เจาะลึกความตกลง FTA ของไทย และนัยต่อการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2010 16:14 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทสรุปผู้บริหาร

ปัจจุบันไทยมีสัญญา FTA ที่ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว 12 ฉบับ ทั้งในแบบทวิภาคีและแบบอาเซียนกับคู่เจรจา โดยทำกับ 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย (เฉพาะสินค้า Early Harvest) ญี่ปุ่น จีนและ เกาหลี นอกจากนี้ ยังมีความตกลงภายใต้กรอบอาเซียนด้วยกันเองอีก 4 ฉบับ ได้แก่ ASEAN Free Trade Area (AFTA-ด้านสินค้า) ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS-ด้านบริการ) Investment Guarantee Agreement (IGA-ด้านคุ้มครองการลงทุน) และ ASEAN Investment Agreement (AIA- ด้านเปิดเสรีการลงทุน)

สาระสำคัญของ FTA ด้านการค้าสินค้าส่วนใหญ่จะเน้นที่การลดอัตราภาษีสินค้าให้เหลือ 0 โดยในกรณีของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น จะให้มีผลทันทีประมาณกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนรายการทั้งหมดขณะที่ไทยจะให้มีผลทันทีประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนรายการทั้งหมด และจะทยอยลดภาษีในส่วนที่เหลือตามที่กำหนดไว้ในแต่ละสัญญา ทั้งนี้ สัญญาหลายฉบับกำหนดให้มีการลดอัตราภาษีเป็น 0 เพิ่มเติมในรายการสินค้าเกือบทั้งหมด (กว่าร้อยละ 90) ภายในปี 2553 ส่วนด้านการค้าบริการและการลงทุนนั้นจะเป็นการเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามความพร้อมของแต่ละประเทศ

ผลกระทบของ FTA ต่อภาพรวมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นสิ่งที่ประเมินได้ยากเนื่องจากมีผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ยากที่จะแยกผลกระทบออกจากกันได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้การวิเคราะห์ประโยชน์ด้านการค้าสินค้าในภาพรวมด้านเดียวก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า FTA มีประโยชน์ต่อไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการวัดผลดี-ผลเสียจากความตกลง FTA ในภาพรวมทั้งหมดนั้นยังต้องรวมถึงการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขได้ยาก การวิเคราะห์ผลกระทบของ FTA ในการศึกษานี้จึงเน้นที่ผลของ FTA ที่มีผลบังคับใช้และมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศมาแล้วระยะหนึ่งเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้ข้อมูลเชิงปริมาณประกอบกันใน 4 ประเด็น ได้แก่

(1) มูลค่าการส่งออกและนำเข้า พบว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ภาคีส่วนใหญ่ คือออสเตรเลีย อินเดีย และจีน ขยายตัวสูงขึ้นมาก อีกทั้งอันดับตลาดการส่งออกเลื่อนสูงขึ้นทันทีหลังจาก FTA มีผลบังคับใช้

(2) ส่วนแบ่งตลาดของประเทศคู่ภาคี มีสัดส่วนการส่งออกต่อการส่งออกทั้งหมดของไทยที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ประเทศที่ไม่มี FTA กับไทยส่วนมากมีสัดส่วนที่ลดลง

(3) ดุลการค้า พบว่าหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ ไทยขาดดุลกับจีนและญี่ปุ่นมากขึ้น แต่กับประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลมาโดยตลอด และสำหรับอินเดีย ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลจนกระทั่งความตกลงไทย-อินเดีย (Early Harvest) มีผลบังคับใช้ ไทยจึงกลับเป็นฝ่ายเกินดุล

(4) อัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง พบว่ามีอัตราการใช้สิทธิส่งออกไปยังออสเตรเลียค่อนข้างสูง และอัตราการใช้สิทธิส่งออกไปยังจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากโครงสร้างการลดภาษีภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน และ ความตกลงไทย-ญี่ปุ่น เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

อุปสรรคและปัญหาที่พบในแต่ละ FTA ที่สำคัญ ได้แก่ การใช้มาตรการกีดกันการค้านอกเหนือจากภาษี (Non-Tariff Barrier) ปัญหาด้านการขาดเครื่องมือในการกระจายผลประโยชน์จากความตกลงไปยังกลุ่มผู้เสียประโยชน์ การขาดการประชาสัมพันธ์เรื่องการใช้สิทธิประโยชน์ และปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าสรุปภาพรวมจากการศึกษาอาจกล่าวได้ว่าการมี FTA มีส่วนช่วยให้มีการค้าเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งและเป็นประโยชน์กับผู้ส่งออกค่อนข้างเห็นได้ชัด แต่สำหรับผู้นำเข้ายังไม่ชัดเจนนัก สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายรัฐอาจพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลติดตาม จัดเก็บข้อมูล จัดทำกลยุทธ์เชิงรุก ประชาสัมพันธ์และประเมินผลการจัดทำความตกลงต่างๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงกระบวนการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เจาะลึกความตกลง FTA ของไทย และนัยต่อการค้าระหว่างประเทศ(*1)

ธันยธร ดุลยธรรมาภิรมย์ และ นรธัช อูนากูล(*2)

1. บทนำ

เนื่องจากการเจรจาทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เป็นไปด้วยความล่าช้า ประเทศสมาชิก 153 ประเทศ ยังไม่สามารถหาข้อสรุป และตกลงผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ อีกทั้งการเจรจาใน Doha Round นี้ยังดูเหมือนว่าต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งกว่าจะเสร็จสิ้น เป็นเหตุผลให้หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีการเร่งทำความตกลงทวิภาคี และพหุภาคีกับประเทศคู่ค้าที่ตนคิดว่าสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศไทยเองก็ได้ลงนามในความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศคู่เจรจาไปแล้วหลายฉบับด้วยกัน ดังจะกล่าวในรายละเอียดต่อไป

ทั้งนี้ การทำความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับประเทศคู่ค้า เป็นการลดอุปสรรคทางการค้าให้แก่กันทั้งในแง่การลดภาษี และการลดอุปสรรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งย่อมเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการค้า ให้ทั้งกับผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้นตามหลักการความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) ที่ว่าหากประเทศใดเป็นผู้ผลิตที่มีความสามารถในการผลิตด้วยต้นทุนต่ำและใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่าก็ย่อมเป็นผู้ผลิตที่มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศที่ผลิตได้ในราคาแพงหรือใช้ทรัพยากรมากกว่า ดังนั้นเมื่อมีการเปิดเสรีด้านการค้าก็ย่อมเอื้อให้ผู้ผลิตที่มีศักยภาพขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคในประเทศที่มีศักยภาพต่ำในการผลิตสินค้านั้นๆ ก็ย่อมได้ประโยชน์ในการซื้อผลิตภัณฑ์ได้ในราคาถูกลงด้วย ในทางทฤษฎี การเปิดเสรีย่อมนำไปสู่กลไลทางตลาดที่ดีขึ้น เช่น การขยายตลาดของผู้ผลิตที่มีศักยภาพ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตโดยการลดต้นทุนต่อหน่วย (มี Economy of scale เพิ่มขึ้น) อีกทั้งผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น สามารถเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีราคาถูกได้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตในประเทศให้พัฒนาประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันกับสินค้านำเข้าราคาถูก ซึ่งเป็นกลไกที่จะนำตลาดต่างๆ ไปสู่จุดดุลยภาพของตลาดระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การค้าและสวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น แต่คงต้องยอมรับว่าผู้ผลิตในบางภาคส่วนอาจได้รับผลกระทบจากคู่แข่งที่ได้เปรียบกว่า ซึ่งทางการอาจเข้ามาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาให้สามารถปรับตัวได้

หากเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศต่างๆ จากข้อมูลของ WTO3 ณ สิ้นปี 2551 ดังแสดงในรูปที่ 1 โดยภาพรวมแล้วไทยมีความตกลงการค้าเสรีและความตกลงความร่วมมือต่างๆ (Regional Trade Agreements) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 9 ฉบับ และกำลังเจรจาอีก 3 ฉบับ ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับหลายประเทศในภูมิภาค แต่ต่ำกว่าสหภาพยุโรปที่มีจำนวนความตกลงดังกล่าวสูงที่สุดรวม 28 ฉบับ และสิงคโปร์ที่มีจำนวนความตกลงรวม 17 ฉบับ ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค

หากวิเคราะห์เฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังนิยมจัดทำความตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี จะเห็นว่าประเทศที่มีการจัดทำความตกลงมากเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการจัดทำความตกลงแบบ “Hub and Spokes System”(*4) กล่าวคือ หากมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีหลายประเทศ ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดจะเป็นศูนย์กลาง (Hub) ทางการค้า ส่วนประเทศอื่นที่จัดทำความตกลงกับประเทศศูนย์กลางมีฐานะเป็นประเทศโดยรอบ (Spokes) โดย ประเทศที่มีสถานะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเซียตะวันออกจะได้แก่ประเทศที่มีการจัดทำความตกลงอันดับต้นๆ ดังกล่าว ทั้งนี้ การจัดทำความตกลงแบบทวิภาคียังคงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความตกลงการค้าเสรีก่อให้เกิดความท้าทายที่สำคัญหลายประการต่อประเทศไทย และประเทศคู่ภาคีที่มี FTA เช่น การแก้ปัญหา “Spaghetti Bowl Effect” จากความทับซ้อนของการลดภาษีภายใต้ความตกลงต่างๆ ตลอดจนความซับซ้อนของกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งแตกต่างกันไปภายใต้ความตกลงแต่ละฉบับ ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามศึกษาทำความเข้าใจเพื่อให้สามารถเลือกใช้สิทธิที่ดีที่สุด(Forum Shopping) และการที่ไทยต้องพยายามขยายขอบเขตของความตกลงให้ครอบคลุมสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ยิ่งขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรม และเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้มีการใช้สิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่รวมไปถึงการจัดทำกระบวนการเยียวยาให้ภาคส่วนที่เสียหาย ทั้งนี้นักวิชาการบางกลุ่มเชื่อว่าความตกลงทวิภาคีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจเป็นพื้นฐานต่อยอดให้บรรลุความตกลงแบบพหุภาคีของประชาคมโลกได้ต่อไป

การศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงประโยชน์และปัญหาภายใต้ความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้วของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง เพื่อใช้เป็นพื้นฐานความรู้และเพื่อเพิ่มความเข้าใจในการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ และต้นทุนในการจัดทำ FTA ฉบับต่อๆ ไปในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง และยังสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงว่าในอดีต FTA ที่จัดทำมามีผลกระทบมากน้อยเพียงใด มีการใช้สิทธิประโยชน์อย่างคุ้มค่าควรแก่การจัดทำมากน้อยเพียงใด โดยสามารถใช้เป็นแนวทางในการประเมินศักยภาพของ FTA ที่จะทำในอนาคต ซึ่งการศึกษานี้จะกล่าวถึง (i) ภาพรวมความตกลงการค้าเสรีของประเทศไทย (ii) สาระสำคัญของ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว (iii) ผลกระทบต่อภาพรวมการค้าและการใช้ประโยชน์จาก FTA (iv) ปัญหาและอุปสรรคในความตกลงต่างๆ และ (v) บทสรุป ตามลำดับ โดยหวังว่าจะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจโครงสร้างของ FTA โดยรวมและประสิทธิผลของ FTA ในปัจจุบันเพิ่มมากยิ่งขึ้น

2. ภาพรวมความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของประเทศไทย

2.1 โครงสร้าง FTA

FTA โดยปกติครอบคลุมเรื่องที่สำคัญหลักๆ 3 เรื่อง ได้แก่ (1) ความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้า (Trade in Goods) (2) ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (Trade in Services) และ (3) ความตกลงว่าด้วยการลงทุน (Investment) โดยมีรูปแบบการจัดทำ 2 ลักษณะคือ แบบรวมทั้ง 3 เรื่องไว้ด้วยกันในสัญญาเดียวเรียกว่า Single Agreement และแบบแยกสัญญาสำหรับแต่ละความตกลงเรียกว่า Separate Agreements

2.2 FTA ต่างๆ ของประเทศไทย

ความตกลงที่ประเทศไทยได้ลงนามไปแล้ว แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

(1) FTA ที่ลงนามและมีผลบังคับใช้แล้ว มีทั้งหมด 12 ฉบับ ทำกับ 6 ประเทศคู่เจรจา (ไม่นับรวมความตกลงระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน) ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-อินเดีย (เฉพาะสินค้า Early Harvest) ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-จีน (ด้านสินค้าและบริการ แยก 2 ฉบับ) อาเซียน-ญี่ปุ่น (สาระสำคัญเฉพาะเรื่องสินค้า) อาเซียน-อินเดีย (ด้านสินค้า) อาเซียน-เกาหลี (ด้านสินค้า ด้านบริการ และการลงทุน แยก 3 ฉบับ) และอาเซียน-ออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์

(2) FTA ที่มีการลงนามแล้วแต่ยังอยู่ในระหว่างการให้สัตยาบัน มี 2 ฉบับ ได้แก่ ไทย-เปรู (ด้านสินค้า) และล่าสุด อาเซียน-จีน (ด้านการลงทุน)

สำหรับความตกลงที่ไทยยังจัดทำไม่เสร็จ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

(1) FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจา มีทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ อาเซียน-สหภาพยุโรป(*5) และอาเซียน-อินเดีย (ด้านบริการและการลงทุน แยก 2 ฉบับ)

(2) FTA ที่ได้ระงับการเจรจาไปก่อน มีทั้งหมด 5 ฉบับ ได้แก่ ไทย-เปรู (ด้านบริการและการลงทุน แยก 2 ฉบับ) ไทย-EFTA(*6) ไทย-สหรัฐฯ และ ไทย-บาห์เรน

นอกจากนี้ ยังมีความตกลงภายใต้กรอบอาเซียนด้วยกันเองอีก 4 ฉบับ ดังนี้ (1) การเปิดตลาดสินค้าภายใต้ AFTA(*7) 1 ฉบับ (2) การเปิดตลาดการค้าบริการภายใต้ AFAS(*8) 1 ฉบับ และ (3) การเปิดเสรีและการให้ความคุ้มครองการลงทุน 2 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงคุ้มครองการลงทุน (IGA(*9)) และการเปิดเสรีการลงทุน (AIA(*10))

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าความร่วมมือใน ASEAN ได้มีการดำเนินการไปแล้วระดับหนึ่ง(*11) แต่จะต้องเร่งดำเนินการมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN Economic Community — AEC) ภายในปีค.ศ. 2015 โดยมีเป้าหมายให้มี Free flow of goods, services, and investment รวมทั้งให้มี Freer flow of capital ทั้งนี้ ภาคการบริการทางการเงินจะได้รับความยืดหยุ่นมากกว่าสาขาอื่น

2.3 สรุป Timeline วันที่มีผลบังคับใช้ของสัญญา FTA

ดังแสดงในรูปที่ 2 ความตกลง FTA ของไทยที่มีผลบังคับใช้แล้วแบ่งหลักๆ ตามคู่เจรจาได้เป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ จีน อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี และในกลุ่ม ASEAN ด้วยกันเอง (แบ่งตามสี) เรียงตามวันที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ (ส่วน พ.ศ. ด้านหลัง — คือปีที่ภาษีของรายการสินค้าทั้งหมดภายใต้ความตกลงลด เหลือร้อยละ 0)

3. สาระสำคัญของ FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว(*12)

เนื่องจากมีข้อจำกัดในการจัดเก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบสำหรับความตกลงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้มาไม่นาน(*13) อีกทั้งการเผยแพร่สาระสำคัญของความตกลงยังจำกัด ดังนั้นในการศึกษานี้จะเน้นเฉพาะความตกลงระหว่างประเทศที่มีผลบังคับใช้มาแล้วระยะหนึ่ง ทั้งนี้จะกล่าวสรุปถึงสาระสำคัญของความตกลงต่างๆ โดยอ้างจากการศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรม และเว็บไซท์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก รายละเอียดดังนี้

3.1 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

การค้าสินค้า

ออสเตรเลียลดภาษีเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าไทย 5,073 รายการ (ประมาณร้อยละ 83 ของรายการสินค้าทั้งหมด) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ เช่น เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม ธัญพืช ผัก ผลไม้ สินแร่ รถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ในปี 2553 จะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 เพิ่มอีก 795 รายการ เช่น ทูน่ากระป๋อง รองเท้า และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และภายในปี 2558 จะลดเพิ่มในส่วนของสินค้าที่เหลือทั้งหมดอีก 244 รายการ เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป และพลาสติก เป็นต้น

ไทยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้าออสเตรเลีย 3,072 รายการ (ร้อยละ 50 ของรายการสินค้าทั้งหมด) ทันทีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบ เช่น สินแร่ เชื้อเพลิง เคมีภัณฑ์ หนังดิบและหนังฟอก เป็นต้น และภายในปี 2553 จะทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในอีก 2,801 รายการ เช่น สินค้าผัก ผลไม้ พลาสติก กระดาษ และเครื่องจักร เป็นต้น และในช่วงปี 2558-2568 จะทยอยลดภาษีให้เป็นร้อยละ 0 สำหรับสินค้าส่วนที่เหลืออีกประมาณ 361 รายการ ซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive Goods) เช่น นม ครีม นมข้นเครื่องในสัตว์ มันฝรั่ง และน้ำตาล เป็นต้น

การค้าบริการและการลงทุน

นิวซีแลนด์อนุญาตให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ร้อยละ 100 ยกเว้น กิจการประมง แต่ถ้าหากลงทุนเกินกว่า 50 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการการลงทุนต่างชาติก่อนไทยอนุญาตให้นิวซีแลนด์เข้ามาลงทุนได้ร้อยละ 100 ในธุรกิจผลิตสินค้าบางประเภทที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนโดยต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท อาทิเช่น กิจการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซอฟต์แวร์ เครื่องจักร ผลิตภัณฑ์กระดาษ การแปรรูปอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น

3.3 ความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย (TIFTA)

ไทยและอินเดียได้มีการเจรจาเปิดตลาดสินค้ากันเฉพาะ Early Harvest Scheme เพียง 82 รายการเท่านั้น โดยให้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2549 ได้แก่ เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย อาหารทะเลกระป๋องอัญมณี ส่วนประกอบเครื่องยนต์ พัดลม ตู้เย็น เป็นต้น อนึ่ง การเจรจาในประเด็นอื่นยังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้กรอบความตกลงอาเซียน-อินเดียซึ่งมีความคืบหน้ามากกว่า โดยเฉพาะด้านการค้าสินค้าภายใต้กรอบอาเซียน-อินเดีย ซึ่งเจรจาเสร็จสิ้น และมีผลบังคับใช้แล้ว ส่วนการค้าบริการและการลงทุนอาจมีการกลับมาเจรจากันใหม่หลังจากที่มีการหยุดพักไว้ (Suspend) ในช่วงการเจรจาในกรอบอาเซียน-อินเดีย

3.4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA)

การค้าสินค้า

สินค้าที่ไทยและญี่ปุ่นนำมาลด/ยกเลิกภาษีหรือกำหนดไว้ในโควตาพิเศษให้แก่กันคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมดที่มีการค้าระหว่างกัน หรือกว่าร้อยละ 95 ของมูลค่าการค้าทั้งหมด

สินค้าที่ญี่ปุ่นยกเลิกภาษีให้ไทยเหลือร้อยละ 0 ทันที (คิดเป็นร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด) ประกอบด้วย กุ้ง ผลไม้สด ผัก และผลไม้แปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสินค้าที่ญี่ปุ่นจะทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2554 อาทิเช่น ไก่สุก ไก่แช่แข็ง ปลาหมึกกล้วยแช่แข็งปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์พลาสติก และสินค้าที่จะทยอยลดภาษีให้เหลือ 0 ภายในปี 2556 ได้แก่ ปลาปรุงแต่งหรือทำไว้ไม่ให้เสีย รองเท้าและเครื่องหนังบางชนิด สุดท้ายคือกลุ่มสินค้าที่ญี่ปุ่นให้โควตา ได้แก่ กล้วย สับปะรดสด กากน้ำตาล และแป้งมันสำปะหลังแปรรูปที่ใช้ในอุตสาหกรรม รวมสินค้าที่ได้สิทธิพิเศษทั้งหมด 8,612 รายการ (ร้อยละ 92.95 ของสินค้าทั้งหมด)

สินค้าที่ไทยที่ลดภาษีให้ญี่ปุ่นเหลือ 0 ทันที (คิดเป็นร้อยละ 45 ของรายการสินค้าทั้งหมด) ประกอบด้วยผลไม้เมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล ลูกเบอร์รี่ต่างๆ พีช พรุน และ เหล็กรีดร้อน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ไทยจะทยอยลดภาษีภายในปี 2555 ประกอบด้วย ผลไม้เมืองหนาวบางชนิด เช่น องุ่น แพร์ พลัม และ สตรอเบอร์รี่ และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยสินค้าที่มีอัตราภาษีเท่ากับหรือต่ำกว่าร้อยละ 20 จะลดภาษีให้เหลือ 0 ภายในปี 2554 ทั้งนี้ สินค้าประเภทเหล็กรีดร้อนอื่นๆ จะทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ในปี 2557-2561 รวมสินค้าที่ได้สิทธิพิเศษทั้งหมด 5,495 รายการ (ร้อยละ 99.82 ของสินค้าทั้งหมด)

การค้าบริการและการลงทุน

ด้านการค้าบริการและการลงทุนเป็นการเปิดเสรีเท่าที่ระบุไว้ในความตกลง (Positive List) และจะมีการทบทวนการเปิดเสรีภายใน 5 ปี หลังมีผลบังคับใช้

ญี่ปุ่นเปิดให้บริษัทไทย/คนไทยเข้าไปลงทุนในทุกสาขา ยกเว้น อุตสาหกรรมผลิตยา อุตสาหกรรม อวกาศและยานอวกาศ น้ำมัน พลังงาน การกระจายเสียง การทำเหมืองแร่ การประมง การเกษตร ป่าไม้ และอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และเปิดให้ไทยสามารถเข้าไปลงทุนเปิดกิจการและทำงานได้ง่ายและมากขึ้นในสาขาบริการด้านดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย สปา โรงแรม ร้านอาหาร อู่ซ่อมรถ เป็นต้น

ไทยผูกพันเฉพาะภาคการผลิตรถยนต์ โดยให้บริษัทญี่ปุ่นหรือคนญี่ปุ่น ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 50 โดย ไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังสามารถแก้ไขข้อผูกพันย้อนหลังได้ แต่อาจต้องมีการชดเชยหรือปรับข้อผูกพันอื่นเพื่อไม่ให้เสียสิทธิประโยชน์โดยรวม

3.5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA)

การค้าสินค้า

ความตกลงด้านการค้าสินค้าในส่วนแรกได้ตกลงกันในสินค้า Early harvest ได้แก่ สินค้าในพิกัด 01-08 ประกอบด้วย สัตว์และพืชที่ได้จากธรรมชาติเป็นหลัก รวมสินค้าเฉพาะ (Specific Product) ระหว่างไทยและจีน ได้แก่ ถ่านหินแอนทราไซด์และถ่านหินโค้ก โดยให้ลดภาษีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ส่วนสินค้าอื่นๆ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) สินค้าปกติ จะลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ภายในปี 2553 (2) สินค้าอ่อนไหวจะลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี 2555 (3) สินค้าอ่อนไหวสูง จะคงอัตราภาษีไว้ถึงปี 2558 จึงจะลดภาษีให้อยู่ที่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราแรกเริ่ม

การค้าบริการและการลงทุน

อาเซียนและจีนตกลงให้มีการเปิดเสรีแบบ progressive liberalization โดยความตกลงการค้าบริการที่ลงนามไปแล้วนั้นจะครอบคลุมการเปิดตลาดกลุ่มที่ 1 (1st Package) 14 ในระดับที่สูงกว่าภายใต้ WTO ส่วนความตกลงว่าด้วยการลงทุนครอบคลุมเฉพาะเรื่องการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนแต่ไม่มีเรื่องการเปิดเสรี เนื่องจากจีนไม่พร้อมที่จะเจรจาในเรื่องนี้และไม่เคยลงนามเรื่องการเปิดเสรีการลงทุนกับประเทศใด

3.6 ความตกลงการค้าเสรี AFTA

การค้าสินค้า

ในปี 2553 นี้เป็นปีที่ความตกลง AFTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบและมีการกล่าวถึงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ความตกลง AFTA เป็นความตกลงด้านการค้าสินค้า มีผลบังคับใช้และเริ่มลดภาษีตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมาสำหรับประเทศอาเซียน 6 ประเทศ (ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) โดย ส่วนมากได้ทยอยลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2550 ไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ของรายการสินค้าทั้งหมดในความครอบคลุมของความตกลง ส่วนในปี 2553 จะเป็นการลดภาษีสินค้าที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 20 หรือ 1,657 รายการ ซึ่งปัจจุบันไทยได้ลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 แล้วเกือบทุกรายการ ยกเว้น รายการสินค้าอ่อนไหว ได้แก่ เมล็ดกาแฟดิบ มันฝรั่ง มะพร้าวแห้ง ไม้ตัดดอก ซึ่งได้ลดภาษีเหลือร้อยละ 5 ในปี 2553

การค้าบริการและการลงทุน

สำหรับความตกลง AFAS สมาชิกอาเซียนต้องเปิดตลาดธุรกิจบริการให้แก่กันมากกว่าที่แต่ละประเทศได้มีข้อตกลงไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยที่สมาชิกทุกประเทศต้องเข้าร่วมการเจรจาเป็นรอบๆ รอบละ2-3 ปี เพื่อทยอยผูกพันการเปิดตลาดให้มากขึ้นทั้งในแง่สาขา (Sector) และรูปแบบการให้บริการ (Mode of Supply) รวมถึงลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อผู้ให้บริการในกลุ่มสมาชิกด้วย รอบการเจรจาล่าสุดคือรอบที่ 7 (7th Package) ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนแต่ละประเทศจะเปิดเสรีตามที่ได้ตกลงและบันทึกไว้ในตารางข้อผูกพัน และให้มีการเจรจาเป็นรอบๆ ต่อไปจนบรรลุเป้าหมายการเปิดตลาดอย่างเสรีตาม AEC Blueprint ภายในปี 2558 อย่างไรก็ดีแต่ละประเทศยังคงมีสิทธิในการออกกฎระเบียบภายในประเทศของตนเพื่อกำกับดูแลธุรกิจบริการให้มีคุณภาพได้

ความตกลงด้านการลงทุนล่าสุดคือ ACIA เป็นการรวมระหว่าง ความตกลง AIA ซึ่งเป็นความตกลงเปิดเสรีการลงทุน และ ความตกลง IGA ซึ่งเป็นความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนไว้ด้วยกันในความตกลงฉบับเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ความตกลง ACIA ได้ขยายกรอบความครอบคลุมทั้งการลงทุน โดยตรง (FDI) และการลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio) โดยคงระดับความผูกพันไม่ให้ต่ำกว่าข้อผูกพันใน AIA และ IGA (No back-tracking) ยกเว้นแต่จะมีการจ่ายค่าชดเชย ทั้งนี้ ไทยได้สงวนบางสาขาที่มีความอ่อนไหวไว้ในข้อสงวน เช่น การทำนา ทำไร่ ประมงบางชนิด การทอผ้าไหมไทย การแปรรูปไม้และ การทำเหมือง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความตกลง อาเซียน-ญี่ปุ่น (สาระสำคัญเฉพาะสินค้า) อาเซียน-เกาหลี (ด้านสินค้า ด้านบริการ และการลงทุน) อาเซียน-อินเดีย (ด้านสินค้า) และ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นความตกลงที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2552 — ต้นปี 2553 จึงจะยังไม่กล่าวถึงรายละเอียดในการศึกษานี้ BOX I. ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)

เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ ASEAN Free Trade Agreement (AFTA) เป็นความตกลงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน และสร้างอำนาจต่อรองในเวทีการค้าโลก โดยกลุ่มอาเซียนเดิม(ASEAN-6 ) ซึ่งได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ และบรูไน ได้ลงนามจัดตั้งเขตการค้าขึ้นในปี 2535 และได้เริ่มปฏิบัติตามเงื่อนไขในการลดอุปสรรคทางภาษีและที่มิใช่ภาษีแก่กัน ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ทั้งนี้ประเทศอาเซียนใหม่หรือ CLMV ซึ่งได้แก่ เวียดนาม ลาว พม่า และ กัมพูชา ได้ทยอยเข้าร่วม AFTA ในช่วงปี 2538-2542

ระบบการลดภาษีของ AFTA เป็นไปตามความกรอบความตกลง Common Effective Preferential Tariff Scheme (CEPT) ซึ่งเป็นการลดภาษีศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน โดยแบ่งรายการสินค้าเป็น 4 บัญชี และมีขั้นตอนการลดภาษีนำเข้าภายใต้กรอบความตกลง ดังนี้

Inclusion List (IL): บัญชีลดภาษีสินค้าปกติ ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกเดิม (ASEAN-6) ทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2536 โดยร้อยละ 60 ของรายการสินค้าปกติทั้งหมดลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2546 อีกร้อยละ 20 ของรายการสินค้าลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2550 และสินค้าทั้งหมด จะมีภาษีร้อยละ 0 ในปี 2553 ทั้งนี้ ไทยมีสินค้าในบัญชีดังกล่าว ทั้งหมด 8,287 รายการและจะต้องลดภาษีเป็น 0 ในปี 2553 อีก 1,657 รายการ สำหรับกลุ่มประเทศ CLMV ต้องลดภาษีสินค้าปกติให้เหลือร้อยละ 0 ในปี 2558

Sensitve List (SL): บัญชีสินค้าอ่อนไหว เป็นรายการสินค้าที่แต่ละประเทศสมาชิกเดิมตกลงให้ลดภาษีเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2553 ในขณะที่ประเทศสมาชิกใหม่ ต้องลดภาษีเป็น 0-5 ในช่วงปี 2556 -2560 สำหรับไทยนั้น กำหนดรายการสินค้า 13 รายการเป็นสินค้าอ่อนไหว และลดภาษีเหลือร้อยละ 5 ในปี 2553 ซึ่งได้แก่ สินค้ากลุ่ม กาแฟ มะพร้าวแห้ง ไม้ตัดดอก มันฝรั่ง

Highly Sensitive List (HSL): บัญชีสินค้าอ่อนไหวสูง ปัจจุบันมีประเทศที่กำหนดรายการสินค้าในบัญชีดังกล่าวเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซียซึ่งคงอัตราภาษีนำเข้าสินค้าข้าวและน้ำตาล ขณะที่มาเลเซียและฟิลิปปินส์ยังกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าข้าว

General Exemption List (GE): บัญชียกเว้น ประกอบด้วย รายการสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติศีลธรรมและจริยธรรมของสังคม ชีวิตและสุขอนามัย รวมถึงทรัพย์สินที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะได้รับการยกเว้นการลดภาษี อาทิ อาวุธ ยาเสพติด และวัตถุโบราณ

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยจะต้องยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าในบัญชีลดสินค้าปกติเพิ่มเติม 1,657 รายการหรือร้อยละ 20 ของรายการสินค้าในบัญชี ซึ่งประกอบด้วยสินค้าประเภท สัตว์น้ำ ชา ธัญพืชและผลิตภัณฑ์ธัญพืช เมล็ดพืช ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไขมันพืช (เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันมะพร้าว และ เนย) อาหารปรุงแต่งจากสัตว์และพืช เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม พลาสติก ไม้ กระดาษ เหล็ก และเครื่องจักร ทั้งนี้ 23 รายการเป็นสินค้าเกษตรซึ่งไทยจะต้องยกเลิกโควตาภาษีที่มีอยู่เดิมและลดภาษีเป็น 0 ในวันที่ 1 มกราคม 2553 แบ่งเป็น

1. สินค้าที่ยังมีโควตาภาษี (Tariff-Rate Quota ) ตามกรอบความตกลง General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) เดิม 10 รายการ ได้แก่ ข้าว ถั่วเหลือง เนื้อมะพร้าวแห้ง มะพร้าว น้ำมันมะพร้าว ชา เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูปน้ำนมดิบ/นมปรุงแต่ง และนมผงขาดมันเนย ขณะนี้ ยังอยู่ระหว่างการตรวจร่างประกาศยกเลิกโควตาภาษีของกระทรวงการคลัง อัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจึงยังคงใช้อัตราภาษีตามกรอบความตกลง WTO (3 มีนาคม 2553)

2. สินค้าเกษตรที่ยกเลิกโควตาไปแล้ว 13 รายการ ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง หอมหัวใหญ่กระเทียม ไหมดิบ น้ำมันปาล์ม น้ำตาล เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ ลำไยแห้ง มันฝรั่ง ใบยาสูบ น้ำมันถั่วเหลืองและพริกไทยสำหรับผลกระทบจากการลดภาษีของเขตการค้าเสรี AFTA ต่อเศรษฐกิจไทย หากวิเคราะห์ในเชิงศักยภาพของการผลิต ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมดีกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยเปรียบเทียบดังนั้นการที่ภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนถูกลดหรือยกเลิกไป เป็นการเพิ่มโอกาสในการผลิตและขยายตลาดส่งออกสำหรับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกสูง ซึ่งได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ยางพาราแท่ง / ยางแผ่นรมควัน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ อาหารสำเร็จรูป และอาหารกระป๋องในขณะเดียวกันการลดภาษีดังกล่าวก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางลบต่อเกษตรกรไทยและและอุตสาหกรรมต้นน้ำในประเทศ โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรบางรายการที่ต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัวค่อนข้างสูง ประกอบกับความสามารถในการแข่งของไทยยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในกลุ่มอาเซียน เช่น ชา กาแฟ (คู่แข่งที่สำคัญ คือ เวียดนาม) น้ำมันปาล์ม (คู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย) เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ภาครัฐมีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีภายใต้กรอบAFTA ดังนี้

1. มาตรการป้องกัน ได้แก่
  • การบริหารการนำเข้า เช่น กำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้า กำหนดช่องทางและช่วงเวลาการนำเข้า รวมถึงวัตถุประสงค์ของการนำเข้าสินค้าบางรายการ เป็นต้น
  • การจัดตั้งระบบการติดตามและตรวจสอบการนำเข้า เช่น กำหนดให้รายงานการนำเข้าและการนำไปใช้
  • กำหนดการใช้มาตรการด้านคุณภาพ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ในด้านสุขอนามัย มาตรฐาน และแหล่งกำเนิดสินค้า
2. มาตรการรองรับผลกระทบ
  • กองทุนให้ความช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์)
  • กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า
  • ในกรณีเกิดการทะลักของสินค้าอันก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมในประเทศ สามารถใช้มาตรการปกป้อง (safeguard measure) เช่น การขึ้นภาษีหรือกำหนดปริมาณนำเข้าได้

เนื่องจากการเปิดเสรีการค้าและบริการมีทั้งประโยชน์และผลกระทบซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้าทายที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาในระยะต่อไป ดังนั้นผู้ประกอบการและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีการทำความเข้าใจ และศึกษาหาโอกาสในการใช้ประโยชน์จากความตกลง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จากแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำจากประเทศในกลุ่มอาเซียน การหาเครือข่ายการผลิตรวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาคเพื่อขยายตลาด ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพการผลิตและกลยุทธ์ในเชิงรุกมากขึ้น

4. ผลกระทบต่อภาพรวมการค้าและการใช้ประโยชน์จาก FTA

ผลกระทบของ FTA ต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากมีผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น สภาพเศรษฐกิจของไทยและประเทศคู่ค้า นโยบายด้านการค้า อาทิเช่น การส่งเสริมการอุปโภคบริโภคในประเทศ และการกระจายตลาดส่งผลให้มีการลดการพึ่งพาประเทศกลุ่ม G3 เป็นต้น จึงเป็นการยากที่จะแยกผลกระทบออกจากกันได้อย่างชัดเจน และการศึกษาเท่าที่เคยมีมักประสบปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ปัจจัยเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่แยกจากกันไม่ได้ และต้องอาศัยข้อสมมติต่างๆ ในแต่ละงานศึกษา อีกทั้งยังมีปัจจัยการที่เศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งโดยรวมแล้ว FTA อาจเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันได้สะดวกและถูกลงเท่านั้น และเป็นการยากที่จะชี้ชัดได้ว่าผลกระทบที่มาจาก FTA โดยเฉพาะนั้นมีมากน้อยเพียงใด

การศึกษานี้ได้พยายามศึกษาผลกระทบจาก FTA ต่อการค้าระหว่างประเทศกับประเทศคู่ภาคี FTA ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย และ จีน โดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบกันใน 4 ประเด็นเป็น สำคัญ โดยเปรียบเทียบก่อนและหลัง FTA มีผลบังคับใช้ ได้แก่ (1) มูลค่าการส่งออกและนำเข้า (2) ส่วนแบ่ง ตลาดของประเทศคู่ภาคีที่มี FTA กับไทย (3) ดุลการค้า และ (4) อัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง

4.1 มูลค่าการส่งออกและนำเข้า

แนวโน้มของมูลค่าการส่งออกและนำเข้า(*15) ไปยังประเทศคู่ภาคีที่ไทยมี FTA ด้วยทั้ง 5 ประเทศในความครอบคลุมของการศึกษานี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย และจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งมูลค่าและลำดับความสำคัญของการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่ภาคี ทางด้านการส่งออกจะเห็นได้ว่าออสเตรเลีย อินเดียและจีน เป็นตลาดส่งออกที่มีการเติบโตทางมูลค่าและมีลำดับที่สูงขึ้นหลังจาก FTA มีผลบังคับใช้อย่างมีนัยสำคัญส่วนทางด้านการนำเข้า พบว่า ประเทศจีนมีมูลค่าและลำดับตลาดที่สูงขึ้น แต่กับประเทศคู่ภาคีอื่นๆ มูลค่าและลำดับการนำเข้าเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ชัดเจนมากนัก

มูลค่าการส่งออกโดยรวมไปยังประเทศคู่ภาคี

การส่งออกจากไทยไปยังประเทศคู่ภาคีทั้ง 5 ดังกล่าว เพิ่มขึ้นทุกประเทศดังแสดงในรูปที่ 7 ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน รายละเอียดดังต่อไปนี้

ในช่วงก่อนที่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จะมีผลบังคับใช้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังออสเตรเลียเพิ่มขึ้นจาก 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2543 เป็น 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 โดยครองอันดับที่ 11 ของตลาดส่งออกของไทย และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนักในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากความตกลง TAFTA มีผลบังคับใช้ในปี 2548 ออสเตรเลียเลื่อนอันดับขึ้นเป็นลำดับที่ 8 ของตลาดส่งออกของไทยมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ มา ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ตลาดออสเตรเลียครองอันดับที่ 7 โดยในปี 2551 ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปออสเตรเลียถึง 8,000ล้านเหรียญสหรัฐฯ(*16)

ในช่วงก่อนที่ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) จะมีผลบังคับใช้ นิวซีแลนด์ถือได้ว่าเป็นตลาดที่ไทย ส่งออกไปน้อยที่สุดในกลุ่มประเทศคู่ภาคี 5 ประเทศ โดยในปี 2543 ไทยส่งออกไปยังนิวซีแลนด์เพียง 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จัดเป็นอันดับที่ 40 และค่อยๆ เลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 36 ด้วยมูลค่า 330 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 หลังจากความตกลง TNZCEP มีผลบังคับใช้ในปี 2548 นิวซีแลนด์ยังคงอยู่ในลำดับที่ 34-36 โดยมีมูลค่าการส่งออก 640 และ 740 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ จึงอาจกล่าวได้ว่า การส่งออกไปยังนิวซีแลนด์โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยมูลค่าการ ส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราต่ำและค่อนข้างคงที่

สำหรับความตกลง FTA ไทย-อินเดีย (ITFTA) มูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดียโดยเปรียบเทียบก่อนและหลังความตกลง ITFTA (Early Harvest) มีผลบังคับใช้นั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในระหว่างปี 2543 และ 2545 ไทยส่งออกไปยังอินเดียไม่ถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยครองอันดับที่ 24 และ 26 ตามลำดับ แต่หลังจากที่ ITFTA มีผลบังคับใช้ในปี 2547 การส่งออกไปอินเดียเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง โดยในปี 2549 อินเดียขึ้นมาครอง อันดับที่ 16 ของตลาดส่งออกของไทย ด้วยมูลค่า 1,806 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 3,344 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออันดับที่ 14 ในปี 2551 นับว่าอินเดียเป็นตลาดการส่งออกที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อเนื่อง และถึงแม้ว่าการเปิดเสรีภายใต้ ITFTA จะครอบคลุมเพียง 82 รายการใน Early Harvest Program แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตลาดสู่อินเดียและกระตุ้นให้มีการค้าสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สำหรับความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยครองอันดับที่ 2 รองจากสหรัฐฯ มาโดยตลอด ทั้งก่อนและหลังที่ความตกลง JTEPA จะมีผลบังคับใช้ มูลค่าการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง โดยก่อน JTEPA มีผลบังคับใช้ในปี 2545 และ 2549 ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่น 13,460 และ 16,380 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ และหลังจากที่ JTEPA มีผลบังคับใช้ในปี 2550 ไทยส่งออกไปยังญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 19,410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 20,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551

สำหรับความตกลง FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) ก่อน ACFTA มีผลบังคับใช้ การส่งออกของไทยไปยังจีนครองอันดับที่ 5 ด้วยมูลค่าการส่งออก 2,830 และ 5,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2543 และปี 2545 ตามลำดับและเมื่อปี 2547 ซึ่งมีการบังคับใช้ Early Harvest Scheme ภายใต้ ACFTA จีนกลายเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 4ด้วยมูลค่าการส่งออก 7,100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ACFTA ในส่วนการค้าสินค้าฉบับเต็มเริ่มบังคับใช้ในปี 2547 และส่งผลให้จีนครองอันดับตลาดส่งออกที่ 3 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้ว่าการลดภาษีจะทยอยลดในปีต่อๆ มาซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเห็นผลของความตกลงอย่างเต็มรูปแบบได้ในช่วงแรก แต่การส่งออกไปจีนก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 9,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 14,900 และ 16,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป เนื่องจากมีการลดภาษีสินค้าอีกหลายพันรายการในปี 2552-2553

มูลค่าการนำเข้าโดยรวมไปยังประเทศคู่ภาคี

มูลค่าการนำเข้าของไทยจากประเทศคู่ภาคีทั้ง 5 เพิ่มขึ้นทุกประเทศ แต่เพิ่มในอัตราต่ำเมื่อเทียบกับมูลค่าการส่งออก ดังแสดงในรูปที่ 8 โดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกัน รายละเอียดดังต่อไปนี้

ในช่วงก่อนที่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จะมีผลบังคับใช้ มูลค่าการนำเข้าจากออสเตรเลียค่อยๆ เพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่า 1,164 และ 2,197 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2543 และ 2547 ตามลำดับ ครองอันดับที่ 12 ของประเทศที่ไทยนำเข้า และเมื่อ TAFTA มีผลบังคับใช้ในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเลื่อนอันดับขึ้นเป็นอันดับที่ 10 แม้ว่าในอีก 2 ปีต่อมา มูลค่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยและทำให้อันดับลดลงเป็นอันดับที่ 12 แต่ในปี 2551 มูลค่าการนำเข้าก็พุ่งสูงขึ้นเป็น 5,164 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ออสเตรเลียกลับมาครองอันดับที่ 10

ในช่วงก่อนที่ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) จะมีผลบังคับใช้ นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ไทยนำเข้าที่อันดับ 41 ต่อเนื่องระหว่างปี 2543 และปี 2547 ด้วยมูลค่า 196 และ 236 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง และหลังจาก TNZCEP มีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ปี 2548 การนำเข้าจากนิวซีแลนด์ในปี 2548 ก็เพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้น โดยมีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 252 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 39 และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 652 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551 หรืออันดับที่ 32

สำหรับความตกลง FTA ไทย-อินเดีย (TIFTA) การนำเข้าจากอินเดียเพิ่มในอัตราค่อนข้างต่ำในช่วงปี 2543-2545 ก่อนที่ TIFTA จะมีผลบังคับใช้ โดยมูลค่านำเข้าในปี 2545 เท่ากับ 770 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นอันดับที่ 20 และเมื่อความตกลง ITFTA มีผลบังคับใช้ในปี 2547 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 1,130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังคงอยู่ในอันดับที่ 20 และหลังจากนั้นการนำเข้าก็เพิ่มในอัตราเร่งขึ้น มูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 2,060 และ 2,630 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือปรับเลื่อนขึ้นเป็นอันดับที่ 16 และ 18 ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ

สำหรับความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 มาโดยตลอดทั้งก่อนและหลัง JTEPA จะมีผลบังคับใช้ในปี 2550 และมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยก่อนความตกลงมีผลบังคับใช้ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 22,290 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 25,660 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 และ 2549 ตามลำดับ และหลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ มูลค่าการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นเป็น 28,380 และ 33,534 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2550 และ 2551 ตามลำดับ

สำหรับความตกลง FTA อาเซียน-จีน (ACFTA) การนำเข้าจากจีนเพิ่มในอัตราที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยในปี 2546 ไทยมีมูลค่าการนำเข้าจากจีน 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นประเทศอันดับที่ 3 รองจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา และในปี 2547 ซึ่งมีการบังคับใช้ Early Harvest Scheme ภายใต้ ACFTA จีนกลายเป็นประเทศที่ไทยนำเข้าเป็นอันดับที่ 2 นับตั้งแต่นั้นมา โดยมีมูลค่าการนำเข้า 8,140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2547 และเพิ่มเป็น 11,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2548 ที่ความตกลงด้านการค้าสินค้าภายใต้ ACFTA มีผลบังคับใช้ และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2550 และ 2551 ด้วยมูลค่า 16,220 และ 20,150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ

ในทางกลับกันหากพิจารณาอันดับของการนำเข้าสินค้าไทยในตลาดประเทศคู่ภาคีดังแสดงในตาราง 1 จะเห็นได้ว่าอันดับการนำเข้าของสินค้าไทยในตลาดของประเทศคู่ภาคีหลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในออสเตรเลียซึ่งลำดับความสำคัญของการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเลื่อนขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 12 ในปี 2547 เป็นอันดับ 7 ในปี 2550 และเป็นอันดับ 4 ในปี 2552 สำหรับการนำเข้าจากไทยไปยังประเทศอื่นๆ นั้น อันดับความสำคัญของไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และแทบจะไม่เพิ่มขึ้นเลยสำหรับญี่ปุ่น

ตาราง 1 : อันดับการนำเข้าจากประเทศไทยไปประเทศภาคี (ในตลาดประเทศภาคี)

Ranking of Import from
Thailand In Partner countries  2544  2545  2546  2547  2548  2549  2550  2551  2552
Australia                        13    14    13    12  **11  **8   **7    **6   **4
New Zealand                      13    13    13    11  **10 **10   **9    **9  **10
China                            12    12    11   *12  **11  **9  **10   **11  **10
Japan                            11    11    11    11    10   10  **10   **12  **11
India(*19)                        -    *-    *-    *-    *-   *-   *25    *27    *-
ที่มา: International Trade Centre
*ปีที่เริ่ม Early Harvest Scheme   **ปีที่ FTA มีผลบังคับใช้

          หากพิจารณาอันดับการส่งออกจากประเทศคู่ภาคีมายังไทยในตาราง 2 จะเห็นแนวโน้มเดียวกันคืออันดับการส่งออกมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดสำหรับออสเตรเลีย สำหรับนิวซีแลนด์ ไทยมีอันดับการส่งออกที่สูงขึ้นในปี 2551 แต่ตกลงมาในปี 2552 อีกครั้งอาจเพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นที่ทำให้ไทยนำเข้าโดยรวมน้อยลงอย่างมาก ซึ่งในประเทศคู่ภาคีอื่นๆ อันดับการส่งออกมายังไทยก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ และไม่เพิ่มขึ้นเลยสำหรับญี่ปุ่น สำหรับอันดับของจีนนั้นตกลงเรื่อยๆ เหตุผลส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะไทยค่อยๆ ทยอยลดภาษีใน FTA ต่างๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังมีสินค้าอีกหลายพันรายการที่ไทยยังไม่ลด หรือเพิ่งลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0

ตาราง 2 : อันดับการส่งออกมายังประเทศไทยจากประเทศภาคี (ในตลาดประเทศภาคี)

Ranking of Export from
Partner countries to Thailand   2544   2545   2546   2547   2548   2549   2550    2551   2552
Australia                         14     11     12     11    **9   **11    **9    **10   **11
New Zealand                       17     19     18     19   **21   **17   **15    **11   **20
China                             19     18     20    *20   **20   **20   **21    **21   **22
Japan                              9      8      7      6      6    **6    **6     **6    **6
India(*20)                         -     19    *20    *23    *23    *22    *24     *23     *-
ที่มา: International Trade Centre
*ปีที่เริ่ม Early Harvest Scheme    **ปีที่ FTA มีผลบังคับใช้

          4.2 ความสำคัญของคู่ค้าที่ทำ FTA กับไทย (ด้านการค้าสินค้า)
          นอกเหนือจากอันดับของประเทศคู่ภาคีด้านมูลค่าการส่งออกและนำเข้ากับไทยที่เพิ่มขึ้นหลังจาก FTAต่างๆ มีผลบังคับใช้ดังแสดงในข้อ 3.1 หากพิจารณาความสำคัญในแง่ของสัดส่วนการส่งออก (Market Share) จากไทยไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ 10 อันดับแรก ที่ไม่ได้ทำ FTA กับไทยในตาราง 3 ส่วนใหญ่ (ยกเว้นกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง) มีสัดส่วนการส่งออกที่ลดลง แม้มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม และแม้ว่าแต่ละประเทศจะสามารถคงอันดับไว้ได้ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศที่มี FTA กับไทยในตาราง 4 พบว่าทุกประเทศ (ยกเว้นญี่ปุ่น) มีสัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับอันดับที่เพิ่มขึ้นในข้อ 4.1 อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายการกระจายตลาดและการลดการพึ่งพาประเทศใหญ่ เช่น
สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป อีกด้วย

ตาราง 3 : สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไม่มี FTA

Share of Total Export (%) 2545   2548   2551
US                        19.8   15.3   11.4
EU                        15.5   13.6   13.2
Middle East(*21)           3.6    4.0    5.3
Taiwan                     2.9    2.5    1.5
ที่มาข้อมูลดิบ: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ตาราง 4 : สัดส่วนมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ภาคีที่มี FTA

Share of Total Export (%)   2543    2544    2545    2546    2547    2548    2549    2550    2551
Japan                      14.74   15.26   14.60   14.19   13.98   13.60   12.63 **11.82 **11.30
China                       4.07    4.41    5.22    7.11   *7.37  **8.26  **9.04  **9.75  **9.10
Australia                   2.34    2.09    2.41    2.70    2.56  **2.86  **3.35  **3.76  **4.49
India                       0.82    0.74    0.61    0.80   *0.95   *1.38   *1.40   *1.75   *1.91
New Zealand                 0.26    0.28    0.30    0.33    0.34  **0.47  **0.41  **0.40  **0.42
ASEAN(*22)                 19.34   19.33   19.91   20.60   22.01   21.99   20.83   21.31   22.59
ที่มาข้อมูลดิบ: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
*ปีที่เริ่ม Early Harvest Scheme   **ปีที่ FTA มีผลบังคับใช้

          หากพิจารณาการส่งออกไปยังประเทศที่ทำ FTA กับไทย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุดในบรรดาประเทศที่ไทยทำ FTA ด้วย โดยมี จีน ออสเตรเลีย อินเดีย และ นิวซีแลนด์ รองลงมาตามลำดับ ดังแสดงในตาราง 4 ซึ่งการมี FTA อาจมีส่วนช่วยให้ไทยสามารถเพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศภาคีได้อย่างต่อเนื่องแม้ตลาดโลกจะเปิดกว้างมากขึ้นและไทยมีการกระจายตลาดไปยังประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยจะเห็นว่า ไทย ส่งออกไปยังประเทศคู่ภาคีในอัตราส่วนที่สูงขึ้นและเร่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่ FTA จะมีผลบังคับใช้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศที่มี FTA กับไทย (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) สูงขึ้นทุกปีหลังจากที่ FTA มีผลบังคับใช้
          ในทางกลับกันหากพิจารณาสัดส่วนการนำเข้า (Market Share) จากไทยไปประเทศคู่ภาคีในตาราง 5 ซึ่ง อาจจะชัดเจนกว่าการพิจารณาเพียงอันดับดังที่ได้ทำไปก่อนหน้า จะเห็นได้ว่ามูลค่าสัดส่วนสินค้าไทยในประเทศคู่ภาคีเพิ่มขึ้นหลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ในทุกประเทศยกเว้นประเทศญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของสินค้าไทยที่เพิ่มมากขึ้นในตลาดสินค้านำเข้าของประเทศคู่ภาคี โดยเฉพาะในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้และยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการเพิ่มขึ้นตามลำดับของจีนก็สอดคล้องกับโครงสร้างความตกลง ACFTA ที่ค่อยๆ ทยอยลดภาษีหลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ส่วนอินเดียมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทีละน้อย (ซึ่งสอดคล้องกับการลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 เพียง 82 รายการใน EHP)

ตาราง 5 : สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าไทยไปยังประเทศคู่ภาคีต่อการนำเข้าทั้งหมดของประเทศภาคีที่มี FTA

Share of Thai Import in
Partner Countries (%)   2544    2545    2546    2547    2548    2549    2550    2551    2552
Japan                   2.97    3.11    3.10    3.10    3.02    2.92  **2.94  **2.73  **2.91
China                   1.94    1.90    2.14   *2.06  **2.12  **2.27  **2.37  **2.27  **2.48
Australia               2.28    2.47    2.79    2.68  **3.09  **3.56  **4.20  **4.49  **5.81
India                   0.82    0.62    0.78   *0.76   *0.85   *0.87   *1.00   *0.84      *-
New Zealand             1.61    1.73    1.80    1.97  **2.55  **2.53  **2.69  **2.72  **2.66
ที่มา: International Trade Centre
*ปีที่เริ่ม Early Harvest Scheme   **ปีที่ FTA มีผลบังคับใช้

          สำหรับกรณีของญี่ปุ่นที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกลดลง อาจอธิบายได้จากปัจจัยเฉพาะของญี่ปุ่นซึ่งมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับการที่บริษัทญี่ปุ่นเริ่มขยายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนาม รวมทั้ง อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปญี่ปุ่นภายใต้ความตกลง JTEPA ที่ยังค่อนข้างต่ำเทียบกับสัญญา FTA อื่นๆ เนื่องจากความตกลงเพิ่งจะมีผลบังคับใช้เมื่อปลายปี 2550 และการลดภาษีเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปญี่ปุ่นน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากการทยอยลดภาษีภายใต้ JTEPA จะค่อยๆ มีผลมากขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2560 ซึ่งผู้ส่งออกจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ภายใต้ความตกลงได้มากขึ้น

          4.3 ดุลการค้า (Trade Balance)
          หากวิเคราะห์ดุลการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่ภาคีรายประเทศโดยเปรียบเทียบก่อนและหลังความตกลงมีผลบังคับใช้ จะเห็นว่าแม้ว่าการค้า(*23) ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นและจีนจะเติบโตสูงต่อเนื่อง แต่ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลกับญี่ปุ่นและจีนมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนมีความตกลง FTA เนื่องจากไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ ทั้งนี้ ไทยขาดดุลกับจีนในอัตราที่เร่งขึ้นหลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ แต่ไทยขาดดุลกับญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2551-2552 หลังจากที่ JTEPA เพิ่งมีผลบังคับใช้ ซึ่งอาจจะยังไม่เห็นผลชัดเจนนักเนื่องจากทั้งสองสัญญายังไม่มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่(*24) ส่วนการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียนั้นเติบโตขึ้นทุกปีเช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่ TAFTA มีผลบังคับใช้ การค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร่งสูงขึ้น ด้านดุลการค้านั้น ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลกับทั้ง 3 ประเทศมาโดยตลอด สำหรับอินเดีย ไทยเคยเป็นฝ่ายขาดดุลมาโดยตลอด จนกระทั่งความตกลง ITFTA (Early Harvest) มีผลบังคับใช้ในเดือนกันยายน ปี 2547 ส่งผลให้ไทยกลายเป็นฝ่ายเกินดุลกับอินเดียนับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

          4.4 การใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA
          เนื่องจากการวัดผลประโยชน์ภายใต้ความตกลงที่ไทยได้รับนั้น เป็นสิ่งที่วัดได้ยากและมีข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะในเรื่องการค้าบริการและการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน การวิเคราะห์จึงจะจำกัดแนวทางไว้เฉพาะเรื่องการค้าสินค้า ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดการใช้สิทธิภายใต้ความตกลง(*25) จากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดังแสดงในตาราง 6 และตาราง 7

ตาราง 6 : การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงในการส่งออก หน่วย: ล้านดอลลาร์ สรอ.

Exports              2547   2548    2549    2550     2551
Australia (TAFTA)      -   2,122   2,746   4,067    4,944
China (ACFTA)        339     614   1,450   1,769    1,691
India (TIFTA)          -     267     328     399      418
Japan (JTEPA)          -       -       -     642    4,507
All FTA              339   3,002   4,524   6,876   11,560
ที่มาข้อมูลดิบ: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ตาราง 7 : การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงในการนำเข้า หน่วย: ล้านดอลลาร์ สรอ.

Imports              2549      2550    2551     6M-2552
Australia (TAFTA)   1,292      395     447        194
China (ACFTA)         734    1,168     143         48
India (TIFTA)         211       31      37         29
New Zealand (TNZCEP)    -       72     187         72
Japan (JTEPA)         350       48   2,103        716
All FTA             2,587    1,714   2,917      1,059

ที่มาข้อมูลดิบ: กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

จากตาราง 4 จะเห็นว่ามูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงต่างๆ ทางด้านส่งออกเพิ่มขึ้นทุกปี และเพิ่มขึ้นในทุกๆ ความตกลงเป็นแนวโน้มเดียวกัน (ยกเว้นจีนในปี 2551) แต่ทางด้านการใช้สิทธินำเข้าดังแสดงในตาราง 5 มีความผันผวนมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีไม่จูงใจมากนัก และหากผู้นำเข้าของไทยไม่ได้ขอให้ผู้ส่งออกต่างประเทศขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าเพื่อขอใช้สิทธิตามความตกลง ผู้ส่งออกก็ไม่มีความจำเป็นต้องขอใช้สิทธิเนื่องจากภาระภาษีก็จะตกอยู่ที่ผู้นำเข้า อีกทั้งสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบ ซึ่งมีอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 0 อยู่แล้ว ขณะที่ผู้นำเข้ารายย่อยอาจไม่มาขอใช้สิทธิเนื่องจากมีความยุ่งยากและอาจจะประหยัดภาษีได้ไม่มากนัก และผู้ประกอบการบางส่วนยังขาดความเข้าใจในการใช้สิทธิประโยชน์ทาง FTA

หากเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิต่อการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังประเทศคู่ภาคี ดังแสดงในรูปที่ 10 จะเห็นว่าการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ FTA ต่อการส่งออกทั้งหมดโดยรวมในช่วงปี 2547-2552 เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราการใช้ประโยชน์จากความตกลง ACFTA และ JTEPA ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2551-2552 (ที่ร้อยละ 28 และ 35 ตามลำดับ) ขณะที่อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ TAFTA และ ITFTA ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 65 และ 17 ตามลำดับ

อัตราการใช้สิทธิประโยชน์(*26)มีลักษณะดังกล่าวเนื่องมาจาก โครงสร้างการลดอัตราภาษีของแต่ละสัญญาที่แตกต่างกัน จึงส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิที่แตกต่างกัน โดยจะสังเกตได้ว่า TAFTA และ TIFTA(*27) ซึ่งเป็นความตกลงที่ลดภาษีในสินค้าที่อยู่ในความครอบคลุมเกือบทั้งหมดเป็นร้อยละ 0 ทันทีในปีที่สัญญามีผลบังคับใช้(Big Bang) จะมีอัตราการใช้สิทธิส่งออกไปยังออสเตรเลียและอินเดียค่อนข้างคงที่ หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ โดยจะผันผวนบ้างตามตัวแปรทางเศรษฐกิจ ขณะที่ความตกลง ACFTA และ JTEPA ซึ่งมีลักษณะการลดภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลต่อการใช้สิทธิส่งออกไปยังจีนและญี่ปุ่นให้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะในปีที่มีการลดภาษีครั้งใหญ่เช่นปี 2552 ใน ACFTA(*28)

(รายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ความตกลงรายประเทศสรุปตามภาคผนวก)

นอกจากนี้ รูปที่ 11 ยืนยันความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างอัตราการใช้สิทธิส่งออกและสัดส่วนรายการสินค้าที่มีการลดภาษีให้เหลือ 0 โดยจากเส้น trend line แสดงให้เห็นว่า ยิ่งมีการลดภาษีสินค้าให้เหลือ 0 มากขึ้นเท่าใดก็จะยิ่งมีการใช้สิทธิมากขึ้น

เนื่องจากการทำ FTA ครอบคลุมมาตรการและกระทบกลุ่มคนที่หลากหลายมาก จึงไม่สามารถที่จะประเมินผลสุทธิเป็นตัวเลขได้ชัดเจน เพราะยังต้องคำนึงถึงปัจจัยปลีกย่อยมากมาย เช่น การลดภาษีแต่ละรายการในแต่ละพิกัดที่แตกต่างกัน การกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ผลประโยชน์ทับซ้อนของคนต่างกลุ่มความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (FTA as a symbolic gesture) การกระจายประโยชน์ให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนปัจจัยทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกจากนี้ การวิเคราะห์ประโยชน์ด้านการค้าสินค้าในภาพรวมด้านเดียวยากที่จะสรุปได้แน่ชัดว่า FTA มีประโยชน์ต่อไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการวัดผลดี-ผลเสียจากความตกลง FTA ในภาพรวมทั้งหมดนั้นยังต้องรวมถึงการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขได้ยาก ทั้งนี้ในส่วนการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงด้านการลงทุนและการค้าบริการโดยรวมไทยไม่ได้ผูกผันใน FTA ต่างๆ มากกว่าที่ผูกผันใน WTO อย่างมีนัยสำคัญ และดูเหมือนจะมีการใช้สิทธิประโยชน์น้อยมาก เช่น มีบริษัทนิวซีแลนด์เพียงบริษัทเดียวที่มาลงทุนในประเทศไทยภายใต้ความตกลง TNZCEP อีกทั้งนักวิชาการบางส่วนยังมีการโต้แย้งว่า บริษัทญี่ปุ่นต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีความตกลงคุ้มครองการลงทุนใน JTEPA หรือไม่ ซึ่งยังคงเป็นข้อถกเถียงกันว่าความตกลงว่าด้วยการค้าบริการและการลงทุนกับประเทศคู่ภาคีต่างๆ นั้นให้ประโยชน์กับประเทศเพียงใด

5. ปัญหาและอุปสรรคในความตกลงต่างๆ

จากการรวบรวมข้อมูลและการศึกษาต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลประชาสัมพันธ์ของกรมเจรจาการค้า ระหว่างประเทศและการศึกษาของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สรุปปัญหาและอุปสรรคจากความตกลงต่างๆ ได้ดังนี้

TAFTA — ออสเตรเลียใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ (Non-Tariff Barrier: NTB) เพื่อปกป้อง อุตสาหกรรมในประเทศเช่น (1) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ในกลุ่มสินค้า ได้แก่ พีวีซี สับปะรดกระป๋อง เหล็ก โครงสร้างรูปพรรณ (2) มาตรการด้านสุขอนามัยที่ออสเตรเลียมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในสินค้าอุตสาหกรรมที่ทำจากไม้ เครื่องปั้นดินเผา ฯลฯ และในสินค้าเกษตร ได้แก่ กล้วยไม้ อาหารสัตว์เลี้ยงบรรจุกระป๋อง อาหารทะเลสด ผลไม้ต่างๆ ทั้งนี้ หลังจากได้มีข้อตกลงตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัย (Expert Group on SPS and Food Standards) ทำให้ไทยสามารถส่งออกลำไย ลิ้นจี่ มังคุด สับปะรด ทุเรียนแกะเปลือก ส้มโอแกะเปลือก และปลาสวยงาม ไปออสเตรเลียได้แล้ว และ (3) เทคนิคทางการค้า เช่นการบังคับติดฉลากสินค้าที่ไม่บรรจุในภาชนะปิดสนิท และอาหารที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อ

TNZCEP — ปัญหาคล้ายคลึงกับออสเตรเลีย กล่าวคือ นิวซีแลนด์ใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ (NTB) เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น (1) มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดกับสินค้าไทย ได้แก่ พลาสเตอร์บอร์ด(Gypsum Plasterboard) เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตแบบตรง/ม้วน และ ไส้กรองน้ำมันเครื่อง (2) มาตรการด้านสุขอนามัยที่นิวซีแลนด์บังคับใช้ในสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นบรรจุภัณฑ์ไม้ และวัสดุบรรจุภัณฑ์ไม้ประเภทต่างๆ และในสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าว อาหารประเภทเนื้อสัตว์ ผลไม้ต่างๆ ข้าวโพด ข้าวเจ้า ฯลฯ และ (3) เทคนิคทางการค้า ในกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์กระดาษและเครื่องเขียน เครื่องพิมพ์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการห้ามนำเข้าพืชและสัตว์ที่มีชีวิตอย่างเคร่งครัด

ITFTA — ปัญหาการส่งออกไปยังอินเดียได้แก่ (1) ปัญหาโครงสร้างภาษีปกติของอินเดียที่ปรับลดลงมาใกล้เคียงกับอัตราภาษีที่ได้เจรจาไว้ใน FTA ทำให้ไทยไม่ได้เปรียบประเทศผู้ส่งออกอื่นมากนัก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (2) ปัญหาด้านการขนส่ง (Logistic) ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งสาธารณูปโภคพื้นฐานในอินเดียมีจำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่ ส่งผลให้ผู้นำเข้าต้องรับภาระต้นทุนสูง และมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการขนส่งระหว่างเมืองในอินเดีย

ACFTA — ปัญหาการส่งออกไปยังจีน ได้แก่ (1) ปัญหาเรื่องความได้เปรียบทางภาษีกับจีนไม่จูงใจเนื่องจากปีที่ผ่านมา การลดภาษีภายใต้ ACFTA ยังเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยจากรายการสินค้าทั้งหมดผู้ประกอบการหลายรายเห็นว่าสินค้าของตนขายได้อยู่แล้ว หรือมียอดขายไม่มากนัก จึงไม่ต้องการเสียเวลาเพื่อมากรอกเอกสารต่างๆ เพื่อขอใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (2) ปัญหาเรื่องพิกัดสินค้า ผู้ประกอบการบางรายพบว่าเมื่อส่งสินค้าออกไปภายใต้พิกัดที่คาดว่าจะได้รับสิทธิในการลดภาษีจากฝ่ายจีน แต่เมื่อสินค้าไปถึงแล้ว ศุลกากรของฝ่ายจีนกลับจัดสินค้านั้นไว้ในอีกพิกัดหนึ่งซึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิตามความตกลง (3) ปัญหากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าในสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และ สินค้าในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งไม่สามารถใช้สิทธิภายใต้ความตกลงได้ เนื่องจากต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก แม้จะรวมมูลค่าวัตถุดิบสะสมภายในกลุ่มอาเซียนแล้วก็ตาม (4) ปัญหาเรื่อง Third-Country Invoicing หลายบริษัทที่ผลิตสินค้าในลักษณะของการจ้างผลิต หรือเป็นบริษัทในเครือซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทของฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก บริษัทเหล่านี้เมื่อส่งสินค้าออกไปขายจีนจะต้องออก Invoice จากบริษัทแม่ซึ่งไม่ใช่บริษัทของประเทศภาคี จึงไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงได้ และ (5) ปัญหาทางด้านมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะในผักและผลไม้ ที่ต้องมีใบรับรองจากกรมส่งเสริมการเกษตร

JTEPA — ปัญหาการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ (1) ปัญหาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้าที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องมีการเจรจากับญี่ปุ่นเพื่อเพิ่มช่องทางการใช้สิทธิ เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง (2) ปัญหาเรื่องสินค้าเหล็กที่ไทยกำหนดโควตานำเข้าปลอดภาษีเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ยังไม่สามารถใช้สิทธิได้ เนื่องจากการนำเข้าเหล็กเพื่อมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ต้องผ่านการรีดเย็นก่อน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการนำเข้ามายังอุตสาหกรรมยานยนต์โดยตรง จึงไม่สามารถใช้สิทธิได้ ทั้งนี้ ทางการกำลังดำเนินการพิจารณาแก้ไขประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของความตกลงที่ต้องการให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิในสินค้าดังกล่าวได้ และ (3) ปัญหาทางด้านการเปิดตลาด เช่น สินค้าที่ไทยมีศักยภาพบางตัวที่ญี่ปุ่นยังไม่เปิดตลาดให้ เช่น น้ำตาล และสับปะรดกระป๋อง ซึ่งต้องรอการกลับมาเจรจากันใหม่ในปี 2555

6. บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

6.1 สรุปภาพรวม FTA ของไทย

ปัจจุบันไทยมีสัญญา FTA หลายฉบับทั้งกับในกลุ่มอาเซียนด้วยกันและกับหลายประเทศที่มีความสำคัญทางการค้าโดยมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างไทยหรืออาเซียนกับประเทศคู่ภาคี เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ซึ่งในบางฉบับก็อาจจะมีเนื้อหาทับซ้อนกันบ้าง ในขอบเขตของการศึกษานี้ได้เจาะลึกถึงรายละเอียดและผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับการค้าของความตกลง FTA 5 ฉบับ ที่มีผลบังคับใช้มาแล้วระยะหนึ่ง ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อินเดีย และ อาเซียน-จีน ซึ่งส่วนใหญ่ จะเน้นการลดอัตราภาษีสินค้าให้เหลือ 0 และจะมีระยะเวลาการลดภาษีที่แตกต่างกันไปในแต่ละสัญญา ถึงแม้ว่าดูจากตารางลดภาษีแล้วนั้น ไทยเป็นฝ่ายที่ต้องลดภาษีมากรายการกว่าประเทศคู่เจรจาโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีภาษีตั้งต้นที่ต่ำ หรือเป็นร้อยละ 0 หลายพันรายการอยู่แล้ว ดังนั้นไทยดูเหมือนจะเสียเปรียบในแง่ถูกบังคับให้ทลายกำแพงภาษี แต่หากมองอีกด้าน หากประเทศคู่แข่งต่างๆ ในอาเซียนทำ FTA กับประเทศคู่ค้าเหล่านี้แล้วไทยไม่ทำไทยก็อาจจะล้าหลังและไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

ผลกระทบของ FTA ต่อการค้าระหว่างประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ประเมินได้ยาก เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ นอกเหนือจากการมี FTA ที่เปลี่ยนแปลงและเข้ามากระทบอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนมีข้อจำกัดทางด้านข้อมูล(*30) ทั้งนี้การวิเคราะห์ประโยชน์ด้านการค้าสินค้าในภาพรวมด้านเดียวก็ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่า FTA มีประโยชน์ต่อไทยมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการวัดผลดี-ผลเสียจากความตกลง FTA ในภาพรวมทั้งหมดนั้นยังต้องรวมถึงการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัดเป็นตัวเลขได้ยาก การวิเคราะห์ผลกระทบของ FTA ในการศึกษานี้จึงเน้นที่ผลของ FTA ที่มีผลบังคับใช้และมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศมาแล้วระยะหนึ่งเป็นสำคัญ โดยใช้เครื่องชี้หลักเชิงปริมาณ 4 ตัว เพื่อวิเคราะห์ผลต่อการค้าในภาพรวม ได้แก่ มูลค่าการส่งออกและนำเข้าส่วนแบ่งตลาดของประเทศคู่ภาคี ดุลการค้า และ อัตราการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง ซึ่งอาจสรุปโดยรวมได้ว่า FTA ต่างๆ น่าจะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไทยอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบตัวเลขการส่งออกที่ไม่สามารถแยกผลกระทบออกได้ แต่จากสถิติมูลค่าการส่งออกและนำเข้า อันดับความสำคัญของประเทศคู่ภาคี และส่วนแบ่งตลาด ที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ความตกลงต่างๆ มีผลบังคับใช้หรือปีที่มีการลดภาษีเป็นร้อยละ 0 หลายพันรายการ อีกทั้งการใช้สิทธิที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามการลดภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนว่าผู้ส่งออกและนำเข้าเล็งเห็นประโยชน์ของ FTA ในระดับหนึ่ง

หากพิจารณาพียงมูลค่าการนำเข้า อันดับและส่วนแบ่งตลาด จะเห็นได้ว่าตัวเลขสถิติเพิ่มขึ้นหลังจากที่ FTA มีผลบังคับใช้อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ดี ตัวเลขการใช้สิทธิการนำเข้านั้น ยังมีความผันผวนมากและอัตราการใช้สิทธิยังอยู่ในระดับต่ำ จึงยังเป็นการยากแก่การสรุปว่า FTA นั้นได้ช่วยผู้นำเข้าไทยมากเท่าที่ควรหรือไม่ส่วนด้านดุลการค้า หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ไทยเปลี่ยนจากฝ่ายขาดดุลกลับเป็นฝ่ายได้ดุลกับอินเดียและมีแนวโน้มจะได้ดุลมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ไทยได้ดุลกับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังความตกลงมีผลบังคับใช้ แต่ก็ขาดดุลกับประเทศญี่ปุ่นและจีนเพิ่มขึ้นด้วย

โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีเป็นผลดีกับผู้ส่งออกไทย แม้ในด้านนำเข้ายังไม่เห็นผลชัด แต่มีความเป็นไปได้ที่ความตกลง FTA ช่วยส่งเสริมให้มีการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกต่อการค้าในภาพรวมจาก FTA อย่างไรก็ดี การทำ FTA ย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และผู้ถูกกระทบ ดังนั้น ภาครัฐควรต้องมีกลไกที่จะติดตามข้อมูลและผลกระทบที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้ผู้ประกอบการ ตลอดจนช่วยในการปรับตัวและเยียวยาให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ FTA ยังมีการใช้สิทธิประโยชน์ควบคู่ไปกับภาระผูกพันซึ่งทางการไทยย่อมมีความเสี่ยงที่อาจถูกฟ้องร้องหากไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณี และยังมีต้นทุนอื่นๆ ในการเจรจาจัดทำความตกลง ซึ่งยากที่จะสรุปได้ชัดเจนว่าไทยได้ประโยชน์โดยสุทธิจากการทำ FTA มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้สิ่งสำคัญในการทำ FTA คือการเปิดเสรีที่ต้องสอดคล้องกับความพร้อมของประเทศ มีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในระดับประเทศในการเลือกคู่เจรจา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและยังดำรงสิทธิของทางการในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ

6.2 ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

เพื่อให้ FTA ที่ได้บังคับใช้แล้วเกิดประโยชน์เต็มที่ต่อประเทศไทย ตลอดจนเป็นแนวทางในการปรับปรุง FTA ที่จะจัดทำต่อไปในอนาคต จึงมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

(1) รัฐควรจัดตั้งหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบดูแลติดตาม จัดทำกลยุทธ์ และประเมินผลการจัดทำความตกลงต่างๆ ในภาพรวม เพื่อเป็นแกนหลักในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และมีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบที่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ต่อได้ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลต่างๆ มีการกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนแตกต่างกันไป นอกจากนี้หน่วยงานกลาง ดังกล่าวควรทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ Cost - Benefit ทั้งในภาพรวมและในแต่ละสัญญาเพื่อประเมินผลการจัดทำความตกลง FTA โดยจัดทำกลยุทธ์ที่ชัดเจน รวมทั้งศึกษามาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศคู่ภาคี และวางแผนแก้ปัญหามาตรฐานสินค้าให้กับผู้ประกอบการไทยในระยะยาว ตลอดจนเป็นศูนย์กลางประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน

(2) หน่วยงานภาครัฐควรปรับปรุงกระบวนการเยียวยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในทางปฏิบัติ เพราะในปัจจุบัน การจะขอความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐทำได้ยาก และต้องทำเป็นร่างโครงการจากกลุ่มผู้ประกอบการที่รวมกันเป็นตัวแทนอุตสาหกรรม เพื่อขออนุมัติความช่วยเหลือทางวิชาการ แต่จะไม่สามารถขอรับเป็นเม็ดเงินช่วยเหลือโดยตรง การทำเป็นโครงการดังกล่าวอาจช่วยเหลือผู้ประกอบการได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำให้ผลประโยชน์จาก FTA กระจายไปได้อย่างทั่วถึง เมื่ออุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์ไม่มีการแบ่งผลประโยชน์ให้กับผู้ที่เสียประโยชน์จากความตกลง จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกำหนดแนวทางและกลไกที่จะทำให้การกระจายประโยชน์มีประสิทธิภาพมากที่สุด

(3) ภาครัฐต้องเร่งประชาสัมพันธ์หรือจัดตั้งสื่อประชาสัมพันธ์ที่ง่ายต่อการเข้าถึง เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ FTA ต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า จากการสำรวจในการศึกษาต่างๆ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการหลายรายไม่ทราบข้อมูลในการใช้สิทธิประโยชน์ในกรอบ FTA ต่างๆ และไม่เข้าใจถึงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า รวมทั้งยังประสบปัญหาความสับสนในกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันในแต่ละความตกลง นอกจากนี้รัฐควรยกประเด็นกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีปัญหาขึ้นหารือกับคู่เจรจาเมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถใช้สิทธิทางภาษีได้ตามเจตนารมณ์ของสัญญานั้นๆ

(4) รัฐควรมีนโยบายเชิงรุกมากขึ้นในการเลือกประเทศคู่เจรจา ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไทยในอนาคตควรมีการจัดทำกลยุทธ์และจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งควรมีนโยบายตอบโต้เชิงรุกในแง่การเจรจาเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคไทยอย่างแท้จริง

เนื่องจากแนวโน้มการเจรจาจัดทำ FTA จะยังคงมีอยู่ต่อไป ดังนั้นไทยก็ควรจะพยายามใช้ประโยชน์จากการทำ FTA ให้ได้มากที่สุด โดยการประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และลดอุปสรรค ในขณะเดียวกันก็ควรหาทาง ให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ถูกกระทบจาก FTA อย่างมีประสิทธิภาพ และเตรียมแผนการเพื่อรองรับการเปิดเสรีเพื่อที่จะเดินตามกระแสโลกได้ด้วยความพร้อมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อประเทศ

ภาคผนวก

การใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA รายประเทศ

1. การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ ACFTA สูงขึ้นอย่างมากในครึ่งแรกของปี 2552 เหตุผลหลักเพราะในต้นปี 2552 จีนลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 เพิ่มขึ้นอีก 2,734 รายการตามที่ผูกผันไว้ในความตกลง จากเดิมมีรายการสินค้าปกติที่มีภาษีร้อยละ 0 อยู่เพียง 585 รายการในปี 2548-2551 เป็นเหตุให้สัดส่วนการใช้สิทธิจากเดิมที่ประมาณ ร้อยละ 11 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ในครึ่งปีแรกของปี 2552 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนได้ลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0 เพิ่มอีก 2,660 รายการ รวมเป็น 5,979 รายการในต้นปี 2553 เพราะฉะนั้นอาจถือได้ว่าปี 2553 เป็นปีที่ ACFTA มีการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบและคาดว่าจะเห็นการใช้สิทธิจากความตกลงที่เพิ่มขึ้นชัดเจน

ทั้งนี้ สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์อินทรีย์ ไม้และของที่ทำด้วยไม้ และ พืชผักในพิกัด 07 อย่างไรก็ดี อัตราส่วนการใช้สิทธิต่อการส่งออกทั้งหมดไม่สูงมากนัก เพราะสินค้า ส่วนใหญ่ที่ไทยส่งออกไปจีน คือ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งภาษีนำเข้าของจีน เป็น 0 อยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องขอใช้สิทธิ และ ยางพาราซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักจากไทย ยังอยู่ใน Sensitive List ของจีน จึงทำให้ยังไม่สามารถขอใช้สิทธิได้ จะมีเพียงแค่สินค้าในกลุ่มเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ที่เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดติด 5 อันดับแรก ที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงได้อย่างเต็มที่ ทำให้สัดส่วนการใช้สิทธิอยู่เพียงประมาณร้อยละ 8-12 มาโดยตลอด และมีสินค้าหลายรายการที่ส่งไปจีนโดยต้องผ่าน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวันก่อน ได้แก่ กล้องถ่ายรูป และ ชุดชั้นใน เป็นต้น ทำให้ไม่สามารถขอใช้สิทธิได้

2. การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ JTEPA เช่นเดียวกับความตกลง ACFTA มีการทยอยลดภาษีในปี 2552 เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ผูกผันไว้ในปีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ได้แก่ ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์ ปลาและสัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง กากและเศษเหลือจากอุตสาหกรรมผลิตอาหาร น้ำตาลและขนมที่ทำจากน้ำตาล สาเหตุที่การใช้สิทธิประโยชน์ค่อนข้างน้อยในช่วงที่ผ่านมาส่วนหนึ่งเพราะความตกลงเพิ่งมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน สินค้าหลายรายการยังไม่ถึงกำหนดลดภาษี ประกอบกับภาษีนำเข้า MFN(*31) ของญี่ปุ่นส่วนมาก (ร้อยละ 75) เป็นร้อยละ 0 อยู่แล้ว เช่น รถยนต์ เครื่องจักรกล เครื่องไฟฟ้าและอุปกรณ์ยางพารา เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกที่ภาษีร้อยละ 0 ได้โดยไม่ต้องขอใช้สิทธิภายใต้ความตกลง อย่างไรก็ดี JTEPA เพิ่งมีผลบังคับใช้มาไม่นานนัก จึงยังคงไม่เห็นผลเต็มที่ในปัจจุบัน

3. การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ TAFTA ค่อนข้างจะคงที่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนร้อยละต่อการส่งออกทั้งหมด แต่หากดูเป็นมูลค่าการส่งออกตามรูปที่ 7 ในข้อ 4 จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี แต่การส่งออกโดยรวมไปยังออสเตรเลียเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของการใช้สิทธิส่งออก จึงทำให้อัตราการใช้สิทธิลดลงบ้างในบางปี และดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการลดภาษีใน TAFTA เป็นแบบ Big Bang โดยตารางเวลาการลดภาษีของออสเตรเลียนั้นจะแบ่งการลดเป็น (1) ในปีที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ ครอบคลุมร้อยละ 83 (2) ในปี 2553 ครอบคลุมอีกร้อยละ 13 และ (3) ในปี 2558 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 4 ของรายการทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่าสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างปี 2548-2551 เป็นสินค้าในกลุ่มเดิม การใช้สิทธิจึงไม่เติบโตขึ้นมากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดจากไทยไปออสเตรเลียที่เพิ่มขึ้น สินค้าที่ใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ได้แก่ พลาสติก และของที่ทำด้วยพลาสติก และการส่งออกสินค้าทั้งหมดในหมวดพลาสติกนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 จากปี 2550 ทั้งนี้ในปี 2553 ที่มีการลดภาษีเพิ่มรอบใหญ่นับได้ว่าเป็นปีที่ TAFTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ

4. การใช้สิทธิประโยชน์ส่งออกภายใต้ TIFTA หากพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกที่ใช้สิทธิประโยชน์จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นเดียวกับแนวโน้ม FTA อื่นๆ แต่สินค้าที่อยู่ในความครอบคลุมของความตกลงมีเพียง 82 รายการใน Early Harvest Scheme (เช่น เงาะ มังคุด ทุเรียน ลำไย อาหารกระป๋อง ฯลฯ) และการลดภาษีก็ลดทันทีทุกรายการเมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ ดังนั้นการใช้สิทธิจึงจำกัดอยู่ภายในสินค้าไม่กี่รายการ เมื่อเทียบกับการส่งออกโดยรวมจากไทยไปอินเดียที่สูงขึ้นมากทุกปีจึงทำให้อัตราส่วนการใช้สิทธิส่งออกต่อการส่งออกไปอินเดียทั้งหมดมีแนวโน้มลดลง แต่มิได้หมายความว่าการใช้สิทธิโดยมูลค่ารวมลดลงแต่ประการใด และหากจำกัดการ วิเคราะห์ไว้เพียงแค่สินค้า 82 รายการดังกล่าว สัดส่วนการใช้สิทธิส่งออกจากมูลค่าการส่งออกทั้งหมดใน 82 รายการ อยู่สูงกว่าร้อยละ 80 มาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2547 ที่ Early Harvest Scheme มีผลบังคับใช้(*32)

เอกสารอ้างอิง

กระทรวงการต่างประเทศ, (2009) “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น Japan — Thailand Economic Partnership Agreement” พิมพ์ครั้งที่ 5. กุมภาพันธ์.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. (2005) “เปิดประตูมังกร เขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน”,มิถุนายน.

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. (2008) “ASEAN Economic Community: AEC ประชาคม เศรษฐกิจอาเซียน” พฤษภาคม.

โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล. (2008) “การขยายการใช้ประโยชน์เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน” กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์. (2009) “FTA กับผลกระทบต่อประเทศไทย: การใช้ประโยชน์และประเด็นปัญหาในส่วนของการค้าบริการ และการลงทุน”, การบรรยาย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย, 14 กรกฎาคม.

มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2008) “การแสวงหาผลประโยชน์จากข้อตกลงการเปิดเสรี(Free Trade Agreements: FTAs) (ระยะที่ 2)”, มกราคม วีรยา พุทฒิบัณฑิต. (2008) “การวิเคราะห์การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีไทยออสเตรเลีย” กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ.

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. (2009) “ผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ของประเทศไทยกับประเทศต่างๆ” บทวิเคราะห์เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรมวุฒิสภา, 3 กรกฏาคม.

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์. (2009) “FTA กับผลกระทบต่อประเทศไทย: การใช้ประโยชน์และประเด็นปัญหาในส่วนของการค้าสินค้า”, การบรรยาย ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย, 14 กรกฎาคม.

สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. (2009) “ข่าวการส่งออกของไทย ปี2551 ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”, มีนาคม.

สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (2009) “ข่าวประชาสัมพันธ์การส่งออกไปจีนไตรมาสแรกของปี 2552 ผู้ส่งออกใช้สิทธิประโยชน์เพิ่ม”.

สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์.. (2009) “ข้อมูลสถิติการส่งออกและนำเข้าสินค้าภายใต้สิทธิ FTA” หนังสือเลขที่ พณ 0306/185, สิงหาคม.

สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์.. (2009) “ข้อมูลสถิติการส่งออกและนำเข้าสินค้าภายใต้สิทธิ FTA”, ข้อมูลเพิ่มเติม, กันยายน.

สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. (2008) “โครงการช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (กองทุนฯ FTA)”, ธันวาคม.

Centre for International Economics, 2004, “The Australia—Thailand Free Trade Agreement: economic effects”

Prepared for the Department of Foreign Affairs and Trade, March.

Kawasaki, K. (2003) “The Impact of Free Trade Agreements in Asia”, Research Institute of Economy, Trade and Industry Discussion Paper Series 03-E-018, September.

International Trade Centre Website. Trade Map - Trade statistics for international business development. 2009-2010. International Trade Centre. 26 February 2010.

ThaiFTA Website. 2005-2009. Department of Trade Negotiations. 28 December 2009.

WTO Regional Trade Agreements. 22 December 2009. Regional Trade Agreements Information System (RTA-IS) 28 December 2009.

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ FTA
ภาพรวม:             กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
Trade in Goods:     กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากรและ สศค.)

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ Trade in Services: กระทรวงพาณิชย์

กระทรวงการคลัง (การค้าบริการทางการเงินในภาพรวม)

Investment:         กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรม

(*1) ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

(*2) ธันยธร ดุลยธรรมาภิรมย์ เป็นเศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และ นรธัช อูนากูล เป็นเศรษฐกร ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เขียนขอขอบคุณผู้บริหาร สายนโยบายการเงิน ที่ให้ความช่วยเหลือ และข้อแนะนำในการจัดทำบทวิเคราะห์นี้

(*3) ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างประเทศต่างๆ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ทั้งนี้อาจเป็นเพียงข้อมูลที่แต่ละประเทศแจ้งไปยัง WTO เท่านั้น และอาจไม่ใช่ข้อมูลล่าสุด

(*4) อ้างจากการศึกษาของ Asian Development Bank (ADB) ที่ว่าประเทศ Spokes จะ approach ประเทศ Hubs เพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางการค้าต่อประเทศคู่แข่ง

(*5) ขณะนี้มีแนวโน้มว่า สหภาพยุโรปจะมาขอเจรจาทวิภาคีกับไทย เนื่องจาก ASEAN-EU มีข้อจำกัดหลายประการและเจรจาไปได้ด้วยความล่าช้า

(*6) The European Free Trade Association (EFTA) ประกอบด้วย Iceland Liechtenstein Norway และ Switzerland

(*7) ASEAN Free Trade Area (AFTA) ซึ่งประเทศอาเซียนอยู่ระหว่างการปรับปรุง Agreement on the Common Effective Preferential Tariff (หรือความตกลง CEPT7) ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ไปสู่ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) โดยให้มีความครอบคลุมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งได้ลงนามไปแล้วเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 อยู่ระหว่างการรอให้สัตยาบัน

(*8) ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2539 โดยให้มีการเจรจาทบทวนทุกๆ 3 ปี

(*9) Investment Guarantee Agreement (IGA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2530

(*10) ASEAN Investment Area (AIA) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2541 ในขณะนี้ความตกลง IGA และ AIA ได้รวมเป็น ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งได้มีการลงนามไปเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ อ.ชะอำ ประเทศไทย และอยู่ระหว่างการจัดทำข้อสงวนก่อนให้สัตยาบันเพื่อให้มีผลบังคับใช้แทน AIA และ IGA ต่อไป

(*11) ความตกลง ATIGA และ ACIA ได้จัดทำแบบขนานกันไปเพื่อพัฒนาความตกลงเดิมให้มีความครอบคลุมที่ทันสมัยและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

(*12) การศึกษานี้จะกล่าวถึงเฉพาะสาระสำคัญหลักของการเปิดตลาด โดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดของกฎเกณฑ์หรือพันธะอื่นๆ ในความตกลง

(*13) เช่น ASEAN-Korea และ ASEAN-Japan ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในปลายปี 2552 ASEAN-India และ ASEAN-Australia-New Zealand ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อต้นปี 2553

(*14) กิจกรรมที่ไทยเสนอเปิดตลาดเพิ่มขึ้นจากข้อผูกพันภายใต้ WTO ครอบคลุมกิจกรรมบริการบางประเภทในสาขาวิชาชีพ การศึกษา บริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้าทางเรือ สำหรับจีนเสนอเปิดตลาดเพิ่มเติมครอบคลุมกิจกรรมในสาขาบริการด้านคอมพิวเตอร์ บริการด้านอสังหาริมทรัพย์ บริการขนส่งสินค้าทางถนน และบริการธุรกิจอื่นๆ

(*15) เนื่องจากข้อจำกัดทางข้อมูล จึงยังไม่สามารถแยกผลกระทบจากราคา (Price effect) และผลกระทบจากปริมาณ (Quantity effect) ได้จึงจำเป็นต้องใช้มูลค่าการค้าโดยรวม

(*16) ส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกทองคำไปยังออสเตรเลีย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2551

(*17) ลูกศรชี้ลำดับของการส่งออกไปยังประเทศคู่ภาคีในตลาดส่งออกของไทย

(*18) ลูกศรชี้ลำดับการนำเข้าจากประเทศคู่ภาคีในตลาดนำเข้าของไทย

(*19) มีข้อจำกัดทางข้อมูล

(*20) มีข้อจำกัดทางข้อมูล

(*21) สัดส่วนการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปยังกลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศกลุ่มนี้ มีบทบาททางการค้าโลกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่สูงขึ้นมากเนื่องจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

(*22) สำหรับสัดส่วนการส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน ซึ่งครองอันดับ 1 มาโดยตลอดนั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าภายใต้ CEPT Agreement (ภายใต้ AFTA) ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2536

(*23) มูลค่ารวมของการส่งออกและนำเข้า

(*24) หาก JTEPA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ ไทยอาจขาดดุลเพิ่มขึ้น

(*25) มีข้อมูลการใช้สิทธิในการส่งออกตั้งแต่ปี 2547 แต่ข้อมูลใช้สิทธิในการนำเข้าจะมีข้อมูลตั้งแต่ปี 2549 และสำหรับกรณีการส่งออกไปนิวซีแลนด์ ผู้ส่งออกสามารถยืนยันคุณสมบัติการได้ถิ่นกำเนิดสินค้าได้เอง จึงไม่มีการเก็บข้อมูลการใช้สิทธิส่งออก

(*26) เนื่องจากมีข้อจำกัดทางข้อมูลจึงไม่ได้ใช้อัตราการใช้สิทธิประโยชน์ต่อมูลค่าการค้าที่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ได้

(*27) กรณีของอินเดียเป็น Early Harvest Scheme เฉพาะสินค้า 82 รายการ ทำให้อัตราการใช้สิทธิต่อมูลค่าการส่งออกรวมต่ำและมีแนวโน้มลดลงเพราะมูลค่าการส่งออกรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะสินค้า 82 รายการ อัตราการใช้สิทธินั้นเกินร้อยละ 80 มาโดยตลอด

(*28) ACFTA จะมีผลอย่างเต็มรูปแบบเมื่อสินค้าเกือบทั้งหมดมีการลดอัตราภาษีเป็นศูนย์ในปี 2553

(*29) ข้อมูลการลดภาษีและการใช้สิทธิในแต่ละปีตั้งแต่ความตกลง ACFTA TAFTA และ JTEPA มีผลบังคับใช้

(*30) เนื่องจากข้อจำกัดทางข้อมูลจึงไม่สามารถแยก Price effect และ Quantity effect ออกจากกันได้ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมูลค่าการค้าอาจจะไม่ได้บ่งบอกถึงปริมาณการค้าที่มากขึ้นก็เป็นได้ เช่น หากราคาสูงขึ้น ถึงแม้จะขายในจำนวนเท่าเดิม มูลค่าการค้าก็จะสูงขึ้น อย่างไรก็ดีราคาสินค้าที่ค้าขายกับประเทศคู่ภาคีต่างๆ นั้นไม่แปรปรวนมากนัก

(*31) ภาษีอัตรา MFN ที่ให้ 153 ประเทศสมาชิก WTO

(*32) อ้างจากการศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรม

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ