17 มีนาคม 2548 เรียน ผู้จัดการ ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร* ที่ ฝกส.(11) ว. 3 /2548 เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม 1. เหตุผลในการออกหนังสือเวียน (1) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยขอยกเลิกหนังสือที่ ธปท.สนส.(11)ว. 2221/2545 ลงวันที่ 27 กันยายน 2545 เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม (2) นำส่งประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 2. ฉบับประกาศที่ลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 122 ตอนพิเศษ 21 ง วันที่ 11 มีนาคม 2548 3. ขอบเขตการบังคับใช้ ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจ 4. สาระสำคัญของประกาศ ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับปรุงหลักเกณฑ์ เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม โดยขยายขอบเขตประเภทของลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนมาและคู่สัญญาที่ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ดังนี้ (1) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ประเภทให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งได้เพิ่มเติม เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งได้แล้ว เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 (2) อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้จากนิติบุคคลได้เพิ่มเติมโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้ดังนี้ (2.1) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์อื่นต้องกระทำภายใต้ขอบเขตที่ธนาคารพาณิชย์สามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์เท่านั้น และธนาคารพาณิชย์จะต้องถือปฏิบัติต่อลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่รับซื้อหรือรับโอนตามหลักเกณฑ์ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด (2.2) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมนั้น ธนาคารพาณิชย์ต้องมีกระบวนการ วิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าลูกหนี้เงินให้กู้ยืมดังกล่าวจะสามารถก่อให้เกิดรายได้แก่ธนาคารพาณิชย์ในอนาคต (2.3) การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์อื่นให้ใช้ราคายุติธรรม(fair value) ซึ่งมีความหมายเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี (2.4) ธนาคารพาณิชย์ผู้รับซื้อหรือรับโอนต้องกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ หรือระเบียบปฏิบัติที่ดี เพื่อป้องกันมิให้กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานกระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 5. วันเริ่มต้นการใช้บังคับ ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2548 เป็นต้นไป ขอแสดงความนับถือ (นางทองอุไร ลิ้มปิติ) ผู้อำนวยการอาวุโส สายนโยบายสถาบันการเงิน ผู้ว่าการแทน สิ่งที่ส่งมาด้วย ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม ลงวันที่ 4 มีนาคม 2548 ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน โทร. 0-2283-5305, 0-2283-6875 หมายเหตุ [ ] ธนาคารจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......... [X] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง สนสว10-กส37001-25480317ด ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือ รับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืม _____________________________ 1. เหตุผลในการออกประกาศ เพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์มีความคล่องตัวในการบริหารสินทรัพย์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเห็นควรอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์และของนิติบุคคลอื่น 2. อำนาจตามกฎหมาย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมตามข้อกำหนดในประกาศนี้ 3. ขอบเขตการบังคับใช้ ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร ยกเว้นกิจการวิเทศธนกิจ 4. เนื้อหา 4.1 คำจำกัดความ ภายใต้ประกาศนี้ "ลูกหนี้เงินให้กู้ยืม" หมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจให้กู้ยืมปกติของธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลอื่น ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงลูกหนี้จากการประกอบธุรกิจให้ เช่าซื้อและให้เช่าแบบลีสซิ่งด้วย "สถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกปิดกิจการ" หมายถึง บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงวันที่26 มิถุนายน พ.ศ. 2540 และวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งสั่งโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ และคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินเห็นว่าไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินการได้ "อำนาจควบคุมกิจการ" หมายความว่า (1) การที่บุคคลหนึ่งมีหุ้นในบริษัทจำกัดหนึ่งเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่ จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือ (2) การที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดหนึ่งไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด หรือ (3) การที่บุคคลหนึ่งมีอำนาจควบคุมการแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่ง ของกรรมการทั้งหมดในบริษัทจำกัดหนึ่ง ในกรณีที่บุคคลหนึ่งมีหุ้นในบริษัทจำกัดหนึ่งตั้งแต่ร้อยละ 20 ขึ้นไปของจำนวนหุ้น ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อมและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลที่มีหุ้นดังกล่าวมีอำนาจควบคุมกิจการในบริษัทจำกัดนั้น 4.2 ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมทั้งที่เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศได้จากธนาคารพาณิชย์และนิติบุคคลอื่น ทั้งนี้ ลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่รับซื้อหรือรับโอนมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์ผู้รับซื้อหรือรับโอนนั้นมีอำนาจควบคุมกิจการ จะต้องเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่ได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วและเป็นสินทรัพย์จัดชั้นปกติหรือสินทรัพย์จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษตามนัยประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง สินทรัพย์ที่ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ และสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ 4.3 ธนาคารพาณิชย์สามารถรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์อื่นของสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกปิดกิจการจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ 4.4 การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์อื่นต้องกระทำภายใต้ขอบเขตที่ธนาคารพาณิชย์สามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์เท่านั้นและธนาคารพาณิชย์จะต้องถือปฏิบัติต่อลูกหนี้เงินให้กู้ยืมที่รับซื้อหรือรับโอนตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด 4.5 การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมน น ธนาคารพาณิชย์ต้องมีกระบวนการวิเคราะห์และพิจารณาอย่างรอบคอบว่าลูกหนี้เงินให้กู้ยืมดังกล่าวจะสามารถก่อให้เกิดรายได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ในอนาคต 4.6 การรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมและสินทรัพย์อื่นให้ใช้ราคายุติธรรม(fair value) ซึ่งมีความหมายเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี 4.7 ธนาคารพาณิชย์ผู้รับซื้อหรือรับโอนต้องกำหนดให้มีหลักเกณฑ์ หรือระเบียบปฏิบัติที่ดี เพื่อป้องกันมิให้ กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานกระทำการหรือไม่กระทำการ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 4.8 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจยับยั้งหรือสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจรับซื้อหรือรับโอนลูกหนี้เงินให้กู้ยืมได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศนี้ (2) กรณีอื่นๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นว่ากระทบกับความปลอดภัยหรือผาสุก ของประชาชน 5. วันเริ่มต้นบังคับใช้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2548 (ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล) ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยสนสป10-กส37001-25480308ด