รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 5, 2013 15:42 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม จากการใช้จ่าย ภาคประชาชนที่ลดลง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้ง การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ที่สร้าง ความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ประชาชน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,305 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 39.1 เป็น 37.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 32.6 เป็น 31.3 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 43.4 เป็น 40.7 เนื่องจากการใช้จ่ายภาคประชาชนที่ลดลง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น กอปรกับเศรษฐกิจโลกยังมี ความเปราะบาง ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลงทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)ลดลง ทั้งยังส่งผลให้ด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลงตามไปด้วย เนื่องจาก ประชาชนปรับลดค่าใช้จ่ายลงเพราะไม่แน่ใจภาวะเศรษฐกิจในอนาคต อีกทั้งตัวเลขการวางแผนซื้อรถยนต์ และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ร้อนแรงของปีที่ผ่านมาทำให้ความต้องการสินค้าดังกล่าวในปีนี้ปรับลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ พบว่าในเดือนนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯทุกรายการปรับตัวลดลง จากการที่เศรษฐกิจโดยรวมมีการชะลอตัว และราคาน้ำมันขายปลีกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 45.3 เป็น 43.6 ภาคกลาง จาก 38.4 เป็น 34.2 ภาคเหนือ จาก 39.0 เป็น 37.1 ภาคตะวันออก จาก 39.0 เป็น 35.1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 41.1 เป็น 38.9 และภาคใต้ จาก 29.5 เป็น 28.4 อีกทั้งค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก เศรษฐกิจภายในประเทศมีการชะลอตัว ประชาชนจับจ่ายใช้สอยลดลง การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ที่สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เพาะปลูกและบ้านเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังมีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.9       15.3        13.3         10.7            10.4         8.7         8.0
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.9       12.5        12.6         11.2            10.6        10.7         9.9
ภาคกลาง               13.9       14.9        14.0         10.4            11.0         8.1         7.0
ภาคเหนือ               18.1       17.2        13.2         11.9            10.4         6.8         6.2
ภาคตะวันออก            18.8       17.8        12.7          9.6             6.9         9.1         8.6
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    18.6       16.4        13.6         10.0             9.9         8.5         7.6
ภาคใต้                 15.5       14.6        13.5         10.6            11.5         9.2         9.1

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาราคาสินค้า/ต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้ง ดูแลราคาน้ำมันและก๊าซไม่ให้สูงจนเกินไป

เนื่องจากประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในภาคครัวเรือนสูงขึ้นแต่รายได้ยังเท่าเดิม

2. ต้องการให้รัฐบาลใช้นโยบายต่างๆที่เหมาะสมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

3. ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างจริงจัง

2. ปราบปรามยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักโดยเฉพาะแหล่งชุมชน

3. แก้ไขปัญหาความยากจนและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค

4. แก้ไขปัญหาการว่างงาน/การขาดแคลานแรงงาน ให้เกิดความสมดุล

5. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประชาชน

6. สนับสนุน/ส่งเสริมช่องทางการค้าสินค้าทางการเกษตร รวมทั้งดูแลราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาปาล์มและยางพารา

7. วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาน้ำท่วมให้หลายพื้นที่

8. ปรับปรุงและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ