นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ข่าวกฏหมายและประกาศ Friday June 30, 2000 10:54 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                  26  มิถุนายน  2543
เรียน ผู้จัดการ
บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(12)ว.1436/2543 เรื่อง นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน
ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2543 ซึ่งจะได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 4 กรกฎาคม 2543 และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าว มีดังนี้
1. ปรับปรุงวิธีการนับลูกหนี้รายใหญ่ในการให้กู้ยืมด้วยการรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินโดยแยกประเภทของตั๋วเงินออกเป็นตั๋วเงินที่มีคุณภาพและตั๋วเงินที่ไม่เข้าข่ายเป็นตั๋วเงินที่มีคุณภาพ ดังนี้
1.1 กรณีที่ สง. ให้กู้ยืมด้วยการรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินที่ไม่เข้าข่ายตั๋วเงินที่มีคุณภาพ ให้นับบุคคลที่ต้องรับผิดในตั๋วเงินดังกล่าวทุกคน ได้แก่ ผู้ทรงซึ่งนำตั๋วเงินมาขาย ผู้ออกตั๋วเงิน ผู้สลักหลังตั๋วเงิน แบบผู้ซื้อมีสิทธิไล่เบี้ย เป็นต้น เป็นลูกหนี้
1.2 กรณีที่เป็นตั๋วเงิน
1.3 ที่มีคุณภาพประเภทที่มีธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรอง หรือรับอาวัลให้นับธนาคารพาณิชย์ และบริษัทเงินทุนอื่นทุกรายที่รับรองและรับอาวัลนั้นเป็นลูกหนี้
1.4 กรณีที่เป็นตั๋วเงิน
1.5 ที่มีคุณภาพประเภทอื่นให้นับผู้สั่ง
1.6 จ่ายหรือผู้ออกตั๋วเป็นลูกหนี้
2. กำหนดนิยามของตั๋วเงินที่มีคุณภาพ หมายความว่า
(1) ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรอง หรือรับอาวัล
(2) ตั๋วแลกเงินที่บริษัทเงินทุนอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อจัดหาเงินทุนจากประชาชน
(3) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่สั่งจ่ายหรือออกโดยบริษัทจำกัด ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ระดับ AA ขึ้นไป หรือตั๋วแลกเงินที่ได้รับการจัดอันดับความ น่าเชื่อถือ ตั้งแต่ระดับ AA ขึ้นไป ทั้งนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
3. ขยายนิยามของภาระผูกพันให้หมายรวมถึง การรับประกันการจำหน่ายตราสารแสดงสิทธิในหนี้ และตราสารทุนแบบรับประกันทั้งจำนวน (Firm Underwrite)
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธาริษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2543
ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงิน
โทร. 2835868, 2835843, 2836829
หมายเหตุ [
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจง ในวันที่……….เวลา……..ณ ………
[ X
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว32-กส33201-25430626ด
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย
เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงิน หรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกข้อกำหนดด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดกับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2536 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดอัตราส่วนการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุน หรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด กับเงินกองทุนของบริษัทเงินทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2539 ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2539
ข้อ 2 ในประกาศนี้
“เงินกองทุน” หมายความว่า เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) (4) (5) และ (6) ของบทนิยามคำว่า “เงินกองทุน” ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ ให้หักเงินตามตราสารใน (6)ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนอื่นที่บริษัทเงินทุนนั้นถือไว้และสินทรัพย์อื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
เงินกองทุนตาม (1) (2) (3) และ (4) ไม่รวมถึงเงินที่บริษัทเงินทุนได้รับ เนื่องจากการออกหุ้นบุริมสิทธิชนิดสะสมเงินปันผล และให้หักผลขาดทุนที่เกิดขึ้นในทุกงวดการบัญชีออกก่อน และหักค่าแห่งกู๊ดวิลล์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งนี้ ให้รวมเรียกว่าเงินกองทุนชั้นที่ 1
“ก่อภาระผูกพัน” หมายความว่า รับรอง รับอาวัล หรือสอดเข้าแก้หน้าในตั๋วเงิน สลักหลังตั๋วเงินที่ผู้รับสลักหลังมีสิทธิไล่เบี้ย ค้ำประกัน หรือก่อภาระผูกพันอื่นใด
“ตั๋วเงินที่มีคุณภาพ” หมายความว่า (1) ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรอง หรือรับอาวัล
(2) ตั๋วแลกเงินที่บริษัทเงินทุนอื่นเป็นผู้สั่งจ่ายเพื่อจัดหาเงินทุนจากประชาชน
(3) ตั๋วแลกเงินหรือตั๋วสัญญาใช้เงินที่สั่งจ่ายหรือออกโดยบริษัทจำกัด ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ระดับ AA ขึ้นไปหรือตั๋วแลกเงินที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ระดับ AA ขึ้นไป ทั้งนี้ โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ข้อ 3 ในการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนในกิจการของผู้อื่นหรือก่อภาระผูกพันหรือจ่ายเงินตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดของบริษัทเงินทุนต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหรืออัตราส่วนดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า
(1) จำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้นรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนนั้น
(2) จำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนก่อภาระผูกพันหรือจ่ายไปตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดรวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนนั้น
(3) จำนวนเงินที่บริษัทเงินทุนให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือลงทุนในกิจการของบุคคลนั้นตาม (1) และก่อภาระผูกพัน หรือจ่ายไปตามภาระผูกพันเพื่อบุคคลนั้น ตาม (2) รวมกันเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 35 ของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของบริษัทเงินทุนนั้น
ข้อ 4 การให้กู้ยืมเงินโดยวิธีการรับซื้อ ซื้อลด หรือรับช่วงซื้อลดตั๋วเงินให้ถือเป็นการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลดังกล่าวต่อไปนี้ ซึ่งเมื่อรวมกับการให้กู้ยืมเงินหรือลงทุนกรณีอื่นๆ แล้วต้องไม่เกินอัตราส่วนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ด้วย
(1) ธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนอื่นทุกรายที่รับรองและรับอาวัลตั๋วเงินที่มีคุณภาพ กรณีที่เป็นตั๋วแลกเงินที่มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นนั้นรับรอง หรือรับอาวัล
(2) ผู้สั่งจ่ายหรือผู้ออกตั๋วเงินที่มีคุณภาพ กรณีเป็นตั๋วเงินที่มีคุณภาพที่ไม่มีธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนอื่นรับรอง หรือรับอาวัล
(3) ผู้ทรงซึ่งขายตั๋วเงินและบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามตั๋วเงิน กรณีตั๋วเงินนั้นไม่ใช่ ตั๋วเงินที่มีคุณภาพ
ข้อ 5 ความในข้อ 3 ไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่บริษัทเงินทุน
(1) ให้กู้ยืมหรือลงทุนโดยการซื้อหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้ดังต่อไปนี้
(ก) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย
(ข) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
(ค) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยองค์การ ของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(ง) หุ้น หุ้นกู้ หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(2) ให้กู้ยืมเงิน รับรองตั๋วเงิน รับอาวัลตั๋วเงิน ค้ำประกัน หรือก่อภาระผูกพันอื่นใด โดยมีหลักทรัพย์หรือตราสารดังต่อไปนี้มาจำนำเป็นประกัน
(ก) หลักทรัพย์รัฐบาลไทย
(ข) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ย
(ค) หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ออกโดยองค์การของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้นการคำนวณราคาของหลักประกันตามวรรคหนึ่ง (2) ให้ถือตามราคาดังนี้
(1) กรณีหลักทรัพย์รัฐบาลไทยต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ตราไว้
(2) กรณีหุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ประเภทระบุอัตราดอกเบี้ย ต้องไม่เกินจำนวนเงินที่ตราไว้
(3) กรณีหุ้นกู้ พันธบัตร หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ประเภทไม่ระบุอัตราดอกเบี้ย ต้องไม่เกินร้อยละ 60 ของจำนวนเงินที่ตราไว้
ข้อ 6 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2543
(ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
สนสป32-กส33201-25430526ด
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ