การสำรวจหนี้ต่างประเทศ Non-bank

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 17:36 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สีเลิด กุลประสิทธิ์

ภานุภัทร วงศ์รัศมี

บทคัดย่อ

ในช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 บัญชีเดินสะพัดของไทยขาดดุลต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่ขึ้นถึง ร้อยละ 8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2538-2539 สะท้อนการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจไทยที่ เกินตัว ทำให้ต้องกู้ยืมจากต่างประเทศ ทั้งนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของหนี้ต่างประเทศรวมของไทยเป็นของภาคธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคาร (Non-bank) และเป็นหนี้ระยะสั้นถึงกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น เมื่อรายได้เงินตราต่างประเทศจากภาคการส่งออกตกต่ำลง ไม่เพียงพอชำระหนี้ ประเทศผู้ให้กู้ขาดความเชื่อมั่น การกู้ยืมใหม่หรือการต่ออายุสัญญาหนี้ก็อาจติดขัด ยิ่งก่อให้เกิดวิกฤตความเชื่อมั่นที่นำไปสู่สถานการณ์เงินทุนไหลออกรุนแรง มีผลกดดันต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศและค่าเงินบาท จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2540 นอกจากนี้ การถูกเรียกหนี้คืนทำให้ธุรกิจเอกชนล้มละลาย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงินและปัญหาเศรษฐกิจในประเทศในที่สุด

แม้ว่าก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดทำข้อมูลหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank จากรายงานธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศผ่านระบบธนาคาร (International Transaction Reporting System : ITRS) ซึ่งเป็นการรายงานเพื่อการบริหาร (Administrative Report) ให้เป็นไปตามกฎระเบียบการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน แต่หากผู้กู้มิได้มีการโอนเงินกู้เข้ามาใช้ในประเทศ หรือมีการหักกลบลบหนี้กับ ค่าสินค้า หรือมีการปรับโครงสร้างหนี้ รายการเหล่านี้แม้จะมีธุรกรรมเกิดขึ้น แต่จะไม่มีปรากฏผ่านระบบ ITRS และหากมิได้กำหนดให้มีการรายงานเข้ามา ทำให้ประเทศขาดข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่สมบูรณ์ และยากที่จะประเมินภาระผูกพันที่อาจมีได้ ธปท. จึงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา เพื่อใช้ติดตามสถานะหนี้ต่างประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank เป็นครั้งแรกหลังวิกฤตการณ์ดังกล่าว และได้พัฒนาการสำรวจเรื่อยมาจนเป็นการสำรวจรายไตรมาสตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ข้อมูลหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank ไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บหรือรวบรวมไว้ และยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญรายการหนึ่งในบัญชีฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position : IIP) และดุลการชำระเงินของไทยที่ ธปท. จัดทำและเผยแพร่

บทความนี้ลำดับประเด็นปัญหาของความไม่เพียงพอของข้อมูลหนี้ต่างประเทศ ซึ่งนำไปสู่การสำรวจ (Survey) การควบคุมคุณภาพของข้อมูลด้วยการมีบทบังคับทางกฎหมายให้จัดส่งข้อมูลให้ ธปท.รวมทั้งการใช้วิธีการทางสถิติเข้าช่วยในการประมวลผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สะท้อนว่าข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่เผยแพร่มีความสมบูรณ์ในระดับหนึ่ง และภาพรวมหนี้ต่างประเทศของไทยในปัจจุบันชี้ว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่ว่าจะดูจากสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ที่ร้อยละ 5.8 หรือ เงินสำรองต่อหนี้ระยะสั้นที่อยู่สูงถึง 5.5 เท่า นอกจากนี้ บทความได้สรุปถึงการจัดเก็บข้อมูลหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank ของประเทศต่างๆ ซึ่งช่วยยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้วิธีการสำรวจโดยเฉพาะเมื่อประเทศมีการผ่อนคลายการแลกเปลี่ยนเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าการสำรวจของไทยอาจไม่จำเป็นหากให้มีระบบการรายงาน (Direct Report) ที่ดี เช่นที่ทำกันในบางประเทศ

บทนำ

หนี้ต่างประเทศ(*1) หมายถึง ยอดคงค้างหนี้สินของผู้ที่อยู่ในประเทศ (Residents) (*2) ก่อขึ้น โดยมีภาระผูกพันที่จะต้องชำระคืนเงินต้นให้กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ (Non-residents) ทั้งหนี้สินที่เป็นการกู้ยืมตามสัญญาเงินกู้ หรืออยู่ในรูปตราสารหนี้ หรือเป็นสินเชื่อการค้า หรือหนี้สินอื่นๆ ที่ครบกำหนดแต่ยังไม่ได้ชำระคืน มีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ย ไม่ว่าจะกู้เป็นเงินสกุลบาท หรือสกุลเงินตราต่างประเทศใดๆ โดยหากเป็นหนี้ระยะยาว หมายถึง หนี้ที่มีอายุเงินกู้มากกว่า 1 ปี (365 วัน) ขณะที่หนี้ระยะสั้น หมายถึง หนี้ที่มีอายุเงินกู้ตามสัญญาเท่ากับหรือน้อยกว่า 1 ปี

หนี้ต่างประเทศภาคธุรกิจเอกชนที่มิใช่ธนาคาร (Non-bank) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญรายการหนึ่งในบัญชีหนี้ต่างประเทศ (External Debt) และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position : IIP) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการติดตามฐานะทางเศรษฐกิจการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบถึงฐานะ ความมั่นคงทางการเงินของประเทศและเป็นข้อมูลที่ไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บหรือรวบรวมไว้ ทั้งนี้ ในช่วงหลังจากการรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่ให้มีการแลกเปลี่ยนเงินเสรีด้านการโอนชำระเงินด้านบัญชีเดินสะพัดในปี 2533 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินด้านเงินทุนเพิ่มเติม โดยในปี 2534 ได้มีการยกเลิกการจดทะเบียนเงินกู้ต่างประเทศ การคืนเงินกู้ก็สามารถทำได้เพียงแสดงหลักฐานสัญญาการกู้เงิน โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการจดทะเบียนหรือการนำเงินกู้เข้าประเทศ ทำให้การใช้ข้อมูลจากรายงาน ITRS (*3) ในการจัดทำข้อมูลหนี้ต่างประเทศขาดความสมบูรณ์ ในส่วนการกู้โดยไม่นำเงินกู้เข้าประเทศ นอกจากนี้ หากมีกรณีการหักกลบลบหนี้กับค่าสินค้าหรือธุรกรรมอื่น หรือมีการปรับโครงสร้างหนี้ที่ไม่ปรากฏการโอนเงินข้ามพรมแดนครบตามธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง ก็จะไม่ได้นำมาคำนวณอยู่ในยอดคงค้างหนี้และ ทำให้ยอดคงค้างหนี้ที่คำนวณได้ต่ำกว่าที่ควร และในบางกรณีก็ได้ผลติดลบ ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำสถิติ หนี้ต่างประเทศภาค Non-bank มีความครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น โดยมีรายละเอียดที่สามารถนำมาใช้ติดตามฐานะหนี้สินของประเทศ เช่น การต่ออายุหนี้ การประมาณการภาระการชำระหนี้ในอนาคต เป็นต้น ธปท. จึงได้เริ่มทำการสำรวจหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank เป็นครั้งแรกในปี 2540 และพัฒนาการสำรวจเรื่อยมาจนเป็นการสำรวจรายไตรมาสตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ มูลค่าหนี้ต่างประเทศที่ได้จากการสำรวจเป็น Nominal Value และเป็น Cash Basis

หัวข้อแรกของบทความนี้จะเริ่มจากความเป็นมาของการจัดทำสำรวจข้อมูลหนี้ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ต่อด้วยหัวข้อที่ 2 ที่จะกล่าวถึงวิธีการควบคุมคุณภาพข้อมูลทั้งด้านกฎหมายและวิธีการทางสถิติ ซึ่ง ธปท. ได้ปรับปรุงวิธีการทางสถิติในการที่จะเลือกกลุ่มตัวอย่าง และการจัดทำข้อมูลให้ถูกต้องเชื่อถือได้ หัวข้อที่ 3 จะกล่าวถึงการประมวลผลและการเผยแพร่ข้อมูล ตามด้วยภาพรวมหนี้ต่างประเทศของไทยล่าสุดเมื่อเทียบกับช่วงที่เริ่มจัดเก็บข้อมูลในหัวข้อที่ 4 และหัวข้อที่ 5 เปรียบเทียบการจัดเก็บข้อมูลหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank ของประเทศต่างๆ เทียบกับไทย

1. ความเป็นมาของการสำรวจและวิธีการทางสถิติ

ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจการเงินในประเทศไทยปี 2540 ประเทศไทยประสบกับภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลต่อเนื่องมานาน และการเพิ่มขึ้นของช่องว่างระหว่างการออมและการลงทุน ทำให้หนี้ต่างประเทศของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคเอกชนได้ก่อหนี้ต่างประเทศในจำนวนสูงเพื่อขยายการลงทุนในประเทศ หนี้ต่างประเทศในเดือนมิถุนายน 2540 พุ่งสูงถึงประมาณ 112 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ต่างประเทศของภาค Non-bank อีกทั้งเป็นหนี้ระยะสั้นถึงร้อยละ 41.4 ซึ่งมีความอ่อนไหวง่ายต่อการเกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกรุนแรง (Capital Flight) หากประเทศผู้ให้กู้ขาดความเชื่อมั่น และเป็นส่วนหนึ่งทำให้ประเทศประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงิน ส่งผลกดดันต่อเสถียรภาพด้านต่างประเทศ และค่าเงินบาท จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน ธุรกิจเอกชนประสบปัญหาหนี้ การล้มละลาย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน และปัญหาเศรษฐกิจในประเทศอย่างมาก ธปท. จึงตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่ถูกต้องครบถ้วน ทันเวลา เพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ทางการเงินระหว่างประเทศ จึงได้เริ่มดำเนินการสำรวจหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank เป็นครั้งแรกเพื่อจัดทำข้อมูลยอดคงค้างหนี้เป็นการเร่งด่วนในไตรมาสที่ 4 ปี 2540 โดยเป็นการสำรวจตัวอย่างจากผู้ก่อหนี้รายใหญ่จำนวน 500 ราย หลังจากนั้น ในการสำรวจอีก 2 ไตรมาสถัดมา จึงได้เพิ่มขนาดตัวอย่างเป็น 800 ราย

ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่ผ่านมา ยังไม่สามารถสะท้อนภาพรวมของหนี้ต่าง ประเทศภาค Non-bank ได้ดีนัก เนื่องมาจากการขาดกรอบของประชากรที่สมบูรณ์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น คือ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล จึงได้มีดำริให้ทำการสำมะโน (Census) โดยใช้รายชื่อผู้ที่มีการทำธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศของธุรกิจ Non-bank ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทุกราย จำนวนมากกว่า 6,000 ราย ทำการสอบถามยอดคงค้างไตรมาสที่ 4 ปี 2541 โดยระดมเจ้าหน้าที่ ธปท. ในฝ่ายการต่างประเทศในขณะนั้นทำการสำรวจและติดตามทวงถาม ผลสำรวจพบว่า มีธุรกิจและบุคคลที่ยังคงมี ยอดคงค้างการกู้ยืมจากต่างประเทศเหลืออยู่จำนวนประมาณ 2,000 ราย จึงได้นำรายชื่อกลุ่มนี้มาสำรวจในลักษณะ Collective Survey คือ สำรวจผู้ที่มียอดหนี้คงค้างทุกราย เพื่อสอบถามข้อมูลยอดคงค้าง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ปี 2542 พบว่ามียอดคงค้างหนี้ต่างประเทศภาค Non-bank รวมทั้งสิ้น 43.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

หลังจากนั้น ในปี 2543 เป็นต้นมา จึงได้ทำการสำรวจต่อเนื่องเป็นรายไตรมาส ในลักษณะ Collective Survey เช่นกัน ซึ่งในการสำรวจแต่ละไตรมาส ก็จะมีรายชื่อผู้ที่ก่อหนี้ใหม่ที่พบจากรายงานการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (ITRS) เพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2549 พบว่าจำนวนรายที่สำรวจได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 3,700 ราย

ในช่วงปี 2550 - 2551 ธปท. ได้พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน โดยหันมาใช้วิธี การสำรวจเฉพาะรายใหญ่ (Cut-off Tail) ซึ่งมีคุ้มรวมของยอดคงค้างหนี้ (Coverage) ประมาณร้อยละ 94 ของประชากร โดยกำหนดยอดคงค้างขั้นต่ำ (Threshold) สำหรับรายที่จะส่งแบบสำรวจ ตั้งแต่ 3.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขึ้นไป จำนวนรายที่ส่งแบบสำรวจแต่ละงวดประมาณ 1,200 ราย ส่วนรายย่อยที่ไม่ได้ส่งแบบสำรวจ ยังคงใช้วิธีประมาณการ ยอดคงค้างด้วยธุรกรรมที่ได้จาก ITRS เป็นรายธุรกรรมเช่นเดิมเพื่อให้สามารถติดตามยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศได้ใกล้เคียงความจริงมากที่สุด

จนกระทั่งสิ้นปี 2551 พบว่าจำนวนประชากรผู้มีหนี้ต่างประเทศได้เพิ่มถึงระดับ 5,000 ราย จึงได้ปรับวิธีการสำรวจอีกครั้ง เพื่อลดภาระทั้งทางด้านแรงงานและงบประมาณในการสำรวจ โดยการใช้ Threshold สูงขึ้นเป็นระดับ 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. (คุ้มรวมของยอดคงค้างหนี้ประมาณร้อยละ 82) ในการส่งแบบสำรวจ ร่วมกับการสุ่มตัวอย่าง (Random Sampling) จากกลุ่มที่มีหนี้ระหว่าง 3.5 - 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. อีกจำนวน 50 ราย รวมเป็นการส่งแบบสำรวจทั้งหมด 470 ราย (ในการสำรวจงวดไตรมาสที่ 3 ปี 2552) ส่วนกลุ่มรายเล็กที่ไม่ได้สำรวจซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,000 กว่ารายนั้น ยังคงใช้วิธีคำนวณยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศจากการโอนเงินผ่านระบบ ITRS

ตารางที่ 1 สรุปความเป็นมาของวิธีการสำรวจ ในช่วงปี 2541 - ปัจจุบัน

 ช่วงเวลา      การสำรวจ    วิธีการเลือกตัวอย่าง        เกณฑ์การเลือก                      คุ้มรวม
2541          รายปี          Census P             opulation                        100%
2542          รายปี          Collective           All enterprises recorded         100%
2543 - 2549   รายไตรมาส     Collective           external debt outstanding        100%
2550 - 2551   รายไตรมาส     Cut-off tail         Threshold 3.5 Mil.USD            94%
2552 - ปัจจุบัน  รายไตรมาส     Cut-off tail         Threshold 20 Mil.USD and         82%
                            and quality control  50 samplings
2. การควบคุมคุณภาพของข้อมูล

2.1. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรอบกฎหมายที่สนับสนุนการจัดทำข้อมูลนับเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการได้มาซึ่งคุณภาพของข้อมูล พัฒนาการด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่ผ่านมามีดังนี้

1) กฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน แต่เดิมภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 ได้กำหนดให้ผู้ไปก่อหนี้ต่างประเทศ เมื่อจะโอนเงินออกไปชำระคืนเงินกู้ จะต้องแสดงหลักฐานการนำเงินกู้เข้าประเทศ หรือสามารถมาจดทะเบียนที่ ธปท. ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยแสดงหลักฐานการนำเงินกู้เข้าประเทศมาแสดง และเมื่อจะส่งคืนเงินกู้ ก็นำหลักฐานการจดทะเบียนไปแสดงกับธนาคารรับอนุญาต เพื่อซื้อเงินออกไปชำระหนี้ ทำให้ประเทศสามารถจัดเก็บข้อมูลหนี้ต่างประเทศผ่านระบบ ITRS ได้ค่อนข้างสมบูรณ์เพราะจะมีการนำเงินกู้เข้าประเทศ

ในปี 2534 ธปท. ได้ผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน เมื่อจะส่งคืนหนี้ต่างประเทศ ก็เพียงแต่แสดงหลักฐานเอกสารสัญญาเงินกู้ที่แสดงภาระผูกพันโดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการนำเงินกู้เข้าประเทศ เพื่อขอซื้อเงินออกไปชำระหนี้ การผ่อนคลายในครั้งนี้ทำให้เป็นช่องทางให้มีการกู้เงินโดยไม่นำเข้าประเทศ และทำให้การจัดเก็บข้อมูลหนี้ต่างประเทศผ่านระบบ ITRS ขาดความสมบูรณ์ ดังนั้น หากไม่มีการสำรวจหนี้ต่างประเทศก็จะไม่สามารถทราบข้อมูลได้

ในปี 2544 หลังวิกฤตการณ์ทางการเงิน (ปี 2540) ธปท. ได้ออกระเบียบใหม่ และใช้อยู่ในปัจจุบัน ให้ ผู้ก่อหนี้ต่างประเทศที่ประสงค์จะส่งคืนเงินกู้ออกนอกประเทศ จะต้องนำหลักฐานการโอนเงินเข้าประเทศไปแสดงต่อธนาคารรับอนุญาต เพื่อขอโอนเงินไปชำระหนี้ต่างประเทศ หากไม่มีหลักฐานต้องมาขออนุญาต การออกระเบียบครั้งนี้ ทำให้ข้อมูลหนี้ต่างประเทศที่จัดเก็บจากการโอนเงินผ่านระบบ ITRS กลับมามีความสมบูรณ์มากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

จะเห็นได้ว่า ความสมบูรณ์ของข้อมูลการทำธุรกรรมระหว่างประเทศที่จัดเก็บจากข้อมูลการโอนชำระเงินข้ามประเทศผ่านระบบ ITRS จะขึ้นกับความเข้มงวดของกฎระเบียบในการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ทำให้คณะ ผู้ประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านการเผยแพร่ข้อมูล (Report on the Observance of Standards and Codes - ROSC) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรต่างชาติเช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ได้ประเมินคุณภาพการจัดทำข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคที่สำคัญของประเทศไทยในปี 2548 พบว่าการจัดทำข้อมูลดุลการชำระเงินของประเทศไทยยังมีจุดอ่อน โดยเห็นควรให้มีกฎหมายเฉพาะในการบังคับให้ผู้เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือธุรกรรมระหว่างประเทศ รายงานข้อมูล เนื่องจากหากประเทศมีการผ่อนคลายหรือ เปิดเสรีด้านการแลกเปลี่ยนเงิน จะทำให้ประเทศไม่สามารถจัดทำข้อมูลดุลการชำระเงินของประเทศได้ครบถ้วนสมบูรณ์

2) พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 มาตรา 10 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551(*) ภายหลังการประเมินโดย ROSC ธปท. จึงได้มีการปรับแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้อำนาจ ธปท. ในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำข้อมูลดุลการชำระเงิน ข้อมูลหนี้ต่างประเทศ และข้อมูลปริมาณเงิน แม้ว่าที่ผ่านมา ในการออกสำรวจข้อมูลหนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศสุทธิ ธปท. จะได้รับความร่วมมือจากธุรกิจเอกชนส่วนใหญ่เป็นอย่างดี แต่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีกฎหมายรองรับ จึงได้มีการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวความว่า "เพื่อประโยชน์ในการจัดทำสถิติดุลการ ชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และสถิติการเงินของประเทศ ให้ ธปท. มีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ จัดส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ ธปท. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" โดยที่ข้อมูลยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศ นับเป็นส่วนหนึ่งในข้อมูลฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับโดยนัยต่อการสำรวจหนี้ต่างประเทศด้วย

สำหรับโทษปรับได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 63 "บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามาตรา 10 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท"

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลบัญญัติไว้ใน มาตรา 74 "ผู้ว่าการ กรรมการ พนักงานหรือลูกจ้างผู้ใดล่วงรู้กิจการของ ธปท. อันเนื่องจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ อันเป็นกิจการที่ตามปกติวิสัยพึงสงวนไว้ไม่เปิดเผย หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการตามมาตรา 17 (1) (2) (3) หรือ (4) แล้วแต่กรณี มีมติให้สงวนไว้ไม่เปิดเผย ถ้าผู้นั้นนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" โดยในทางปฏิบัติที่ผ่านมา พนักงานของ ธปท. ได้ระมัดระวังในการรักษาความลับของข้อมูลเป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลรายธุรกิจออกสู่สาธารณชน ข้อมูลที่ได้จะเผยแพร่ในภาพรวมเท่านั้น

2.2 วิธีการทางสถิติเพื่อควบคุมคุณภาพ การสุ่มตัวอย่างที่เริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในการสำรวจงวดไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 และใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นวิธี Cut-Off Tail Sampling ซึ่งมี Threshold ที่ระดับ 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เพื่อควบคุมคุณภาพของข้อมูลในกลุ่มรายเล็กที่ไม่ได้ส่งสำรวจทุกรายที่ยังใช้การคำนวณยอด คงค้างหนี้ต่างประเทศจากการโอนเงินผ่านระบบ ITRS จึงมีการประสานการสุ่มตัวอย่างแบบ Random Sampling จากกลุ่มที่มีหนี้ระหว่าง 3.5 - 20 ล้านดอลลาร์ สรอ. อีกจำนวน 50 ราย ด้วยวิธีการถ่วงน้ำหนักในแต่ละชั้นภูมิ เพื่อทดสอบความเชื่อมั่นว่าข้อมูลจาก ITRS ในรายเล็กๆ มีความใกล้เคียงกับข้อมูลจากการสำรวจ โดยการใช้ Paired T-test ชึ่งเป็นการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระหว่างตัวอย่าง 2 กลุ่ม โดยอาศัยกลุ่มตัวอย่างจากการสุ่ม 50 ราย มาทดสอบนัยสำคัญของความแตกต่างของมูลค่าหนี้ที่คำนวณยอดคงค้างได้จากข้อมูล ITRS กับมูลค่าหนี้ที่ได้จากการสำรวจ

ผลการทดสอบได้ค่า P-value เท่ากับ 0.15026 มีค่ามากกว่า 0.05 ซึ่งเป็นค่าความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ ในขณะที่ค่า T-stat = -1.46148 อยู่ระหว่างค่า t Critical ฑ2.00957 ซึ่งแสดงถึงการยอมรับสมมติฐานที่ว่าค่าที่ได้จากการสำรวจกับค่าที่ได้จากการคำนวณยอดคงค้างจาก ITRS ในงวดสำรวจไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งหมายถึง ค่าที่คำนวณได้จาก ITRS ยังคงเป็นตัวแทนที่ดีสำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ได้ส่งสำรวจ

T-Test: กลุ่มตรวจสอบคุณภาพ 50 บริษัท

                              TRS               Survey
Mean                     8124476.57           8712477.538
Variance             18541745639687        25976073270836
Observations                     50                    50
Pearson Correlation     0.829848935
Hypothesized Mean Difference      0
df                               49
t Stat                 -1.461484066
P(T

แท็ก บัญชี  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ