แนวทางปฎิบัติในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตั๋วเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday March 31, 1997 19:31 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                      ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2540
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.งฟ. (ว) 871/2540 เรื่อง แนวทางปฎิบัติในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตั๋วเงิน
เนื่องด้วยปัจจุบันบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ได้มีการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขาย และสลักหลังตั๋วเงินแบบมีสิทธิไล่เบี้ยเป็นจำนวนสูงขึ้นมาก ซึ่งหากมิได้มีการกำหนดแนวทางปฎิบัติในการทำธุรกรรม ดังกล่าว อย่างชัดเจนรอบคอบอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่บริษัทได้มาก ธนาคารจึงกำหนดให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัทต้องจัดทำระเบียบปฎิบัติในการทำธุรกรรมเกี่ยว กับตั๋วเงิน โดยอย่างน้อยต้องมีแนวทางในการปฎิบัติ ดังนี้
1. ต้องมีการกำหนดวงเงินสูงสุดในการให้กู้ยืมหรือลงทุน โดยการรับซื้อ ซื้อลด และรับช่วง ซื้อลดตั๋วเงิน หรือก่อภาระผูกพันในตั๋วเงินไว้ล่วงหน้าเป็นต่อรายบุคคลที่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น ไม่ว่าผู้ออกตั๋วหรือผู้สั่งจ่าย ผู้จ่ายเงินตามตั๋วรวมทั้งผู้รับรอง ผู้รับอาวัล หรือผู้สลักหลัง โดยแยกต่างหากจากวงเงินอื่น ทั้งนี้ การทำธุรกรรมที่เกินวงเงินต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท
2. ต้องมีการกำหนดวงเงินสูงสุดของผู้มีอำนาจอนุมัติในแต่ละระดับไว้อย่างเหมาะสมและชัดเจน ทั้งวงเงินในการรับซื้อตั๋วเงิน วงเงินในการรับรอง รับอาวัล สอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน หรือวงเงินในการสลักหลังแบบผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย (with recourse)
3. การกำหนดวงเงินเพื่อซื้อ หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันในตั๋วเงินตามข้อ 1 ต้องมีการวิเคราะห์ถึงฐานะการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ที่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้นทุกราย ซึ่งใน รายงานวิเคราะห์ต้องมีการรวบรวมข้อมูลในทำนองเดียวกับการให้กู้ยืมตามปกติ
4. ในการรับซื้อหรือลงทุนในตั๋วเงิน บริษัทต้องมีระบบการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงความถูกต้องและสมบูรณ์ของตั๋วเงิน รวมทั้งความรับผิดของผู้จ่ายเงินเมื่อถึงกำหนดชำระ
5. ต้องมีระบบเพื่อตรวจสอบวงเงินคงค้างของผู้ที่ต้องรับผิดชอบตั๋วเงินทุกรายเป็นประจำเปรียบเทียบกับวงเงินที่กำหนดไว้และมีระบบการรายงานให้ผู้บริหารระดับที่สูงกว่าหรือคณะกรรมการบริษัททราบถึงการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตั๋วเงินเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง
6. มีการทบทวนฐานะและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ที่ต้องรับผิดตามตั๋วเงินทุกรายรวมทั้งทบทวนวงเงินอนุมัติ และรายงานให้คณะกรรมการบริษัททราบเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
ทั้งนี้ ให้บริษัทจัดส่งแนวทางปฎิบัติในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับตั๋วเงินที่ได้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทแล้ว ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือนี้
ขอแสดงความนับถือ
(นายเริงชัย มะระกานนท์)
ผู้ว่าการ
ส่วนกำกับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ฝ่ายกำกับและพัฒนาสถาบันการเงิน
โทร. 2826650

แท็ก ธปท.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ