รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 9, 2014 12:18 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

สถานการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อส่งผลให้ผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจและชะลอการใช้จ่าย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,310 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 26.7 เป็น 27.5 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 19.8 เป็น 20.1 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเช่นกันจาก 31.3 เป็น 32.4 โดยดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ยืดเยื้อและยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการชะลอการใช้จ่าย ในภาคประชาชนและเป็นอุปสรรคในการลงทุนของภาคเอกชน แม้ว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นร้อยละ 2.00 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค อีกทั้งหลายจังหวัดในทุกภาคได้รับผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรและสร้างความเดือดร้อน แก่ประชาชน

แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางการฟื้นตัวซึ่งส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นักลงทุนและนักท่องเที่ยวยังคงเป็นเรื่องสถานการณ์ ทางการเมือง รวมทั้งการใช้จ่ายการลงทุนภาครัฐ ที่มีแนวโน้มล่าช้าออกไปและอาจส่งผลกระทบให้ การบริโภคยิ่งเกิดการชะลอตัวเพิ่มมากขึ้น

ส่วนความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ในระดับที่ไม่มี ความเชื่อมั่นฯอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต(6 เดือนข้างหน้า) ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับที่ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายและซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2557 ในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ การเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของทุกภาคส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับ ความเสียหาย ชาวนาในหลายจังหวัดยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว รวมทั้ง ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ส่วนค่าดัชนีฯเมื่อเทียบกับเดือน ที่ผ่านมาพบว่า ภูมิภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคกลาง จาก 30.7 เป็น 28.9 ส่วนภูมิภาคปรับเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 23.4 เป็น 24.2 ภาคเหนือ จาก 28.3 เป็น 29.4 ภาคตะวันออก จาก 25.7 เป็น 27.5 และภาคใต้ จาก 21.7 เป็น 24.3 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือที่ระดับ 29.8

ปัญหาต่างๆ ที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             15.7       13.5        12.7            12.2         10.2        9.9         7.1
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.3       12.0        13.1            11.5         10.3       11.7         8.2
ภาคกลาง               14.8       15.4        10.1            12.4         10.9        9.3         7.3
ภาคเหนือ               16.5       13.5        13.7            13.0          9.7        8.2         6.1
ภาคตะวันออก            15.6       14.2        13.3             9.5         10.1       11.4         7.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    15.8       13.1        14.1            11.8          9.9       10.5         6.4
ภาคใต้                 15.0       13.4        11.7            13.6         10.1        8.8         7.0

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาปากท้อง/ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ราคาแก๊สและน้ำมัน

2. สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและนักลงทุน

3. ช่วยเหลือชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินในโครงการจำนำข้าว รวมทั้งแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

ด้านสังคม

1. ยุติสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ

2. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่นที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองและปราบปรามการระบาดของยาเสพติด

3. แก้ไขปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกระจายรายได้สู่ชนบท

4. แก้ไขปัญหาโครงสร้างภาคแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่

5. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสงบสุขของประชาชน

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ