รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 4, 2014 12:23 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความยืดเยื้อของความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,220 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 29.5 เป็น 26.7 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 22.3 เป็น 19.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวลดลงเช่นกันจาก 34.3 เป็น 31.3 ทั้งนี้ ดัชนีทุกรายการปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากความยืดเยื้อของความขัดแย้งทางการเมือง รวมทั้งเกิดเหตุการณ์รุนแรงบริเวณการชุมนุม ซึ่งส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค หลายจังหวัดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งซึ่งสร้างความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้ง การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนที่ต่อเนื่องมาเป็นเดือน 7 ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายและลดการบริโภคด้านอื่นๆที่ไม่จำเป็นลง

แม้ว่า เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางการฟื้นตัวโดยเฉพาะยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา แต่จากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศได้ส่งกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและ นักลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนได้จากค่าดัชนีทุกรายการต่ำกว่าระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

ส่วน ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)ได้ปรับตัวลดลง อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมทางการเมือง สำหรับการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต(6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายเพราะไม่มั่นใจกับรายได้ในอนาคต กอปรกับราคาผลผลิตภาคการเกษตรปรับลดลง

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าเกือบทุกภูมิภาคปรับตัวลดลง ดังนี้ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 27.9 เป็น 23.4 ภาคเหนือ จาก 31.4 เป็น 28.3 ภาคตะวันออก จาก 27.7 เป็น 25.7 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 32.2 เป็น 29.8 และภาคใต้ จาก 25.9 เป็น 21.7 ยกเว้นภาคกลางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 29.8 เป็น 30.7 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ที่ยืดเยื้อมาหลายเดือนและยังหาข้อข้อยุติไม่ได้ ส่งกระทบต่อความเชื่อมั่นฯของผู้บริโภคและภาคการท่องเที่ยว อีกทั้ง การเกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมทั้ง ชาวนาในหลายจังหวัดยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว รวมทั้ง ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

ปัญหาต่างๆ ที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป     คอรัปชั่น     การว่างงาน    ยาเสพติด
ประเทศไทย             15.7       13.6        12.5            12.1       10.8          10.3        6.9
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.4       11.6        12.6            11.0       13.9           8.8        8.4
ภาคกลาง               14.9       13.3        12.0            12.5        9.8          11.2        5.5
ภาคเหนือ               15.5       14.4        13.3            12.9        8.1          10.5        5.8
ภาคตะวันออก            14.5       14.1        13.4             9.3       13.1          11.0        8.8
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    16.2       14.3        12.1            12.6       11.0          10.1        6.8
ภาคใต้                 16.0       14.4        12.1            12.8        9.4          10.7        6.8

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาน้ำมัน

2. สร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการและนักลงทุน

3. แก้ไขปัญหาการจ่ายเงินให้ชาวนาในโครงการจำนำข้าวและราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ

ด้านสังคม

1. ยุติความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

2. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่นและยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนัก

3. สร้างวินัยและความโปร่งใสในการใช้จ่ายของรัฐบาล

4. แก้ไขปัญหาทางสังคม ปัญหาความยากจน ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกระจายรายได้สู่ชนบท

5. แก้ไขปัญหาโครงสร้างภาคแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการว่างงานของนักศึกษาจบใหม่

6. แก้ปัญหาแก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความสงบสุขของประชาชน

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ