รายงานดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างประจำเดือนมิถุนายน 2556 และเฉลี่ยระยะ 6 เดือนของปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday July 5, 2013 14:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ได้ปรับปรุงดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง โดยปรับน้ำหนักและปีฐานจากปี 2543 เป็น ปี 2548 จำนวนสินค้าวัสดุก่อสร้าง
ที่ใช้คำนวณเพิ่มขึ้นจาก 88 รายการ เป็น 131 รายการ เริ่มคำนวณดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2554 ตามโครงสร้างและปีฐานใหม่
โดยเผยแพร่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป และขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน2556โดยสรุปดังนี้

จากการสำรวจราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน131รายการ ครอบคลุมหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกระเบื้องวัสดุฉาบผิวสุขภัณฑ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปาและวัสดุก่อสร้างอื่นๆเพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคา วัสดุก่อสร้างได้ผลดังนี้

1. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน2556

ปี 2548 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเท่ากับ 100และเดือนมิถุนายน2556เท่ากับ 124.9พฤษภาคม2556เท่ากับ 125.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน2556เมื่อเทียบกับ

2.1เดือนพฤษภาคม2556 ลดลงร้อยละ 0.4

2.2 เดือนมิถุนายน2555ลดลงร้อยละ 0.5

2.3 เฉลี่ย 6 เดือน (มกราคม -มิถุนายน 2556) เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.7

3. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน2556 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2556ลดลงร้อยละ 0.4(เดือนพฤษภาคม ลดลงร้อยละ 0.2)

หมวดดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 0.8 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบเหล็กตัวเอช เหล็กฉากเหล็กแผ่นเรียบดำ)เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องหมวดซีเมนต์ ร้อยละ 0.4(ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการชะลอลง และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 1.2 (สายเคเบิล สายไฟฟ้าถังเก็บน้ำ) เนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลง

หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ร้อยละ 0.1 (พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง ท่อระบายน้ำคอนกรีต) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับผลิตได้น้อยลง เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูฝน

4. ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมิถุนายน2556 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2555 ลดลงร้อยละ 0.5

หมวดดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ ดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 9.0 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ เหล็กตัวเอช เหล็กฉาก) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 3.0 (สายเคเบิล สายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี)เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบลดลง

หมวดดัชนีราคาที่สูงขึ้น ได้แก่ ดัชนีราคาหมวดซีเมนต์ ร้อยละ 9.6 เนื่องจากความต้องการสูงขึ้นเพื่อรองรับโครงการก่อสร้าง ของภาครัฐ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต ร้อยละ 2.7 (คอนกรีตผสมเสร็จ เสาเข็ม- พื้นคอนกรีตอัดแรง) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบ ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ทราย ปรับตัวสูงขึ้น และหมวด วัสดุก่อสร้างอื่นๆ ร้อยละ 1.5 (ทราย หิน ยางมะตอย) เนื่องจากแหล่งธรรมชาติหายากขึ้น ส่วนยางมะตอยปรับตัว สูงขึ้นตามราคาน้ำมัน

5. เฉลี่ย 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน) 2556 เทียบกับ(มกราคม-มิถุนายน) 2555 สูงขึ้นร้อยละ 0.7

หมวดดัชนีที่สูงขึ้นได้แก่ หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 5.9(เสาเข็ม- พื้นคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตบล็อคก่อผนัง) หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ร้อยละ 2.8(ยางมะตอย หิน ทราย หินคลุก)หมวดซีเมนต์ ร้อยะ 4.5 (ปูนปอร์ตซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) หมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ร้อยละ 7.9 (วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู-หน้าต่าง) หมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 2.3 (ที่ปัสสาวะเซรามิก โถส้วมชักโครก ถังบำบัดน้ำเสีย) และหมวดวัสดุฉาบผิว ร้อยละ1.8 (สีเคลือบน้ำมัน สีน้ำอะคริลิคทาภายใน-ภายนอก)

หมวดดัชนีราคาที่ลดลง ได้แก่ หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ร้อยละ 6.0 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ เหล็กตัวเอช เหล็กฉาก เหล็กแผ่นเรียบดำ ลวดผูกเหล็ก) และหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 0.8 (สายเคเบิล สายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟ และสายโทรศัพท์พีวีซี)

สรุปภาพรวมดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง 6 เดือนแรกของปี 2556

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยอัตราการเปลี่ยนแปลง 6 เดือนแรกของปี 2556 เทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2555 สูงขึ้นเพียงร้อยละ 0.7 แม้ว่าความต้องการวัสดุก่อสร้างในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และตามหัวเมืองต่างๆของภาคเอกชนยังสูงอยู่ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้การก่อสร้างต้องชะลอตัวลง นอกจากนี้ราคาเหล็กซึ่งเป็นวัสดุโครงสร้าง ที่สำคัญในการก่อสร้างมีแนวโน้มลดลงตามราคาเหล็กในตลาดโลกอีกด้วย

1. ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีราคาสูงขึ้นได้แก่

  • หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตสูงขึ้นร้อยละ 5.9 (เสาเข็ม- พื้นคอนกรีตอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตบล็อคก่อผนัง)
เป็นผลมาจากการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ทำให้ผู้รับเหมาต้องหันมาใช้ผลิตภัณฑ์คอนกรีตสำเร็จรูปมากขึ้นซึ่งใน 6 เดือนแรกของ
ปี 2556 หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีตมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • หมวดวัสดุก่อสร้างอื่นๆ สูงขึ้นร้อยละ 2.8 (หิน ทราย หินคลุก) เนื่องจากแหล่งธรรมชาติหายากขึ้น ประกอบกับมีความต้องการ
ใช้มากในโครงการภาครัฐและเอกชนเช่นเดียวกันกับหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ที่สูงร้อยละ 7.9 (วงกบประตู-หน้าต่าง บานประตู-หน้าต่าง)
เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงปรับตัวสูงขึ้น
  • หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 4.5 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม) เนื่องจากมีความต้องการสูงขึ้นเพื่อตามโครงการ
ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน
  • หมวดสุขภัณฑ์ ร้อยละ 2.3 (ที่ปัสสาวะเซรามิก โถส้วมชักโครก ถังบำบัดน้ำเสีย) และหมวดวัสดุฉาบผิว ร้อยละ1.8
(สีเคลือบน้ำมัน สีน้ำอะคริลิค ทาภายใน-ภายนอก) เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น

2. ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีราคาลดลง ได้แก่

  • หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ลดลงร้อยละ 6.0 (เหล็กเส้นกลมผิวข้ออ้อย-ผิวเรียบ เหล็กตัวเอช เหล็กฉาก
เหล็กแผ่นเรียบดำ ลวดผูกเหล็ก) เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกลดลง จากราคาสินแร่เหล็กมีแนวโน้มลดลงในช่วงต้นปีที่ผ่านมาในขณะเดียวกัน
มีปริมาณผลผลิตเหล็กเป็นจำนวนมาก และจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่มีสต็อคเหล็กอยู่ในระดับสูง แต่ปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการเหล็ก
ในตลาดโลกไม่ได้สูงตาม ดังนั้นจีนจึงทะยอยระบายสต็อคเหล็กออกมา ทำให้ราคาเหล็กมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
  • หมวดอุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ร้อยละ 0.8 (สายเคเบิล สายไฟฟ้า ท่อร้อยสายไฟและสายโทรศัพท์พีวีซี) เนื่องจากราคา

วัตถุดิบหลัก คือ ทองแดงในตลาดโลกปรับตัวลดลง

แนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างครึ่งปีหลัง 2556

ในช่วงระยะสั้น 3 เดือนแรก ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ ส่วนช่วง 3 เดือนหลัง จะค่อยๆปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการที่ยังสูงจากภาครัฐ ได้แก่ การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และอีก 2 โครงการ ซึ่งยังรอความชัดเจนอยู่ คือ โครงการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ 3.5 แสนล้าน โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 2 ล้านล้านบาท และภาคเอกชน ได้แก่ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า และตามจังหวัดต่างๆ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น เป็นต้น

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง

เดือน มิถุนายน ปี 2556

(2548 = 100)

 หมวด                                         ดัชนี                                อัตราการเปลี่ยนแปลง
                        สัดส่วน
                        น้ำหนัก
                                 มิ.ย.56    พ.ค.56   มิ.ย.55     เฉลี่ย   มิ.ย.56/    มิ.ย.56/   ม.ค.- มิ.ย.56/
                                                                      พ.ค.56     มิ.ย.55    ม.ค.- มิ.ย.55
ดัชนีรวม                 100.00     124.9     125.4    125.5    125.5     -0.4       -0.5        0.7
ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้            7.15     150.4     150.4    140.2    151.2      0.0        7.3        7.9
ซิเมนต์                   12.18     123.0     123.5    112.2    117.9     -0.4        9.6        4.5
ผลิตภัณฑ์คอนกรีต            14.65     129.3     129.2    125.9    128.3      0.1        2.7        5.9
เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก       24.15     113.6     114.5    124.9    117.6     -0.8       -9.0       -6.0
กระเบื้อง                  6.53     111.6     111.6    111.2    111.6      0.0        0.4        0.1
วัสดุฉาบผิว                 2.75     120.9     120.9    118.9    121.4      0.0        1.7        1.8
สุขภัณฑ์                    2.27     156.5     156.5    152.8    155.8      0.0        2.4        2.3
อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา       12.85     111.7     113.0    115.1    113.6     -1.2       -3.0       -0.8
วัสดุก่อสร้างอื่น ๆ           17.48     144.9     145.2    142.8    144.7     -0.2        1.5        2.8

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2507 6719 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ