รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 23, 2015 12:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ เดือน พฤศจิกายน 2557

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.5 ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -2.1

ดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.5 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และยางพารา หมวดอุตสาหกรรมการเกษตร สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำตาล ผลไม้กระป๋อง เครื่องดื่ม หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องประดับแท้ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป ซึ่งทองคำลดลงต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก เหล็กและเหล็กกล้า เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ราคาปรับลดลงเช่นกันตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล ปรับลดลงต่อเนื่องจากภาวะตลาดโลก

ดัชนีราคานำเข้ายังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤศจิกายน 2557 ลดลงถึงร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคานำเข้าทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้านำเข้าที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงปรับตัวลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ซึ่งเกิดจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาดสวนทางกับอุปสงค์ของประเทศต่างๆ ที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีทางเศรษฐกิจและการยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของสหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและกลายเป็นแรงกดดันต่อตลาดทองคำ ทำให้ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวลดลง นอกจากนั้น สินค้านำเข้าที่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และโลหะมีการปรับราคาลดลงตามสถานการณ์ตลาดโลกเช่นกัน

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนพฤศจิกายน 2557 เท่ากับ 97.8 และเดือนตุลาคม 2557 เท่ากับ 98.3

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับ

เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.5

เดือนพฤศจิกายน 2556 ลดลงร้อยละ -1.1

เฉลี่ย มกราคม-พฤศจิกายน 2557 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2556 ลดลงร้อยละ -0.9

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.5 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.3) จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ -0.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ -0.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ -0.4 และหมวดสินค้าแร่เชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -2.8

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.1 (เดือนตุลาคม 2557ลดลงร้อยละ -0.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

  รายการสินค้า                  ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
ข้าว                                  -0.5
ข้าวโพด                               -1.4
ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง                    -0.6
ยางพารา                              -0.5
ใบยาสูบ                               -0.8
ธัญญพืช                                 -1
กุ้ง                                   -0.3

สินค้ากสิกรรมลดลงร้อยละ -0.2 ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งยางพารา ใบยาสูบ และธัญญพืช สินค้าประมงลดลงร้อยละ -0.1 ได้แก่ กุ้ง ราคาลดลงจากปริมาณการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าลดลงและการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากสหภาพยุโรป

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.3 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.3) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

 รายการสินค้า                       ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
เครื่องประดับแท้                              -0.4
ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป                           -1.8
เหล็กและเหล็กกล้า                            -0.7
เอทิลีน                                     -1.8
โพรพิลีน                                    -1.6
สไตริน                                     -0.3
ไวนิลคลอไรด์                                -1.6
เคมีภัณฑ์อินทรีย์                               -2.2
รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ                   -0.5
รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ                   -0.1

อัญมณีและเครื่องประดับลดลงร้อยละ -1.0 (เครื่องประดับแท้ ทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ -0.2 (เหล็กและเหล็กกล้า) เม็ดพลาสติกลดลงร้อยละ -1.0 (เอทิลีน โพรพิลีน สไตริน ไวนิลคลอไรด์) เคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ -1.5 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์) ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ -0.4 (รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ)

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -2.8 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -1.7) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า     ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       น้ำมันเบนซิน              - 4.7
       น้ำมันดีเซล               - 2.4
       ก๊าซปิโตรเลียมเหลว        - 7.8

น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -3.3 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) ลดลงตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.4 (เดือนตุลาคม 2557 สูงขึ้นร้อยละ +0.6) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

       รายการสินค้า           ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)

       น้ำตาลทราย                  - 0.8
       ผลไม้กระป๋อง                 - 0.9
       ผักกระป๋องและแปรรูป           - 0.3
       เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์        - 0.9
       เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์          - 1.2

น้ำตาลทรายและกากน้ำตาลลดลงร้อยละ -0.8 (น้ำตาลทราย) ผลไม้กระป๋องและแปรรูปลดลง -0.5 ผักกระป๋องและแปรรูปลดลง -0.3 เครื่องดื่มลดลง -1.1 (เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์)

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -1.1 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ -7.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ -0.5 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -5.4 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ +0.1

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยมกราคม-พฤศจิกายน 2557 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2556 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ -0.9 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ -7.9 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ -0.6 หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -1.1 ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557
ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนพฤศจิกายน 2557 เท่ากับ 92.8 และเดือนตุลาคม 2557 เท่ากับ 94.8

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2557 เมื่อเทียบกับ
เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -2.1
เดือนพฤศจิกายน 2556 ลดลงร้อยละ -5.1
เฉลี่ยมกราคม-พฤศจิกายน 2557 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2556 ลดลงร้อยละ -1.3

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -2.1 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -1.4) โดยเป็นการปรับลดลงในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -8.0 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ -1.0 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -0.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ -0.2 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ -2.6

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง
หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -8.0 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -5.4) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

       รายการสินค้า           ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       น้ำมันดิบ                     - 10.1
       น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรก        - 5.3
       น้ำมันเตา                     - 7.2
       น้ำมันเบนซิน                   - 9.1
       ก๊าซปิโตรเลียมอื่นๆ              - 6.9

น้ำมันดิบลดลงร้อยละ -10.1 น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -5.3 (น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรก น้ำมันเบนซิน น้ำมันเตา) และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมลดลงร้อยละ -1.0 (ก๊าซปิโตรเลียมอื่นๆ) ทั้งนี้ ราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงยังคงปรับลดลงอย่างต่อเนื่องโดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง เนื่องมาจากสถานการณ์อุปทานล้นตลาด สวนทางกับอุปสงค์ของการใช้น้ำมันในประเทศต่างๆ ที่เติบโตชะลอลง

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -1.0 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

       รายการสินค้า                               ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ             - 1.1
       เครื่องจักรกลอื่นๆ และส่วนประกอบ                    - 1.0
       อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า            - 1.5
       เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะสามัญ                   - 2.8
       เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์                        - 1.4

เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ -1.1 (เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลอื่นๆ และส่วนประกอบ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบลดลงร้อยละ -1.2 (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า) ผลิตภัณฑ์โลหะลดลงร้อยละ -1.2 (เครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะสามัญ) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ -0.8 (เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์) สำหรับการปรับลดลงของราคานำเข้าสินค้าทุนนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคานำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ถูกลง

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -0.8 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

       รายการสินค้า             ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       ทองคำ                           - 4.0
       เงิน                              -2.3
       เหล็ก                            - 0.6
       เคมีภัณฑ์อินทรีย์                     - 2.9
       เม็ดพลาสติก                        - 0.7

เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำลดลงร้อยละ -3.3 (ทองคำ เงิน) โดยเฉพาะราคาทองคำซึ่งยังคงได้รับแรงกดดันผ่านทางค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการยุติมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการของนักลงทุนในการเข้าซื้อทองคำในฐานะที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมีน้อยลง สำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ -0.4 (เหล็ก) และเคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ -1.2 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติก)

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -0.2 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า       ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       ยารักษาโรค               - 0.5
       เครื่องสำอาง              - 1.1

ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรมลดลงร้อยละ -0.5 (ยารักษาโรค) สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอางลดลงร้อยละ -1.0 (เครื่องสำอาง)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -2.6 (เดือนตุลาคม 2557 ลดลงร้อยละ -0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

       รายการสินค้า                            ร้อยละ (พ.ย.57/ต.ค.57)
       ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง         - 3.2
       ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ                         - 3.2

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ลดลงร้อยละ -3.2 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ) การปรับลดลงของราคานำเข้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งนี้ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคานำเข้าในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ ถูกลง

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2557 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2556 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -5.1 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ -18.6 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ -1.6 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ -1.7 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ -0.6 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ -5.5

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยมกราคม-พฤศจิกายน 2557 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2556 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ -1.3 จากการลดลงของดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงร้อยละ -2.5 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ร้อยละ -1.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ร้อยละ -0.1 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งร้อยละ -3.1 ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าทุนสูงขึ้นร้อยละ +0.2

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0 2507 5802 โทรสาร. 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ