ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 1 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 10, 2010 14:46 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ฉบับที่ 20/2553

นางนวอร เดชสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน เปิดเผยว่าระบบธนาคารพาณิชย์โดยรวมในไตรมาส 1 ปี 2553 มีเสถียรภาพ โดยภาวะเศรษฐกิจไทยที่ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้สินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange : B/E) ขยายตัวชะลอลง สภาพคล่องทรงตัว สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่อง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ทำให้ฐานะเงินกองทุนอยู่ในระดับเข้มแข็ง อย่างไรก็ดีแม้ความชัดเจนของการฟื้นตัว ทั้งเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศมีมากขึ้น แต่ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ รวมถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังไม่ชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งการ อุปโภคบริโภคและการลงทุน รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยว สาเหตุดังกล่าวอาจส่งผลให้สินเชื่อ ของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวได้ไม่เต็มที่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีแรงกดดันต่อคุณภาพสินทรัพย์ ด้านความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด และติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเช่นที่ผ่านมา

สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 2.5 จากที่หดตัวร้อยละ 1.8 ณ สิ้นปี 2552 โดยสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 72.2 ของสินเชื่อรวม) หดตัวลดลงเหลือร้อยละ 0.7 จากการส่งออก การบริโภค การลงทุนในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และการเร่งใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวดีขึ้นที่ร้อยละ 11.6 ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวสูงตามการเร่งโอนกรรมสิทธิ์ของผู้ซื้อเพราะได้รับประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐที่เดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 มีนาคม 2553 และได้ขยายเวลาออกไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 ประกอบกับสินเชื่อรถยนต์ก็ขยายตัวตามยอดจำหน่ายรถที่เพิ่มขึ้นด้วย

เงินฝากรวม B/E ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน การขยายตัวไตรมาสนี้ลดลงจากสิ้นปี 2552 เพราะมีการถอนเงินของลูกค้านิติบุคคลและผู้ฝากเงินหันไปลงทุนรูปแบบอื่น ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากธนาคาร แต่สภาพคล่องโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและ B/E อยู่ที่ร้อยละ 85.7

สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มียอดคงค้าง 3.71 แสนล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2552 จำนวน 4.8 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง gross NPL และ net NPL เหลือ ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ ส่วนที่ลดลงเกิดจากจากการรับชำระคืนหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นสำคัญ โดย NPL ลดลงทั้งในภาคธุรกิจและอุปโภคบริโภค ส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent loan) มียอดคงค้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 3.1

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2553 จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2.1 พันล้านบาท จากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับและเงินปันผลสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ลดลงเล็กน้อยเหลือ ร้อยละ 2.8 จากร้อยละ 2.9 ในปี 2552 แต่อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.0 ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนทรงตัวในระดับสูง โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อ สินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 ratio) เท่ากับร้อยละ 16.0 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ