รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 1, 2014 14:07 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นฯ แม้ว่าเทศกาลสงกรานต์จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2557 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,239 คน พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 29.8 เดือนมีนาคม มีค่า 27.5 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 23.0 เดือนมีนาคม มีค่า 20.1 และดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 34.3 เดือนมีนาคม มีค่า 32.4 ซึ่งค่าดัชนีต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงยืดเยื้อและยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน การใช้จ่าย ภาคประชาชนที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลายจังหวัดในทุกภาคได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนบางพื้นที่ในเขตภาคเหนือและภาคอีสานได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน รวมทั้งความกังวลของผู้บริโภคที่มีการปรับขึ้นราคาก๊าซ หุงต้มที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ของปีที่ผ่านมา

แม้ว่า ในเดือนเมษายนจะมีเทศกาลสงกรานต์ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและ รัฐบาลยังได้ประกาศขยายเวลามาตรการรถไฟ/รถเมล์ฟรี ออกไปอีก 3 เดือนเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชนก็ตาม

ส่วนความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) และ การวางแผนซื้อ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆรวมทั้งการวางแผนซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นฯ อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประชาชนบางกลุ่มเริ่มให้ความสนใจกับระบบโทรทัศน์ดิจิทัล แต่โดยภาพรวมถือว่าผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง และปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายโดยซื้อสินค้าเท่าที่จำเป็นและงดใช้จ่ายสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2557 ในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองยังหาข้อยุติไม่ได้ หลายจังหวัดในทุกภาคได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ส่วนบางพื้นที่ในเขตภาคเหนือและภาคอีสานได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อนที่สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชน ทั้งนี้ ชาวนาบางส่วนยังไม่ได้รับเงินจากโครงการจำนำข้าว เหตุระเบิดในจังหวัดยะลาที่สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งค่าดัชนีฯเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ภาคใต้ จาก 24.3 เป็น 23.7 กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 24.2 เป็น 25.8 ภาคกลาง จาก 28.9 เป็น 34.9 ภาคเหนือ จาก 29.4 เป็น 30.2 ภาคตะวันออก จาก 27.5 เป็น 32.1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 29.8 เป็น 32.9

ปัญหาต่างๆ ที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป      การว่างงาน    คอรัปชั่น    ยาเสพติด
ประเทศไทย             15.9       14.1        13.1            12.7           10.1       9.8        6.7
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        16.8       12.1        13.7            13.4            8.8      11.6        8.2
ภาคกลาง               14.3       14.7        11.7            12.9           10.0       9.2        6.1
ภาคเหนือ               15.8       15.9        13.6            13.4           10.7       8.0        6.2
ภาคตะวันออก            16.2       15.2        14.6            10.3            9.3      12.6        7.3
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    16.2       13.0        13.2            12.2           10.4       9.1        6.6
ภาคใต้                 15.9       14.7        12.4            12.4           10.9       9.7        6.2

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาค่าครองชีพ พยุงราคาสินค้าจำเป็นแก่การครองชีพ อาหาร ก๊าซ/น้ำมัน และค่าสาธารณูปโภค

2. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ หาตลาดรองรับให้กับผลผลิตทางการเกษตร

เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลที่มีผลไม้ออกมาเป็นจำนวนมาก

3. หามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาทางการเมือง หันหน้าเข้าหากันเพื่อยุติความขัดแย้ง ทั้งนี้ ประชาชนต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบโดยเร็ว

2. ปราบปรามการทุจริต ลดปัญหาการโกงกินและคอรัปชั่น

3. ปราบปรามการแพร่ระบาดของยาเสพติด

4. แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและกระจายรายได้สู่ชนบท หาแหล่งเงินกู้ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้

5. แก้ไขปัญหาโครงสร้างภาคแรงงานโดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน

6. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ