอุปโภคบริโภคฟนตัวได้ค่อนข้างช้า ส่งผลให้การค้าโดยรวม และการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว แต่การลงทุนในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับปกติ โดยอัตราเงินเฟออยู่ที่ร้อยละ 2.52 และการว่างงานอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0.6

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีดังนี้

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยับสูงขึ้นเป็นลำดับมาอยู่ที่ระดับ 47.5 สะท้อนจากยอดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า และการค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ยังคงขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีประกอบกับการค้าปลีกสินค้าคงทนก็หดตัวน้อยลงทั้งการค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟาและเครื่องใช้ในครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ภาคการค้าโดยรวมยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว โดยดัชนีการค้าลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ทั้งการค้าปลีกและการค้าส่ง สำหรับภาคบริการ อัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 47.4 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักโรงแรมอยู่ที่ร้อยละ 49.9 แต่รายได้ภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาค่าห้องพักและการจัดประชุมสัมมนา

ด้านการลงทุนภาคเอกชนดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.0 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามภาคการก่อสร้างเป็นสำคัญ สะท้อนจากพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.2 และหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัยใน 4 จังหวัดหลักของภาคอีสาน รวมทั้งจังหวัดสกลนครและมุกดาหาร เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังระมัดระวังในการลงทุนและรอความชัดเจนจากนโยบายของภาครัฐ สอดคล้องกับยอดจำหน่าย วัสดุก่อสร้างที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระยะต่อไปยังคงมีแนวโน้มปรับดีขึ้น สะท้อนจากเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แม้จะลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 75.5 แต่หาก ไม่รวมการลงทุนสูงในหมวดบริการและสาธารณูปโภคในปีก่อน เงินลงทุนยังคงเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 211.8

การใช้จ่ายของรัฐ ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.5 จากที่เพิ่มขึ้นในเดือนก่อน ทั้งนี้ เป็นผลจากการเบิกจ่ายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นลดลง เนื่องจากมีการเบิกจ่ายมากในช่วงก่อนหน้าสำหรับรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ตามรายจ่ายหมวดเงินเดือนเป็นสำคัญ

ภาคเกษตรกรรมดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน เป็นผลจากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยดัชนีราคาพืชสำคัญลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.5 และหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ลดลงจากการเริ่มระบายสต็อกของทางการ ส่วนราคายางพาราลดลงตามราคาตลาดโลก สำหรับราคามันสำปะหลังลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการไม่เร่งซื้อ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นพืชทดแทนมีผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.4 ตามผลผลิตยางพาราที่มีพื้นที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกเมื่อหลายปีก่อน

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.1 และลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ยังคงหดตัว เนื่องจากสต็อกสินค้ายังอยู่ในระดับสูงจากการบริโภคที่ชะลอลง ส่วนการผลิตน้ำตาลทรายลดลง จากสต็อกน้ำตาลโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังขยายตัวตามความต้องการจากตลาดต่างประเทศ

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2557 ธนาคารพาณิชย์ มีเงินฝากคงค้าง 604.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.5 และขยายตัวจากเดือนมิถุนายน ตามเงินฝากออมทรัพย์ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของเงินฝากส่วนราชการในจังหวัดนครราชสีมาเป็นสำคัญ ด้านสินเชื่อคงค้าง 791.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.7 แต่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มีเงินฝากคงค้าง 360.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 และขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการขยายตัวของเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและธนาคารออมสิน ส่วนสินเชื่อคงค้าง 968.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.7 และขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนมิถุนายน ตามสินเชื่อภาคการค้าของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ขณะที่สินเชื่อของธนาคารอื่นๆ ชะลอตัว

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟอทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.52 ชะลอลงจากเดือนก่อน ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 และราคาสินค้าในหมวดพาหนะ ขนส่งและการสื่อสาร โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลง จากการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 อัตราเงินเฟอพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.20 ชะลอลงจากเดือนก่อนตามราคาอาหารสำเร็จรูปบริโภคในบ้าน สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ ที่ร้อยละ 0.6

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร: 0 4333 3000 ต่อ 3410 E-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ