ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความกังวลต่อปัญหาราคาสินค้าและราคาน้ำมัน
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤษภาคม 2555 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,233 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 24.3 เป็น 27.4 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 15.6 เป็น 18.5 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 30.0 เป็น 33.4 พบว่า ค่าดัชนีทุกรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือประชาชน เช่น โครงการโชห่วยช่วยชาติและโครงการธงฟ้า โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อย การชะลอปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการ รวมทั้งมาตรการชดเชยราคาพลังงาน แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังมีความกังวลต่อการผันผวนของราคาน้ำมันและพลังงาน รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง
จากนโยบายการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนของข้าราชการ ประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ส่งผลให้ค่าดัชนีในด้านความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต( 3 เดือนข้างหน้า) เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งความเชื่อมั่นในด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับคงตัว ซึ่งค่าดัชนีสูงกว่า 50 บ่งชี้ให้เห็นว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่อง ส่วนความเชื่อมั่นด้านการวางแผนซื้อรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง เนื่องจากสินค้าบางรายการปรับตัวสูงขึ้นกอปรกับเดือนนี้เป็นช่วงเปิดภาคเรียน ประชาชนที่มีบุตรหลานต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการวางแผนและระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ผู้บริโภคในทุกภาค ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ
1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น โดยต้องการให้รัฐบาลดูแลราคาอาหารและสินค้า
อุปโภคบริโภค
2. ดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันและราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
3. พัฒนาและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
4. ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก
1. แก้ไขปัญหายาเสพติด อาชญากรรม
2. ป้องการและปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ
3. ต้องการให้ยุติความขัดแย้งทางการเมือง
4. ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความยากจน สร้างงานสร้างรายได้สู่ชุมชน
5. เตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
1. ผลักดันราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาที่เหมาะสม เช่น ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา
2. ส่งเสริมและช่วยลดต้นทุนภาคเกษตร เช่น ต้องการให้ปุ๋ยมีราคาถูกลง เป็นต้น
---------------------------------------
ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
ที่มา: สำนักสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
โทรศัพท์ 0-2507-6554 โทรสาร 0-2507-5806 www.price.moc.go.th