การกำหนดนโยบาย วิธีการ และขั้นตอนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการประเมินมูลค่าหลักประกันของบริษัทบริหารสินทรัพย์

ข่าวกฏหมายและประกาศ Monday December 4, 2000 08:49 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                              4 ธันวาคม 2543
เรียน กรรมการผู้จัดการ
บริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(02)ว.3321/2543 เรื่องการกำหนดนโยบาย วิธีการ และขั้นตอนในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และการประเมินมูลค่าหลักประกันของบริษัทบริหารสินทรัพย์
เพื่อให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 360) พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นควรให้บริษัทบริหารสินทรัพย์จัดทำนโยบายวิธีการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการประเมินมูลค่าหลักประกัน เสนอให้คณะกรรมการของบริษัทบริหารสินทรัพย์พิจารณาอนุมัติ แล้วจัดส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณาอนุมัติโดยเร็ว ทั้งนี้ นโยบาย วิธีการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อาจจะเหมือนกับของสถาบันการเงินที่เป็นผู้จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ก็ได้
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(นางธารษา วัฒนเกส)
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน
ผู้ว่าการ แทน
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. สำเนาหนังสือ ที่ ธปท.ง.(ว)1837/2541 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541
2. สำเนาหนังสือ ที่ ธปท.ง.(ว)2384/2541 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2541
3. สำเนาหนังสือ ที่ ธปท.ง.(ว)2112/2542 ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2542
ฝ่ายโครงการพิเศษและการวิเคราะห์โทร.283-5140
หมายเหตุ [...
] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่........เวลา........ณ.........
[ x
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
สนสว48-กส84002-25431204ด
-ยก-
หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
หลักเกณฑ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดวิธีการเบื้องต้นที่สถาบันการเงินที่พึงปฏิบัติในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการกำหนดนโยบาย วิธีการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีการวิเคราะห์และจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบอย่างเพียงพอ และถือปฏิบัติตามมาตรฐานสากลทั้งในด้านวิธีการบัญชี การจัดชั้นลูกหนี้ และการกันเงินสำรองที่เกี่ยวข้อง และให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป
1. วัตถุประสงค์ในการปรับปรุงโครงหนี้
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินเป็นการดำเนินการแก้ไขหนี้ที่มีปัญหาเพื่อให้สถาบันการเงินมีโอกาสได้รับชำระหนี้คืนสูลสุด หรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดดำเนินกิจการต่อไปทั้งของลูกหนี้และสถาบันการเงิน โดยเฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ประสบปัญหาการชำระหนี้เนื่องจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยังมีแนวโน้วที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องระมัดระวังมิให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีลักษณะเป็นการหลีกเลี่ยงการจัดชั้นลูกหนี้และการกันเงินสำรอง หรือหลีกเลี่ยงหลักเกณฑ์การระงับรับรู้รายได้
2. ขอบเขตของ "การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา"
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ปัญหา ในที่นี้ หมายถึง กรณีที่สถาบันการเงินจะมีความสูญเสียเกิดขึ้นบางส่วน เนื่องจาก
2.1 การยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ปกติทั่วไปจะไม่มีการผ่อนปรนเงื่อนไขดังกล่าว ได้แก่ การถดอัตราดอกเบี้ย การลดต้นเงิน หรือการลดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเป็นต้น ไม่ว่าจะมีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้การผ่อนปรนดังกล่าวมีผลทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับชำระหนี้ในอนาคต ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ทั้งสิ้นตามบัญชี
2.2 การรับชำระหนี้โดยการรับโอนสิทธิ์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน (Debt-equity Swap) ของลูกหนี้เพื่อชำระทั้งหมดหรือบางส่วน โดยที่ราคายุติธรรม(Fair Value) ของสินทรัพย์ ตาสารการเงิน หรือทุนดักล่าว ต่ำกว่ามูลค่าหนี้ทั้งสิ้นตามบัญชี
การลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ตามภาวะตลาด หรือเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าหรือการขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป โดยมีการตกลงให้มีระยะเวลาปลอดหนี้โดยลูกหนี้ยังคงจ่ายชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม และสถาบันการเงินวิเคราะห์แล้วคาดว่าจะได้รับชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนครบถ้วนตามสัญญาการให้กู้ยืม จะไม่ถือว่าเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
3. การกำหนดนโยบายและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการ ดังนี้
3.1 นโยบายและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินจะต้องกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสถาบันการเงิน โดยผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและมาตรการดังกล่าว
3.2 นโยบายและมาตรการที่กำหนดจะต้องครอบคลุมแนวทางในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งกระบวนการ ได้แก่ การกำหนดวัตถุประสงค์ แนวทางในการวิเคราะห์และคัดเลือกลูกหนี้ การคิดตามดูแล การรายงานผลการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายทางด้านบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
3.3 สถาบันการเงินจะต้องกำหนดระเบียบวิธีปฏิบัติเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การอนุมัติ การรายงาน และการติดตามดูแลที่ชัดเจนและแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ในขั้นตอนต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ สถาบันการเงินจะต้องจัดตั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เป็นอิสระจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ดูแลลูกหนี้รายนั้น เป็นผู้ทำหน้าที่ปฏิบัติงานตามกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรืออาจให้สถาบันการเงินอื่น หรือบุคคลที่สามที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นผู้ทำหน้าที่นั้นก็ได้ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องได้รับมอบหมายอำนาจในการต่อรองแทนในนามของสถาบันการเงินนั้นด้วย
การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่สถาบันการเงิน กรรมการ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ หรือผู้บริหารของสถาบันการเงินนั้น เข้าข่ายมีความสัมพันธ์หรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องโดยมีพฤติการณ์ให้บุคคลอื่นถือหุ้นไว้แทนตนในลักษณะของตัวแทน โดยตรงหรือโดยปริยายหรือตัวแทนเชิด หรือเป็นตัวการซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เป็นการสร้างบริษัทเครือข่ายหรือควบคุมหรือผูกขาดการบิรหารงานของบริษัทจำกัดดังกล่าวในการประกอบกิจการอื่นทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม จะต้องกำหนดให้สถาบันการเงินอื่นหรือบุคคลที่สามซึ่งไม่มีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆกับสถาบันการเงินและลูกหนี้ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดของลูกหนี้ ทั้งนี้ สถาบันการเงินอื่นหรือบุคคลที่สามจะต้องเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับการเงินหรือการดำเนินงาน หรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน หรือธุรกิจการให้คำปรึกษาทางการเงิน หรือเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินจากต่างประเทศขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียง มีความชำนาญ มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ
ในกรณีสถาบันการเงินเข้าไปมีความสัมพันธ์หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องเนื่องจากการเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้ของลูกหนี้นั้น ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังจากที่หลักเกณฑ์นี้มีผลบังคับใช้สถาบันการเงินไม่ต้องกำหนดให้มีสถาบันการเงินอื่นหรือบุคคลที่สาม เป็นผู้ทำหน้าที่วิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนกระแสเงินสดของลูกหนี้ ก็ได้
4. ขั้นตอนการปฏิบัติงานและการจัดทำเอกสารประกอบ
ในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและเอกสารที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน ให้ถือปฏิบัติ ดังนี้
4.1 ขั้นตอนการวิเคราะห์และการจัดทำเอกสารเมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ควรมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ลูกหนี้และเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้
(1) สาเหตุที่หนี้มีปัญหาและเหตุผลที่มีการจ่ายชำระดอกเบี้ย และ/หรือต้นเงินล่าช้ากว่าเดิม
(2) ความรุนแรงของปัญหา และความเสี่ยวทางด้านการเงินของลูกหนี้ โดยพิจารณาจากงบการเงิน งบกระแสเงินสด และการประมาณการทางการเงิน รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ทางการตลาด ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่จำเป็น และเกี่ยวข้องกับฐานะและการดำเนินงานของลูกหนี้
(3) การคาดการณ์เกี่ยวกับการรับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยในกรณีที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และกรณีที่ไม่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการจัดทำอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงฐานะและการดำเนินงานของลูกหนี้
(4) การประเมินคุณภาพการบริหารของลูกหนี้ โดยมุ่งเน้นประสิทธิภาพขององค์กรในกรณีที่จำเป็นอาจต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้น กรรมการผู้บริหาร การจัดระบบการบริหารใหม่ การส่งผู้ที่มีประสบการณ์ในแต่ละด้านเข้าไปช่วยบริหารงานเป็นต้น กรณีลูกหนี้บุคคลธรรมดา ควรจะกำหนดให้มีการเรียกหลังประกันเพิ่มเติม หรือกำหนดให้การค้ำประกันจากบุคคลที่เชื่อถือได้เพิ่มเติม
(5) ความครบถ้วนของเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(6) การประเมินมูลค่าหลักประกัน (ถ้ามี) ตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
(7) แนวคิดหรือสมมติฐานเกี่ยวกับการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งควรตั้งอยู่บนความสมเหตุสมผลและความเป็นไปได้
(8) การพิจารณา ข้อสรุป และการอนุมัติเกี่ยวกับเงื่อนไขผ่อนปรนที่ควรให้ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ได้แก่ การลดอัตราดอกเบี้ย การลดต้นเงิน การลดดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ค้างชำระและการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ เงื่อนไขดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับอายุโครงการของลูกหนี้ (Economic Life) หรือระยะเวลาการให้บริการของโครงการลูกหนี้ รวมทั้งสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ และช่วยทำให้ฐานะการเงินของลูกหนี้ดีขึ้นจนมีความสามารถจ่ายชำระหนี้คืนภายใต้เงื่อนไขที่มีการปรับปรุงใหม่ได้ตลอดไป
(9) จัดทำตารางแสดงการชำระหนี้คืนหลังการปรับปรุงเงื่อนไขการชำระหนี้ ที่สอดคล้องกับความสามารถชำระหนี้ของลูกหนี้
(10) รายละเอียดเงื่อนไขทางการเงินต่างๆ เช่น การห้ามจ่ายเงินปันผล การลดทุนเพื่อให้ผู้ถือหุ้นเดิมรับภาระในส่วนนี้ก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การให้เพิ่มทุน การสงวนสิทธิสำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น
(11) จัดทำเอกสารหลักฐานและสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ครบถ้วนและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
(12) กรณีมีการให้กู้ยืมเงินเพิ่มเติมภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินจะต้องระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เม็ดเงินใหม่อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องไม่ใช่การนำเม็ดเงินใหม่ที่กู้เพิ่มมาใช้เพื่อชำระหนี้เดิม
4.2 ขั้นตอนการติดตามผลหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
จะต้องจัดให้มีระบบการติดตามลูกหนี้ภายหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าลูกหนี้จะสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาใหม่ได้ เช่น
(1) กำหนดให้มีการจัดทำรายงานความคืนหน้าเสนอผู้บริหารอย่างน้อยเดือนละครั้งโดยรายงานนี้จะต้องแสดงถึงพัฒนาการล่าสุด แผนการปฏิบัติงานที่ทำให้อยู่ในปัจจุบัน และแนวโน้มที่จะได้รับชำระหนี้คืนในที่สุด
(2) กำหนดให้ลูกหนี้จัดส่งงบการเงินและทำการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อติดตามฐานะและการดำเนินงานของลูกหนี้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตลอด รวมทั้งกำหนดให้ลูกหนี้ต้องรายงานผลการปฏิบัตตามเงื่อนไขทางการเงินต่างๆ เช่น การห้ามจ่ายเงินปันผล การลดทุนการเพิ่มทุน เป็นต้น
(3) กำหนดวิธีการแก้ไขปัญหาลูกหนี้ที่ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ตามสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
5. วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา
5.1 วิธีปฏิบัติทางบัญชีนี้ ในช่วงแรกให้ถือปฏิบัติสำหรับลูกหนี้ประเภทธุรกิจ (ComporateLoans) ที่มีราคาตามบัญชีรวมดอกเบี้ยค้างรับตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป และนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2544 เป็นต้นไป ให้ถือปฏิบัติสำหรับลูกหนี้ดังกล่าว ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป ดังนี้
(1) ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาโดยยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ให้สถาบันการเงินบันทึกส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการคำนวณราคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้คงค้าง ตามลำดับวิธีต่อไปนี้
ก) คำนวนมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับตามเงื่อนไขใหม่ในการชำระหนี้ที่เป็นผลมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยใช้อัตราส่วนลดที่ระบุใน (4)
ข) ให้ใช้ราคาตามตลาดของลูกหนี้ หากลูกหนี้นั้นมีการซื้อขายในตลาด และสามารถทราบราคาซื้อขายได้ เช่น ราคาประมูลจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน เป็นต้น
ค) ให้ใช้ราคายุติธรรมของหลักทรัพย์ที่เป็นประกันซึ่งประเมิณขึ้นตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ในกรณีที่หลักทรัพย์นั้นจะเป็นที่มาของกระแสเงินสดรับจากการชำระหนี้
เมื่อราคาตามบัญชีใหม่ที่คำนวณได้ต่ำกว่าราคาตามบัญชีเดิมรวมดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้คงค้าง สถาบันการเงินจะต้องบันทึกส่วนสูญเสียทั้งหมดในงบกำไรขาดทุนสำหรับงวดนั้นในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญสำหรับส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินคำนึงถึงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ตั้งไว้แต่เดิมด้วย ทั้งนี้ ยกเว้นลูกหนี้ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อสิ้นปี พ.ศ. 2543ให้ถือปฏิบัติตามข้อ 6.2
(2) กรณีที่สถาบันการเงินรับชำระหนี้โดยการรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน ให้สถาบันการเงินตัดจำหน่ายยอดลูกหนี้ให้หมดไปและบันทึกบัญชีสินทรัยพ์ที่ได้รับโอนมาด้วยราคายุติธรรมของสินทรัพย์นั้น ส่วนสูญเสียที่เกิดขึ้นได้บันทึกในงบกำไรขาดทุนทันทีที่มีการรรับฮน โดยให้คำนึงถึงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ตั้งไว้แต่เดินด้วย
กรณีรับชำระหนี้บางส่วนโดยการรรับโอนสินทรัพย์ ตราสารการเงิน หรือรับทุนของลูกหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้เป็นทุน ก็ให้ปฏิบัติตาม (2) ก่อนแล้วจึงปฏิบัติตาม (1) สำหรับหนี้ส่วนที่เหลือ
(3) ในการประมาณการเกี่ยวกับกระแสเงินสดที่จะได้รับจากการปรับปรุงบโครงสร้างหนี้สถาบันการเงินจะต้องดำเนินการ โดยมีสมมติฐานที่สมเหตุสมผล และหลักฐานมีน้ำหนักเชื่อถือได้รวมทั้งจะต้องพิจารณาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดอย่างครบถ้วน เพื่อให้การประเมินกระแสเงินสดในอนาคตใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
ทั้งนี้ในการประมาณการกระแสเงินสดข้างต้น ไม้ให้สถาบันการเงินนำกระแสเงินสดที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับ ได้แก่ เงินต้นหรือสิทธิในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย หากกิจการลูกหนี้ฟื้นตัวขึ้น หรือสิทธิในการแปลงสภาพของหุ้นแปลงสภาพ เป็นต้น มารวมในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสด
(4) อัตราส่วนลดที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับ ให้สถาบันการเงินใช้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) ที่มาจากสัญญาเดิมก่อนการปรับปรุง โครงสร้างหนี้
ก) ในกรณีอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวหรือไม่คงที่ เช่น MLR-2% ให้สถาบันการเงินใช้อัตราดอกเบี้ยที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นอัตราส่วนลดอย่างไรก็ตาม หากวิธีการดังกล่าวจะเป็นภาระในการคำนวณส่วนสูญเสียและปรับปรุงเงินสำรองอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยลอยตัวทุกครั้งไป สถาบันการเงินอาจจะใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ณ วันที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือ ณ วันที่หนี้ถูกจัดชั้น เป็นอัตราคงที่เพื่อให้ชเป็นอัตราส่วนลด ก็ได้ แต่เมื่อเลือกใช้วิธีการใดแล้วจะต้องใช้ตลอดไป โดยสม่ำเสมอกับลูกหนี้ที่มีลักษณะเดียวกัน
ข) ในกรณีที่สถาบันการเงินให้กู้ยืมระยะสั้น โดยไม่สอดคล้องกับโครงสร้างธุรกิจของลูกหนี้ สถาบันการเงินควรจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้นั้นให้สอดคล้องกับโครงสร้างของธุรกิจลูกหนี้ และอาจใช้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวแทนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ตามสัญญากู้ยืมเดิม เป็นอัตราที่ใช้คิดส่วนลด ก็ได แต่เมื่อเลือกใช้วิธีการใดแล้วจะต้องใช้ตลอดไปโดยสม่ำเสมอกับลูกหนี้ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยระยะยาวนั้นควรจะเหมาะสมและสอดคล้องกับระยะเวลาในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และเป็นอัตรที่สถาบันการเงินนั้นได้ให้แก่ลูกหนี้รายอื่นที่กู้ยืมระยะยาวณ วันที่ ให้กู้ยืมด้วยโดยจะต้องมีหลักฐานเอกสารอ้างอิงที่มาของอัตราดอกเบี้ยนั้นด้วย
(5) สถาบันการเงินจะต้องประเมินคุณภาพหนี้ของลูกหนี้อย่างน้อยทุกไตรมาสหลังการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หากสถาบันการเงินพบว่า จำนวนและวันถึงกำหนดของกระแสเงินสดรับรวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ หรือราคาตลาดของลูกหนี้หรือราคายุติธรรมของหลักทรัพย์ที่เป็นประกันแตกต่างไปอย่างมีนัยสำคัญจากที่บันทึกไว้เดิม ให้สถาบันการเงินประเมินคาคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้ โดยใช้หลักการตามที่กล่าวมาแล้วใน (1)-(4) การปรับปรุงราคาตามบัญชีใหม่ของลูกหนี้นี้ ให้สถาบันการเงินปรับปรุงกับบัญชีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงนี้ต้องไม่ทำให้ราคาตามบัญชีที่บันทึกไว้เดิมหรือเงินลงทุนในลูกหนี้ (จำนวนที่สถาบันการเงินจ่ายเพื่อให้ได้ลูกหนี้มาครอง กรณีที่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ซื้อมา) เพิ่มสูงขึ้น
เพื่อให้สถาบันการเงินมีระยะเวลาปรับตัว ในช่วงแรกของการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนสิ้นปี พ.ศ.2543 นี้ สถาบันการเงินอาจใช้ราคายุติธรรมของหลักประกันเพื่อคำนวณส่วนสูญเสียแทนการใช้วิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับก็ได้
5.2 สำหรับลูกหนี้ที่มีราคาตามบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1 วรรคแรกสถาบันการเงินอาจถือปฏิบัติตามวิธีการอื่นนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1 ได้ แต่จะต้องระบุวิธีการนั้นไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในการกำหนดนโยบายและมาตรการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
5.3 ลูกหนี้ประเภทอุปโภคบริโภคที่มีปัญหา ที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิต ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น สถาบันการเงินอาจประเมินส่วนสูญเสียเป็นกลุ่มรวมกัน โดยใช้วิธีสถิติ หรืออาจถือปฏิบัติตามวิธีที่กล่าวในข้อ 5.1 ก็ได้
6. การจัดชั้น การเปลี่ยนสถานะการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง
6.1 เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะต้องปฏิบัติ ดังนี้
(1) รับรู้รายได้ตามเกณฑ์เงินสด (ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้อื่นทุกประเภทที่จะได้รับในอนาคต)
(2) เปลี่ยนสถานะการจัดชั้นของลูกหนี้
ในกรณีลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นสงสัยจะสูญ หรือสูญ ให้จัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐานส่วนลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นเป็นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือ กล่าวถึงเป็นพิเศษ ให้คงการจัดชั้นเดิมต่อไป
(3) เมื่อลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน หรือ 3 งวดการชำระเงิน แล้วแต่ระยะเวลาใดจะนานกว่า สถาบันการเงินจึงจะสามารถบันทึกบัญชีรับรู้รายได้ตามเกณฑ์สิทธิได้ใหม่และเปลี่ยนเป็นลูกหนี้จัดชั้นปกติได้
(4) ในกรณีที่สถาบันการเงินให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินเพิ่มเพื่อการฟื้นฟูกิจการ หากเงินให้สินเชื่อใหม่นี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 1399/2541 และ 1400/2541 ลงวันที่16 เมษายน 2541 เรื่องการให้กู้ยืมจำนวนใหม่แก่ลูกหนี้ที่จัดชั้น แล้ว สถาบันการเงินไม่ต้องจัดชั้นเงินให้สินเชื่อส่วนนี้
6.2 การกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(1) การกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียสุทธิที่เกิดขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถทยอยกันสำรองได้ เฉพาะสำหรับลูกหนี้ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนสิ้นปี พ.ศ.2543เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกันสำรองสำหรับสินทรัพย์จัดชั้น ดังนี้
- ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีครึ่งหลังของปี พ.ศ.2541 ให้กันเงินสำรอง
ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรอง
- ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีครึ่งแรกของปี พ.ศ.2542 ให้กันเงินสำรอง
ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรอง
- ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีครึ่งหลังของปี พ.ศ.2542 ให้กันเงินสำรอง
ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรอง
- ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีครึ่งแรกของปี พ.ศ.2543 ให้กันเงินสำรอง
ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรอง
- ภายในวันสิ้นงวดการบัญชีครึ่งหลังของปี พ.ศ.2543 ให้กันเงินสำรอง
ให้ครบถ้วน
(2) หากระยะเวลาของสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สั้นกว่าระยะเวลาของการทยอยกันเงินสำรองข้างต้น สถาบันการเงินจะสามารถทยอยกันเงินสำรองได้ไม่เกินระยะเวลาที่เหลือของสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
(3) ในระหว่างช่วงการติดตามผลการปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก่อนเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ปกติ สถาบันการเงินจะต้องกันเงินสำรองอย่างต่ำตามเกณฑ์การจัดชั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย เว้นแต่กรณีที่เงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่ต้องกันสำรองตามเกณฑ์การจัดชั้นของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วและสถาบันการเงินจะต้องกันเงินสำรองสำหรับส่วนสูญเสียให้ครบถ้วนภายหลังจากการเปลี่ยนสถานะเป็นหนี้ปกติแล้วด้วย
(4) ในกรณีที่สถาบันการเงินได้กันเงินสำรองของเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นไว้แล้วมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องทยอยกันเงินสำรองในแต่ละงวด สถาบันการเงินจะต้องคงจำนวนเงินกันสำรองดังกล่าวไว้ในบัญชีต่อไปจนกว่าจะกันเงินสำรองได้ครบถ้วนแล้วหรือจะไม่สามารถยกเลิกรายการเงินที่กันสำรองไว้แล้วกลับมาเป็นรายได้ จนกว่าสถาบันการเงินสามารถกันเงินสำรองได้ครบถ้วยเต็มร้อยละ 100 ของเงินสำรองลูกหนี้และสินทรัพย์จัดชั้นทุกประเภทที่ต้องกันทั้งสิ้นแล้ว
6.3 ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ปฏิบัตตามเงื่อนไขการชำระใหม่ ให้นับระยะเวลาการค้างชำระรวมกับระยะเวลาการค้าชำระก่อนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แบ้วจัดชั้นตามหลักเกณฑ์การจัดชั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ตามระยะเวลาค้างชำระที่กำหนด เช่น ถ้าค้าชำระรวมกันเกิน 3 เดือน จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น และกันเงินสำรองตาระดับการจัดชั้นดังกล้าว อย่างไรก็ตามหากคุณภาพหนี้ของลูกหนี้เสื่อมลงกว่าเดิมก่อนที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ สถาบันการเงินจะต้องจัดชั้นในระดับที่ต่ำลงกว่าเดิมหรือสอดคล้องกับระดับการจัดชั้นที่แท้จริงด้วย
7. การสั่งการของผู้ตรวจสอบ
ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นว่าการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายใด อาจมีเจตนาเพื่อชะลอปัญหาการจัดชั้นสินทรัพย์และการกันเงินสำรอง หรือหลีกเลี่ยงการระงับรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ รวมทั้ง มิได้มีการจัดทำเอกสารและการวิเคราะห์ฐานะและความสามารถในการชำระหนี้อย่างถูกต้อง หรือเป็นที่เล็งเห็นได้โดยชัดเจนว่าลูกหนี้จะไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ หรือมีการดำเนินการใดๆ ที่ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดขึ้น ผู้ตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาสั่งการให้สถาบันการเงินเปลี่ยนสถานะการจัดชั้นของลูกหนี้รายนั้นและให้กันสำรองให้เพียงพอ หรือสั่งให้ระงับการรับรู้รายได้ รวมทั้งให้ยกเลิกการบันทึกรายกากรดอกเบี้ยค้างรับที่บันทึกบัญชีไปแล้วด้วยก็ได้
-ยก-
2 มิถุนายน 2541
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
ที่ ธปท.ง.(ว)1837/2541 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงิน
ตามที่ธนาคารได้ออกหนังสือที่ ธปท.ง.(ว)1236/2541 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2541เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การระงับรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้การกันเงินสำรองลูกหนี้ที่จัดชั้น และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง กำหนดหลักเกณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับการรับรู้รายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรอง และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สถาบันการเงินเตรียมการถือปฏิบัติ นั้น
ธนาคารขอนำส่งหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน(เอกสารแนบ 1) และหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงิน (เอกสารแนบ 2)โดยได้กำหนดวันที่เริ่มบังคับใช้สำหรับหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ตั้งแต่วันที่ระบุในหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงนับถือ
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารแนบ 1-2
ฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน โทร.2835932,2835868,2835938,2835994
1 มิถุนายน 2542
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ทุกบริษัท
สถาบันการเงินพิเศษของรัฐ
ที่ ธปท.ง.(ว) 2112/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน
ตามที่ธนาคารได้มีหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 1837/2541 และที่ ธปท.ง.(ว) 1838/2541 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงิน เพื่อกำหนดวิธีการเบื้องต้นที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ นั้น
ธนาคารได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฉบับดังกล่าวเพื่อให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในทางปฏิบัติ โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงแก้ไขจะเป็นการนำปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติจากการที่สถาบันการเงินต้องกำหนดนโยบายในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้มาปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน และนำมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ได้ออกไปแล้วมารวบรวมให้อยู่ในฉบับเดียวกัน โดยให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินฉบับเดิม ตามหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 1837/2541 และที่ ธปท.ง.(ว) 1838/2541 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เรื่อง หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้และหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกันของสถาบันการเงิน และหนังสือที่ ธปท.ง.(ว) 4471/2541 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541เรื่อง อัตราส่วนลดในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของหนี้ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยให้ใช้หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ใหม่นี้ ตั้งแต่วันที่ในหนังสือฉบับนี้เป็นต้นไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล)
ผู้ว่าการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ