การให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้น

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday September 12, 2001 13:51 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                      12  กันยายน  2544
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ที่ สนส.(02) ว. 61/2544 เรื่อง การนำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่อง การให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยขอส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 4 กันยายน
2544 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2544 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 118 ตอนพิเศษ 88 ง ลงวันที่ 11 กันยายน 2544 แล้ว
สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ
1. ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ระงับการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ในปริมาณเกินสมควรโดยได้กำหนดความหมายของการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในปริมาณเกินสมควร พร้อมกับข้อยกเว้นที่จะไม่นับรวมเป็นการให้สินเชื่อหรือลงทุนดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้กำหนดข้อปฏิบัติในกรณีที่ได้ให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุนเกินอัตราที่กำหนดก่อนวันที่ประกาศกำหนดด้วย
2. ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ระงับการให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์โดยมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติ พร้อมกับกำหนดกรณีที่ถือว่าเป็นการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนโดยมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติ
3. ให้บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์จัดทำนโยบายการให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่บริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทเงินทุนหรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์นั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นายสามารถ บูรณวัฒนาโชค)
ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและ
การให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 4 กันยายน 2544
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์
โทร. 0-2283-6827-8
หมายเหตุ [….
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่ ………... ณ
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว33-กส33103-25440912ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องและการให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้น
______________________
เนื่องจากสถาบันการเงินได้มีการลงทุนในกิจการต่าง ๆ มากมายซึ่งมีทั้งกิจการที่สถาบันการเงินเข้าไปลงทุนด้วยตนเองและลงทุนร่วมกับกรรมการ ผู้บริหารของสถาบันการเงิน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ รวมทั้งมีการให้กู้ยืมแก่กิจการที่กล่าว และผู้ถือหุ้นในปริมาณสูงโดยไม่ได้มีกระบวนการพิจารณาให้กู้ยืมเงินที่รัดกุมเหมาะสม หรือให้กู้ยืมเงินในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการเหล่านี้ หรือไม่ได้มีการตีราคาอสังหาริมทรัพย์ที่วางเป็นประกันอย่างรอบคอบ ส่งผลให้สถาบันการเงินได้รับความเสียหายจากการให้กู้ยืมเงินนั้น ดังนั้น เพื่อพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26(3) และ26(4)(จ) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 พ.ศ. 2526 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในหนังสือฉบับนี้
"บริษัท" หมายความว่า บริษัทเงินทุน หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
"บริษัทจำกัด" หมายความว่า บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น
"ผู้ที่เกี่ยวข้อง" หมายความว่า บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับอีกบุคคลหนึ่งในลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
(1) เป็นคู่สมรส บิดา มารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม
(2) เป็นบุตรหรือบุตรบุญธรรม
(3) เป็นบริษัทจำกัดที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจในการจัดการ
(4) เป็นบริษัทจำกัดที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้น
(5) เป็นบริษัทจำกัดที่บุคคลนั้นหรือบุคคลตาม (1) หรือ (2) มีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการ
(6) เป็นบริษัทลูกของบริษัทจำกัดตาม (3) หรือ (4) หรือ (5)
(7) เป็นบริษัทร่วมของบริษัทจำกัดตาม (3) หรือ (4) หรือ (5)
(8) เป็นตัวการหรือตัวแทน
ในกรณีที่บุคคลใดถือหุ้นในบริษัทจำกัดใดตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไปของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริษัทจำกัดนั้นเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว
"บริษัทแม่" หมายความว่า บริษัทจำกัดที่มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจำกัดอื่น
"บริษัทลูก" หมายความว่า
(1) บริษัทจำกัดที่มีบริษัทจำกัดอื่นมีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทจำกัดนั้น
(2) บริษัทลูกของบริษัทจำกัดตาม (1) ทุกทอด
"บริษัทร่วม" หมายความว่า บริษัทลูกที่มีบริษัทแม่ร่วมกัน
"อำนาจควบคุมกิจการ" หมายความว่า
(1) การที่บุคคลหนึ่งมีหุ้นในบริษัทจำกัดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือ
(2) การที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด หรือ
(3) การที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดในบริษัทจำกัดหนึ่ง
ในกรณีที่บุคคลหนึ่งมีหุ้นในบริษัทจำกัดหนึ่งตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไปของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลที่มีหุ้นดังกล่าวมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทจำกัดนั้น
"สมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด" หมายความว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา รวมทั้งคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว
"กิจการที่บริษัท หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง" หมายความว่า
(1) กิจการที่บริษัท หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดของบุคคลที่กล่าวข้างต้น ถือหุ้นรวมกันเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น หรือมีอำนาจควบคุมกิจการในกิจการนั้น
(2) บริษัทร่วมของบริษัท
(3) กิจการที่มีกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัท เป็นกรรมการในกิจการนั้น
"ผู้ถือหุ้น" หมายความว่า
(1) บุคคลที่ถือหุ้นในบริษัทไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทโดยให้นับรวมถึงหุ้นที่ถือโดยผู้ที่เกี่ยวข้องและสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดด้วย
(2) บุคคลที่มีอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทรวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิดด้วย
(3) บริษัทจำกัดที่บุคคลตาม(1)หรือ(2) ถือหุ้นเกินร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทจำกัดนั้น หรือมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทจำกัดนั้น
"ธุรกิจทางการเงิน" หมายความว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เช่น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจลิสซิ่ง ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ธุรกิจการรับโอนโดยมีค่าตอบแทนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการจำหน่ายสินค้า เป็นต้นข้อ 2 ให้บริษัทระงับการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการที่บริษัท หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทในปริมาณเกินสมควร
การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในปริมาณเกินสมควร หมายความว่า การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันแก่กิจการหรือบุคคลตามวรรคหนึ่งเกินร้อยละ 5 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัท หรือร้อยละ 50 ของส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดนั้น หรือร้อยละ 25 ของยอดหนี้สินรวมของบริษัทจำกัดนั้นแล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า และให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในทุกรายรวมกันเกินร้อยละ 20 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัท
ทั้งนี้ การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนดังกล่าวข้างต้น ไม่รวมถึงการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในธุรกิจทางการเงิน ธุรกิจที่ลงทุนเนื่องจากการควบรวมกิจการ การแยกธุรกิจ และการปรับโครงสร้างหนี้ซึ่งบริษัทหรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นไม่ได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในธุรกิจนั้นก่อนการปรับโครงสร้างหนี้
ในกรณีที่บริษัทใดได้ให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนเกินอัตราส่วนที่กล่าวข้างต้นก่อนวันที่ในหนังสือฉบับนี้และไม่ใช่เป็นการให้กู้ยืมเงินที่มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติดังกล่าวในข้อ 3 ให้คงอัตราส่วนนั้นต่อไปได้ แต่จะให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ได้และให้บริษัททยอยลดอัตราส่วนลงเหลือไม่เกินอัตราที่กำหนดตามวรรคสองเมื่อการให้กู้ยืมครบกำหนดตามสัญญา ยกเว้นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตหรือสั่งการเป็นอย่างอื่นไว้แล้ว ให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตามนั้น หรือ กรณีที่เป็นเงินให้กู้ยืมเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการที่ประกอบธุรกิจการนำเข้าหรือส่งออก ให้คงอัตราส่วนนั้นต่อไปได้อีก 3 ปี นับแต่วันที่ในหนังสือนี้
ข้อ 3 ให้บริษัทระงับการให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่บริษัท หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่า มีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดพิเศษผิดไปจากปกติ
(1) การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนโดยไม่ได้พิจารณาถึงฐานะและผลการดำเนินงานของธุรกิจหรือไม่ได้มีการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ
(2) การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในลักษณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการนั้น เช่น เรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติของลูกค้าที่มีความเสี่ยงระดับเดียวกัน หรือไม่มีการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน ไม่ดำเนินการให้หลักประกันมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย เป็นต้น
(3) การให้กู้ยืมเงินแก่กิจการที่มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสูงผิดไปจากปกติสำหรับธุรกิจประเภทเดียวกัน
ข้อ 4 ให้บริษัทจัดทำนโยบายการให้กู้ยืมเงินแก่หรือลงทุนในกิจการที่บริษัท หรือกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทนั้นมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง หรือให้กู้ยืมเงินแก่ผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยจะต้องมีข้อกำหนดอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยลงวันที่ 16 สิงหาคม 2543 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการรับและจ่ายเงิน การตรวจสอบและการควบคุมภายในของบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(2) การให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนดังกล่าวข้างต้น ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทด้วยมติเป็นเอกฉันท์
(3) ห้ามกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือพนักงานหรือบุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของบริษัทที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับการให้กู้ยืมเงินเข้าร่วมพิจารณาอนุมัติการให้กู้ยืมเงินนั้น
ข้อ 5 ประกาศนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 4 กันยายน 2544
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป33-กส33102-25440904ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ