เราจะได้อะไรจาก e-payments

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 6, 2010 14:56 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

นายณัฐวุฒิ อติรัตน์ ผู้วิเคราห์อาวุโส

ฝ่ายระบบการชำระเงิน

รูปแบบการชำระเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าและบริการของมนุษย์ ได้มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องปัจจุบันแม้เงินสดและเช็คยังคงมีการใช้อย่างแพร่หลาย แต่ก็เริ่มถูกทดแทนด้วย “การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์” (electronic payments) หรือ “e-payments” มากขึ้น บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในการซื้อสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่างๆ เพื่อชำระเงินแก่คู่ค้าหรือจ่ายเงินเดือนแก่พนักงาน ลองมาดูกันว่าประโยชน์ของ e-payments มีอะไรบ้าง

1. ลดต้นทุนการจัดการของผู้เกี่ยวข้อง เงินสดและเช็คมีต้นทุนการจัดการที่สูงมาก โดยเฉพาะเงินสดถือว่าเป็นสื่อการชำระเงินที่มีค่าใช้จ่ายในการจัดการสูงที่สุด เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง จนกระทั่งถึงมือประชาชน จะต้องผ่านกระบวนการนับ คัดแยก ขนส่ง จัดเก็บ จนถึงการส่งธนบัตรที่เสื่อมสภาพกลับมาทำลายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีค่าประกันความเสียหายจากการสูญหาย โดยมีสามฝ่ายที่แบกรับภาระต้นทุนไว้มากที่สุด ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตและกระจายธนบัตรสู่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารพาณิชย์ในฐานะผู้กระจายธนบัตรถึงมือประชาชนผ่านช่องทางสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม และกลุ่มร้านค้าที่จ่ายและรับเงินสด สำหรับประชาชนจะมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมผ่านทางค่าสินค้าและบริการ หรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์

สำหรับการชำระเงินด้วยเช็ค ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในปี 2549 พบว่าภาคธุรกิจมีต้นทุนในการใช้เช็คเฉลี่ยต่อฉบับสูงถึง 88.6 บาท ประกอบด้วยค่าใบเช็ค ค่าเวลาและเงินเดือนของพนักงานและผู้บริหารที่เป็นผู้ลงนามบนเช็ค ในขณะที่การโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถทดแทนเช็คได้มีต้นทุนเฉลี่ยต่อรายการเพียง 28.2 บาท

จากข้อมูลในหลายประเทศพบว่า e-payments ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศโดยรวมได้ไม่น้อยกว่า 1% ของ GDP ต่อปี จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมรัฐบาลในหลายประเทศจึงได้กำหนดนโยบายให้มีการใช้ e-payments เพื่อทดแทนเงินสดและเช็คมากขึ้น

2. เพิ่มประสิทธิภาพและโอกาสในการทำธุรกิจ จากการที่เงินสดและเช็คเป็นการทำธุรกรรมที่คู่ค้าต้องมาพบหน้ากัน (face-to face transaction) จึงเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจ e-commerce ในขณะที่ e-payments ช่วยให้คู่ค้าที่อยู่ห่างกันสามารถชำระเงินระหว่างกันได้ โดยข้อมูลของบริษัท Global Insight พบว่าการขยายตัวของ e-payments ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้ช่วยทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นถึง 6.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และสามารถสร้างงานใหม่ให้ชาวอเมริกันได้ถึง 1.3 ล้านตำแหน่ง นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจระหว่างประเทศได้อีกด้วย

3. เพิ่มความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงิน เงินสดเป็นสื่อการชำระเงินที่ไม่สามารถบ่งบอกตัวตนของผู้ใช้ได้ จึงยากแก่การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่าย รวมถึงมักถูกใช้เพื่อกิจกรรมที่ผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การทุจริตคอรัปชัน และธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ เป็นต้น e-payments จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดปัญหาต่างๆ ที่กล่าวได้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐ ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดอีกประการคือการช่วยแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงการชำระภาษี ทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยได้มากขึ้น

หลายประเทศพยายามขับเคลื่อนระบบการชำระเงินให้ก้าวพ้นการพึ่งพาเงินสดและเช็คไปสู่ยุคของ e-payments สำหรับประเทศไทยมีการจัดทำ “แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงิน 2553” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กลุ่มธนาคารพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐและธุรกิจที่ใช้บริการชำระเงิน และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการชำระเงิน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อผลักดันให้มีการใช้ e-payments ในประเทศมากขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพ มั่นคงปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงการปรับให้ค่าธรรมเนียมของ e-payments ลดลงเพื่อจูงใจให้มีการใช้มากขึ้น

สำหรับภาคธุรกิจ การหันมาใช้ e-payments แทนการใช้เงินสดและเช็ค ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย โดยธุรกิจควรหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงค่าธรรมเนียม และเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ระยะเวลาที่หักเงินจากบัญชี หรือนำเงินเข้าบัญชี เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น การหาข้อมูลจากหลายธนาคารเปรียบเทียบกัน ก็จะทำให้สามารถเลือกใช้บริการที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจได้อย่างมาก ในส่วนของประชาชนผู้บริโภคเอง การหันมาใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต และการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและลดความเสี่ยงจากการถือเงินสดจำนวนมาก ได้เป็นอย่างดี

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 6 เมษายน 2553

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ