แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2559

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 28, 2016 17:24 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 16/2559

เรื่อง แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนพฤศจิกายน 2559

ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนพฤศจิกายน 2559 ทรงตัวจากเดือนก่อน การใช้จ่ายภาคเอกชนยังไม่ฟื้นดีนัก จากที่อุปสงค์โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดี แม้จะมีปัจจัยบวกจากรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้นในช่วงที่มีการขายพืชผลการเกษตรออกสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าพืชเกษตรหลักยังไม่ได้ปรับตัว ดีขึ้นมากนัก ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซาต่อ อย่างไรก็ดี มีการลงทุนโดยนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ ด้านการส่งออก ยอดส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่นปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับที่มีการผลิตสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งออกชายแดนและการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐถือว่าทรงตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ภาวะการท่องเที่ยวชะลอลงเล็กน้อย แต่คาดว่าน่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของภาคเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ดี พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับต่ำ แม้มีปรับเพิ่มขึ้นในส่วนของราคาอาหารสดและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่อเนื่องจากปัจจัยที่ผู้ประกอบการบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนใช้เครื่องจักรมากขึ้นเพื่อทดแทนการใช้แรงงาน ด้านยอดคงค้าง เงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดือนก่อน แต่พบการหดตัวของสินเชื่อในบางพื้นที่

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจภาคเหนือ มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.2 โดยเป็นการลดลงในหมวดยานยนต์ หมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน และปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงยังหดตัวตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วไป และราคาน้ำมันเริ่มปรับเพิ่มขึ้น ในส่วนของรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตร แม้ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังไม่เห็นแนวโน้มที่ดีชัดเจนนัก ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนนี้ยังปรับลดลง หนี้ครัวเรือนและความเข้มงวดในการให้สินเชื่อสถาบันการเงินยังคงมีทิศทางเดียวกับเดือนก่อนๆ

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง โดยยังลดลงร้อยละ 1.9 ส่วนสำคัญจากการลงทุนในภาคการผลิตปรับดีขึ้นบ้างจากยอดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม การลงทุนโดยรวมยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน ทั้งนี้พบว่ากำลังการผลิตในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยังมีเหลืออยู่ ขณะที่ภาคการก่อสร้างและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังซบเซาต่อ โดยสะท้อนจากเครื่องชี้การลงทุนลดลงทั้งพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และปริมาณจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ขณะที่ยอดขายวัสดุก่อสร้างปรับดีขึ้น คาดว่ามาจากการใช้จ่ายในโครงการลงทุนภาครัฐ

การใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ ยอดการเบิกจ่ายใกล้เคียงเดือนก่อน โดยขยายตัวร้อยละ 19.7 จากปีก่อน ซึ่งกระจายตัวทั้งภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง จากการเบิกจ่ายโครงการก่อสร้างและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานระบบถนน อาคารของสถาบันการศึกษาและโรงพยาบาล รวมถึงเห็นความคืบหน้าจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการลงทุนขนาดเล็กมากขึ้น

ขณะที่การส่งออก หดตัวร้อยละ 2.6 ส่วนสำคัญมาจากยอดส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านด่านชายแดนไป สปป.ลาว และสหภาพเมียนมาลดลง ในกลุ่มสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม และโทรศัพท์และอุปกรณ์ เนื่องจากเส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้าผ่านแดนในเขตชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเกิดความไม่สงบ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีนตอนใต้ดีขึ้น โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยยังมีความเข้มงวดในการนำสินค้าเข้าของทางการจีนอยู่ อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกในกลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้น โดยหดตัวน้อยลงต่อเนื่อง ด้านมูลค่าการนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 10.7 จากการนำเข้ากระแสไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และปศุสัตว์จากสหภาพเมียนมา รวมถึงการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางยังขยายตัว สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 1.3 ส่วนสำคัญจากผลผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ตามผลผลิตข้าวนาปีและหอมแดง รวมถึงผลผลิตปศุสัตว์ ทั้งสุกรและไก่เนื้อ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตร ลดลงมากกว่าคาดร้อยละ 7.0 โดยเฉพาะราคาข้าวและข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ตามปริมาณผลผลิตที่มีมากขึ้น ส่งผลให้ราคารับซื้อมีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกับราคาปศุสัตว์ทั้งสุกรและ ไก่เนื้อยังลดลง เนื่องจากผลผลิตมากกว่าความต้องการของตลาด

ผลผลิตอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 4.2 องค์ประกอบสำคัญมาจากการผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปเพิ่มขึ้นทั้งผักแช่แข็งและผักบรรจุกระป๋อง การสีข้าวเพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว การผลิตเครื่องดื่มมีการเร่งผลิตเพื่อรองรับเทศกาลช่วงสิ้นปี รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะ เครื่องตัดต่อวงจรไฟฟ้า แผ่นดิสก์แก้วในฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ และเลนส์จอตา นอกจากนี้ การผลิตเซรามิกกลับมาขยายตัวเป็นเดือนแรก จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อเป็นของที่ระลึกในช่วงปลายปี

ภาคการท่องเที่ยว ชะลอลง โดยเฉพาะในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนลดลงทั้งประเทศ จากความเข้มงวดต่อการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมาย ในส่วนของนักท่องเที่ยวชาวไทย บางส่วนได้ชะลอการเดินทาง และเลื่อนการจัดกิจกรรมบางประเภทและการประชุมสัมมนาออกไป มีส่วนให้จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานภาคเหนือชะลอลง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จำนวนเที่ยวบินตรงเข้าสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารปรับลดลง

เสถียรภาพเศรษฐกิจภาคเหนือ โดยทั่วไปยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.68 จากราคาอาหารสดและราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ อัตราการว่างงาน อยู่ในระดับต่ำ แม้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 1.13

ภาคการเงิน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2559 ธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือมียอดคงค้างเงินฝาก 641,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากปีก่อน และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากเงินฝากออมทรัพย์ของส่วนราชการเป็นสำคัญ ด้านยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อ 580,193 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนร้อยละ 1.9 แต่พบว่ายอดคงค้างปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 0.4 โดยเฉพาะสินเชื่อค้าปลีกค้าส่งและสหกรณ์ออมทรัพย์ ทั้งนี้ สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 90.4

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

28 ธันวาคม 2559

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจภาค

โทร. 0 5393 1164

e-mail: Kusolc@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ