สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 15:18 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนพฤศจิกายน 2552 ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนตุลาคม ตามการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายของภาครัฐ มูลค่าผลผลิตพืชผลเกษตรสำคัญเพิ่มขึ้นตามราคาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวน้อยลง ในขณะที่ การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องชี้ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ พื้นที่ รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลเมืองและเทศบาลนคร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อ ที่อยู่อาศัย และทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว การใช้จ่ายของภาครัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนรายได้ภาครัฐ จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นตามการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสุรา-เบียร์ ยังจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามราคาข้าวและ อ้อยเป็นสำคัญ ส่วนดัชนีผลผลิตอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนและลดลงเล็กน้อยจาก เดือนก่อน การค้าชายแดนไทย - ลาวและไทย - กัมพูชา มีมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นทั้งการส่งออกและนำเข้า

ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตามการผลิต Hard Disk Drive ที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่การผลิตในอุตสาหกรรมเบียร์และน้ำตาลยังคงลดลงต่อเนื่อง

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ทั้งเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ส่วนเงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยสินเชื่อประเภทตั๋วเงินปรับตัวดีขึ้นในขณะที่สินเชื่อประเภทเงินให้กู้ยืมยังคงชะลอตัว

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 สำหรับอัตรา เงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงร้อยละ 0.1

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 18.9 และปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาคือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 ตามราคาข้าว และอ้อย ที่สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออก เป็นสำคัญ ส่วนดัชนีผลผลิตทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

ข้าว ผลผลิตข้าวเริ่มทยอยออกสู่ตลาด ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 13,712 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.7 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ส่วนราคาขายส่ง ข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 8,598 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 42.6 และ เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3 เนื่องจากมีความต้องการส่งออกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่มีการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น

มันสำปะหลัง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ราคาขายส่งหัวมันเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.64 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.7 เนื่องจากผู้ส่งออกชะลอการส่งออก และ อยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศจีน ส่วนราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.78 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.5 และปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 6.4 เนื่องจากยังมีความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

อ้อย โรงงานน้ำตาลยังไม่เปิดหีบอ้อย อย่างไรก็ตามสำนักงานอ้อยและน้ำตาลประกาศราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูกาลปี 2552/53 สูงถึง 950 บาทต่อตัน ณ ค่าความหวาน 10 ซีซีเอส เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่สูงขึ้น ทำให้มีความต้องการอ้อยผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตข้าวโพดรุ่น 1 ออกสู่ตลาดลดลง ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ย กิโลกรัมละ 6.01 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 18.0 เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวโพดของไทยเร่งรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเก็บสต็อกมากขึ้น ประกอบกับราคาข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากปริมาณข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการ จากการที่สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เก็บเกี่ยวข้าวโพดล่าช้า และผลผลิตได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำค้างแข็งและ ฝนตกหนัก

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.4 แต่ปรับตัว ดีขึ้นจากเดือนตุลาคมที่หดตัวร้อยละ 15.2 อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ยังคงขยายตัวร้อยละ 115.4 จากระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน สำหรับภาคบริการ อัตราการการเข้าพักแรมในภาคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน เพียงร้อยละ 0.1 โดยเครื่องชี้สำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงร้อยละ 3.3 ตามการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้จากห้างสรรพสินค้า และธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ยังเพิ่มขึ้น

สำหรับปริมาณการจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของ ปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 18.4 ส่วนหนึ่งเกิดจากบริษัทเช่าซื้อเริ่มผ่อนคลายเกณฑ์การให้สินเชื่อ ส่วนปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.0 และร้อยละ 21.7 ตามลำดับ เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน โดยการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นเกือบทุกจังหวัด ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกษตรกรมีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8

4. การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน และเดือนก่อน เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้ที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย และการจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนกว่าเท่าตัว เป็นการเพิ่มขึ้นของบริษัท ขนาดใหญ่ที่ประกอบธุรกิจพลังงานไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น โดยมีทุนจดทะเบียนถึง 1,500 ล้านบาท สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5

อย่างไรก็ตาม เงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.9 และเงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ ลดลงร้อยละ 16.2

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาครัฐบาล เดือนนี้สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้ 3,123.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 8.6 เป็นผลจากภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ส่วนภาษีสรรพากรทรงตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน และอากรขาเข้าปรับตัวดีขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บได้ 1,634.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ขยายตัวจากเดือนก่อนที่ลดลง ร้อยละ 20.0 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสุรา เบียร์ โซดา และน้ำอัดลมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการยื่นชำระภาษีไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมการผลิตไว้รองรับเทศกาลปีใหม่

ภาษีสรรพากร จัดเก็บได้ 1,467.0 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น จากภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน และการจัดซื้อจัดจ้างของภาคเอกชนเป็นสำคัญ ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ลดลง ส่วนใหญ่จากภาคอุตสาหกรรมยื่นชำระภาษีลดลง แต่ในภาคธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และห้างสรรพสินค้า ยังคงเพิ่มขึ้น

ภาษีอากรขาเข้า จัดเก็บได้ 22.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.3 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลง ร้อยละ 25.6 ตามการเพิ่มขึ้นของอากรขาเข้าในด่านศุลกากรนครพนมจากการนำเข้าเครื่องแต่งกาย และด่านศุลกากร ท่าลี่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าข้าวโพด แต่อากรขาเข้าจากด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรหนองคายยังคงจัดเก็บได้ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน

การเบิกจ่ายงบประมาณ เดือนนี้มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 21,998.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เร่งตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น

รายจ่ายประจำ 18,972.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43.8 จากรายจ่ายหมวดค่าตอบแทน และหมวดเงินเดือน

รายจ่ายลงทุน 3,026.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55.2 จากรายจ่ายหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ และหมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 6,857.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 24.4 จากการเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 5,202.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 23.1 จากการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เครื่องจักรอุปกรณ์ วัสดุก่อสร้างและเหล็ก ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ โค สุกร และกระบือมีชีวิต ส่วนการส่งออกเคมีภัณฑ์ ยานพาหนะและส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออกลดลง

การนำเข้า มูลค่า 1,654.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.8 จากการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้าสำคัญ คือ สินแร่ทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน ผลผลิตทางการเกษตร ส่วนการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์ รวมถึงยานพาหนะและส่วนประกอบมีมูลค่าลดลง

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้า 4,591.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.8 จากการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่าการค้า 3,928.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.7 สินค้าส่งออกสำคัญที่เพิ่มขึ้นได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน น้ำมันเชื้อเพลิงลื่น สุกรมีชีวิต รวมถึงวัตถุดิบประเภทอาหารสัตว์ ผ้าผืน ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้ลดลงประกอบด้วย ยานพาหนะและส่วนประกอบ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร

การนำเข้า มูลค่า 662.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกัน 1 เท่าตัว จากการเพิ่มขึ้นของ การนำเข้าผลผลิตการเกษตร เศษวัสดุ รวมถึงการนำกลับเครื่องจักรอุปกรณ์สำหรับสำรวจปิโตรเลียมและโครงการก่อสร้าง เป็นสำคัญ ส่วนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรเดือนนี้ไม่มีการนำกลับ สำหรับการนำเข้าเสื้อผ้าเก่า/ ผ้าห่มเก่า การนำเข้ายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เป็นผลจากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8

หมวดอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ร้อยละ 4.1 หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำร้อยละ 4.6 และไข่ร้อยละ 3.5

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นได้แก่ หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ตามภาวะราคาในตลาดโลก กอปรกับในช่วงเดียวกันปีก่อนราคาได้ปรับลดลงมาก หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ตามราคาของผลิตภัณฑ์ยาสูบที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 และหมวดเคหสถานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากค่าน้ำประปาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 108.2 จากการลดความช่วยเหลือ ตามมาตรการของรัฐบาล

สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานยังลดลงร้อยละ 0.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

8. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานเดือนตุลาคม 2552 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 12.5 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.2 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 6.2 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 6.0 ล้านคนโดยส่วนใหญ่ทำงานด้านการขายส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.13 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 เท่ากับเดือนก่อน

ด้านภาวะการจ้างงานในภาคเดือนพฤศจิกายน 2552 มีผู้สมัครงาน ตำแหน่งงานว่าง และผู้ที่ได้รับการบรรจุงานเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคการผลิต โดยมีผู้สมัครงานจำนวน 9,650 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.7 ตำแหน่งงานว่างจำนวน 5,548 อัตรา เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.2 และผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 6,176 คน เพิ่มขึ้น 1.2 เท่าเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน สำหรับการบรรจุงานส่วนใหญ่ได้แก่ งานในอาชีพผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ในอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา รองลงมาเป็นงานอาชีพ งานพื้นฐาน พนักงานบริการ เสมียนและเจ้าหน้าที่ในประเภทการขายส่ง การขายปลีกและ การซ่อมแซมยานยนต์ เป็นต้น

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 7,305 คน ลดลงร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยลดลงมากจากแรงงานที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานในประเทศสหรัฐอาหรับ เอมิเรทส์ร้อยละ 73.6 เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤตการณ์ดูไบ เวิลด์ รองลงมาเป็นคูเวตร้อยละ 44.2 อิสราเอลร้อยละ 42.1 สาธารณรัฐเกาหลีร้อยละ 35.4 และญี่ปุ่นร้อยละ 30 จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย

9. ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 379,724 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินฝากกระแสรายวัน และเงินฝากออมทรัพย์ ส่วนหนึ่งเป็นเงินฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณ

ด้านสินเชื่อ มีจำนวน 370,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยสินเชื่อประเภทตั๋วเงินปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อประเภท เงินให้กู้ยืมยังคงชะลอตัว

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เดือนตุลาคมอยู่ที่ร้อยละ 97.5 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 102.9 เนื่องจากการชะลอตัวของสินเชื่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411

e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ