ปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาในส่วนภูมิภาค

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday November 3, 2005 13:54 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                        3 พฤศจิกายน 2548
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศทุกธนาคาร
ที่ ธปท.ฝนส.(21) ว.2108/2548 เรื่อง ปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาในส่วนภูมิภาค
1.เหตุผลในการออกหนังสือเวียน
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นชอบในการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้นำส่งตามหนังสือที่ ธปท.ฝสว.(21)ว.552/2548 เรื่อง การขออนุญาตเปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2548 นั้น
เพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในหน่วยลงทุนที่ลงทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาในส่วนภูมิภาค ที่หนดให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ แทนการนำเงินส่วนที่ยังให้สิ้นเชื่อไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไปฝากเงินไว้ ณ ธปท. โดยเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้หน่วยลงทุนตามที่กล่าวข้างต้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด จึงขอแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ดังกล่าวมาเพื่อทราบและถือปฏิบัติ
2.ขอบเขตการบังคับใช้
ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศไทยทุกธนาคาร
3.เนื้อหา
3.1 ให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
เงื่อนไขการอนุญาตให้เปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ ตามหนังสือที่ ธปท.ฝสว.(21) ว.552/2548 เรื่อง การขออนุญาตเปิดสาขาและสาขาย่อยของธนาคารพาณิชย์ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2548
3.2 เงื่อนไขในการอนุญาตให้เปิดสาขาธนาคารพาณิชย์ในส่วนภูมิถาค
ตามเงื่อนไขในการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทยเปิดสาขาในส่วนภูมิภาค ต้องให้สินเชื่อในภูมิภาคที่สาขาเปิดดำเนินการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินฝากหากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ได้ ตามข้อกำหนดเดิมให้นำเงินส่วนที่ยังให้สินเชื่อไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กล่าวไปฝากไว้ ณ ธปท.หรือให้ดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำรงหลักทรัพย์ประเภทหน่วยลงทุนได้เพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท.กำหนด
3.3 หลักเกณฑ์ วิธีการ แลเงื่อนไขในการดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหน่วยลงทุน เพื่อการเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคของธนาคารพาณิชย์
1) หน่วยลงทุนที่สามารถนำมาดำรงได้ต้องเป็นหน่วยลงทุนที่มีการนำเงินที่ได้จากการออกหน่วยลงทุนนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และเป็นการลงทุนในตลาดแรก (Primary Market)
2) หน่วยลงทุนดังกล่าวต้องไม่มีภาวะผูกพันใดๆ เช่น ซื้อโดยมีสัญญาขายคืนจำนำหรือวางเป็นหลักประกัน เป็นต้น
3) มูลค่าของหน่วยลงทุนที่ใช้ดำรง การนับมูลค่าของหน่วยลงทุน และวิธีการในการดำรงหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขดังกล่าว ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธี และเงื่อนไข ที่แนบมาพร้อมนี้
อนึ่ง สำหรับการดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเดิม
4.วันเริ่มต้นบังคับใช้
หนังสือเวียนฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่แนบมาด้วย 1.เงื่อนไขในการอนุญาตให้เปิดสาขาธนาคารพาณิชย์
2.หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และ
หน่วยลงทุน เพื่อการเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคของธนาคารพาณิชย์
ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง
โทร. 0-2283-6827 และ 0-2356-7339
หมายเหตุ [
] ธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดประชุมชี้แจง
[
] ไม่มีการประชุมชี้แจง
เงื่อนไขในการอนุญาตให้เปิดสาขาธนาคารพาณิชย์
1.สาขาที่จะเปิดต้องจัดให้มีป้ายชื่อระบุว่าเป็นสาขาไว้อย่างชัดเจนและเห็นได้ง่าย
2.ธนาคารพาณิชย์จะต้องเปิดสาขาภายในบริเวณที่ได้รับอนุญาต และจะต้องประกอบธุรกิจภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันสิ้นงวดการยื่นคำขอ ทั้งนี้ เว้นแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะอนุญาตให้ขยายบริเวณหรือระยะเวลา
3.ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งสถานที่ทำการและกำหนดวันปิดทำการให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนวันที่สาขาจะเริ่มประกอบธุรกิจ
4.สาขาที่ได้รับการอนุญาตให้เปิดดำเนินการในส่วนภูมิภาค ต้องให้สินเชื่อในภูมิภาคที่สาขาเปิดดำเนินการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินฝาก สำหรับการจัดแบ่งภูมิภาค และการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ให้เป็นไปตามที่ ธปท.กำหนด
หากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปฏิบัตตามเงื่อนไขข้อนี้ ให้นำเงินส่วนที่ยังให้สินเชื่อไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กล่าวไปฝากไว้ ณ ธปท. หรือให้ดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทยพันธบัตรรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยลงทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ธปท.กำหนด เว้นแต่จะได้รับการผ่อนผันจาก ธปท. ในการนี้ ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขในการผ่อนผันก็ได้ สำหรับเงินส่วนที่นำไปฝากหรือหลักทรัพย์ที่ดำรงเพื่อปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ ไม่ให้นำไปคำนวณเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องตามที่กำหนดไว้ในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง นอกจากนี้หน่วยลงทุนที่สามารถนำมาดำรงได้จะต้องเป็นหน่วยลงทุนที่มีการนำเงินที่ได้จากการออกหน่วยลงทุนนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลไทยหรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจเท่านั้น
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหน่วยลงทุน เพื่อการเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคของธนาคารพาณิชย์
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเห็นชอบแนวทางปรับปรุงเงื่อนไขในการอนุญาตให้เปิดสาขาในส่วนภูมิภาค โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปล่อยสินเชื่อในภูมิภาคที่สาขาเปิดดำเนินการ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของยอดเงินฝากที่ระดมได้ในภูมิภาค หากธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ให้นำเงินส่วนที่ยังให้สินเชื่อไม่ครบถ้วนไปฝากไว้ ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ ให้ดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยลงทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนดนั้น
ธปท.เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำรงหน่วยลงทุนเพื่อการเปิดสาขาในส่วนภูมิภาคของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ดังนี้
1.หน่วยลงทุนที่สามารถนำมาดำรง
1.1 เป็นหน่วยลงทุนที่มีการนำเงินที่ได้จากการออกหน่วยลงทุนนั้นไปลงทุนในหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ
1.2 เป็นหน่วยลงทุนที่ธนาคารพาณิชย์ลงทุนในตลาดแรก (Primary Market)
1.3 ไม่มีภาวะผูกพันใดๆ เช่น ซื้อโดยมีสัญญาขายคืน จำนำหรือวางเป็นหลักประกัน เป็นต้น
2.มูลค่าของหน่วยลงทุนที่ใช้ดำรง
2.1 การดำรงหน่วยลงทุน เมื่อรวมกับหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ต้องมีมูลค่ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4.5 เท่า ของจำนวนเงินที่จะต้องนำฝาก ธปท.ตามเงื่อนไข
2.2 การนับมูลค่าของหน่วยลงทุนให้ใช้มูลค่าสินทรัพย์ (NAV) โดยนับเฉพาะมูลค่าตามสัดส่วนการลงทุนจริงในหลักทรัพย์รัฐบาลไทย หรือพันธบัตรรัฐวิสาหกิจของกองทุนนั้นๆ ณ วันเดือนที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องรายงานการปฏิบัติตามเงื่อนไข
3.วิธีการในการดำรงหน่วยลงทุน
3.1 ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ประสงค์จำดำรงหน่วยลงทุนให้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอดำรงหน่วยลงทุนไปยังฝ่ายกำกับสถาบันการเงินและตรวจสอบสถาบันเฉพาะกิจธปท. โดยหนังสือแสดงความจำนงดังกล่าว ต้องมีรายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
1) ประเภท จำนวน และมูลค่าของหน่วยลงทุน
2)หนังสือชี้ชวน หรือเอกสารแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับหน่วยลงทุน เช่น วัตถุประสงค์ของโครงการ นโยบายการลงทุน ประเภทของหลักทรัพย์ที่ลงทุน หลักเกณฑ์การลงทุน รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับนายทะเบียน
3)หลักฐานแสดงว่าหน่วยลงทุนเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคารพาณิชย์ และได้มาจากการลงทุนในตลาดแรก (Primary Market)
4)หลักฐานยืนยันการปลอดภาวะผูกพันของหน่วยลงทุน เช่นหนังสือยืนยันจากนายทะเบียน
ทั้งนี้ให้ธนาคารพาณิชย์ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอดำรงหน่วยลงทุนภายในเวลา 15 วัน ก่อนวันที่ต้องรายงานการปฏิบัติตามเงื่อนไข ส่วนมูลค่าของหน่วยลงทุนที่จะนับเป็นหลักทรัพย์ที่ดำรงจริงให้เป็นไปตาม ข้อ2. โดยให้ธนาคารพาณิชย์แจ้งมาพร้อมกับหลักฐานการคำนวณในวันที่ส่งรายงาน
3.2 ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีความประสงค์จะขอถอนหน่วยลงทุนที่ดำรงไว้คืน ให้ทำหนังสือแสดงความจำนงขอถอนคืน โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับประเภทและมูลค่าของหน่วยลงทุนที่ขอถอนคืนไปยังฝ่ายกำกับสถาบันการเงินและตรวจสอบสถาบันเฉพาะกิจ ธปท. เมื่อธนาคารพาณิชย์ได้ขอถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวคืนไปแล้วจะนำหน่วยลงทุนจำนวนนั้นมาใช้ดำรงตามเงื่อนไขอีกไม่ได้
3.3 หน่วยลงทุนที่ธนาคารพาณิชย์นำมาดำรงถือว่าเป็นหลักทรัพย์ที่มีภาระผูกพัน ธนาคารพาณิชย์จำนำไปใช้ประโยชน์อื่นใด เช่น จำนำเป็นหลักประกันใดๆ หรือดำรงเป็นสินทรัพย์ตามหลักเกณฑ์อื่นใดอีกไม่ได้
อนึ่ง สำหรับการดำรงหลักทรัพย์รัฐบาลไทย และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเดิม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ