การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday April 20, 2000 09:32 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                   19 เมษายน  2543
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร*
ที่ สนส.(02) ว. 700 /2543 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ลงวันที่ 7 เมษายน 2543 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่12 มิถุนายน 2543 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 117 ตอนพิเศษ 35 ง ลงวันที่ 12 เมษายน 2543 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน ดังนี้
1 กำหนดความหมายของบัญชีเงินฝาก และผู้ฝากเงิน
2 กำหนดข้อมูลที่ผู้ฝากเงินจะต้องแสดงตน เมื่อเปิดบัญชีเงินฝาก
3 กำหนดหลักฐานการแสดงตนของผู้ฝากเงินตามข้อ 2
4 กำหนดการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานแสดงตน และระยะเวลาการเก็บรักษา
5 กำหนดข้อห้ามกรณีผู้ฝากเงินประสงค์จะปกปิดชื่อจริง
6 กำหนดการปฏิบัติสำหรับผู้ฝากเงินที่มีบัญชีเงินฝากอยู่ก่อนวันที่ประกาศ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการ สายนโยบายสถาบันการ
ผู้ว่าการ แทน
สนสว10-กส31001-25430419ด
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่อง การรับฝากเงิน
ลงวันที่ 7 เมษายน 2543
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
โทร 2836829
หมายเหตุ* ไม่รวมกิจการวิเทศธนกิจ
[
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่…………ณ……..
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องการรับฝากเงิน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับฝากเงิน ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
“บัญชีเงินฝาก” หมายความว่า การรับฝากเงินที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามหรือเมื่อสิ้นระยะเวลาอันกำหนดไว้ ไม่ว่าจะกระทำโดยวิธีการอื่นใดที่ธนาคารพาณิชย์ได้รับอนุญาตในปัจจุบัน หรืออาจได้รับอนุญาตในอนาคต
“ผู้ฝากเงิน” หมายความรวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจในการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์แทน หรือในนามของผู้อื่น
ข้อ 2 ในการเปิดบัญชีเงินฝาก ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้ผู้ฝากเงินแสดงตนโดยแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับตนเองอย่างละเอียด ในแบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้นพร้อมลงลายมือชื่อ
แบบรายการคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์กำหนดขึ้นตามวรรคหนึ่งจะต้องมีรายการละเอียดของผู้ฝากเงินอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน อาชีพ สถานที่ทำงาน สถานที่ที่สะดวกในการติดต่อ
(2) ในกรณีเป็นนิติบุคคลให้แสดงรายละเอียดข้อมูล เกี่ยวกับประเภทธุรกิจ หรือวัตถุประสงค์ของผู้ฝากเงินที่เป็นธุรกิจในทางการค้าปกติ
ข้อ 3 ธนาคารพาณิชย์ต้องจัดให้ผู้ฝากเงินที่ขอเปิดบัญชีเงินฝากในข้อ 2 แสดงเอกสารหลักฐานประกอบการขอเปิดบัญชีเงินฝาก ดังต่อไปนี้ และต้องเรียกสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวจากผู้ฝากเงิน โดยให้ผู้ฝากเงินลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานดังกล่าวไว้ด้วย
(1) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นบุคคลธรรมดา ต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือบัตรประจำตัวพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานองค์การของรัฐ หรือบัตรแสดงตนอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของทางราชการ หรือที่เกี่ยวข้องกับทางราชการหรือโดยองค์การระหว่างประเทศ หรือเอกสารแสดงตนอื่น และสำเนาทะเบียนบ้าน หรือหลักฐานแสดงที่อยู่อาศัยอื่น
(2) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นนิติบุคคล ต้องแสดงหนังสือบริคณห์สนธิ ข้อบังคับบริษัท หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทะเบียนการค้าที่จดทะเบียนไว้กับกรมสรรพากร บัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของกรมสรรพากร รายงานการประชุมกรรมการบริษัทที่แสดงความประสงค์ขอเปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมทั้งประทับตราบริษัท สำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจลงนามพร้อมลงนามรับรองสำเนา สำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามพร้อมลงนามรับรองสำเนา
(3) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ต้องแสดงหนังสือแสดงความจำนงขอเปิดบัญชี อำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่าย สำเนาบัตรประจำตัวของผู้มีอำนาจลงนามสั่งจ่าย พร้อมลงนามรับรองสำเนาจากหัวหน้าส่วนราชการ องค์กร หรือหน่วยงานนั้น
(4) สำหรับผู้ฝากเงินที่เป็นสหกรณ์ มูลนิธิ สมาคม สโมสร วัด มัสยิด และศาลเจ้า ต้องแสดงหนังสือจดทะเบียนของกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง หนังสือแต่งตั้งหรือมอบอำนาจ รายงานการประชุมกรรมการหรือหนังสือแสดงความประสงค์ขอเปิดบัญชี รวมทั้งกำหนดอำนาจและเงื่อนไขในการสั่งจ่ายโดยผู้มีอำนาจลงนามรับรองพร้อมประทับตรา หนังสือยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก และอื่นๆ รวมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการ หรือผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมลงนามรับรองสำเนา
สำหรับผู้ฝากเงินที่ไม่ใช่บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ให้แสดงเอกสารหลักฐานแสดงตนเองและที่อยู่ ที่หน่วยงานราชการออกให้ตามที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าเมือง
ข้อ 4 ธนาคารพาณิชย์ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานในข้อ 3 ตามปกติวิสัยที่พึงปฏิบัติ โดยสุจริตและปราศจากความประมาทเลินเล่อ และต้องจัดเก็บสำเนาเอกสารหลักฐานที่ผู้ฝากเงินได้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารหลักฐานตามข้อ 3 และเก็บรักษาไว้ในห้องมั่นคงของธนาคารพาณิชย์เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ลูกค้าปิดบัญชีเงินฝาก เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้มีอำนาจตามกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบ หรือใช้ประกอบในการสอบสวนหรือดำเนินคดี
ข้อ 5 ธนาคารพาณิชย์จะให้ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากโดยปกปิดชื่อจริงของผู้ฝากเงิน ใช้ชื่อแฝงหรือใช้ชื่อปลอมมิได้
ข้อ 6 สำหรับผู้ฝากเงินที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์อยู่แล้วก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ
ข้อ 7 ประกาศนี้ให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ประกาศ ณ วันที่ 7 เมษายน 2543
( ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป10-กส31001-25430407ด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ