รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 1, 2015 11:26 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2558 เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลง

          ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,360  คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า  40.0 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์  2558  ที่มีค่า 42.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ  ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 34.1 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 36.8 รวมทั้ง ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 44.0 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 46.1 ทั้งนี้ ค่าดัชนี ทุกรายการปรับลดลงและมีค่าต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ  เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด  ปัญหารายได้ของเกษตรกรที่ลดลงติดต่อกันหลายเดือน ทำให้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง กำลังซื้อของผู้บริโภคภายในประเทศลดลง ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจ             ในสถานการณ์เศรษฐกิจ อีกทั้ง ในหลายพื้นที่ของประเทศเกิดปัญหาภัยแล้ง ผลผลิตภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย  หลายจังหวัดในภาคเหนือตอนบนได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน รวมทั้ง เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งนี้ ภาครัฐและหลายหน่วยงาน ได้พยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายต่างๆ เร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณ งบลงทุนผ่านโครงการต่างๆ  อีกทั้ง มติ กบง. เห็นชอบให้ปรับลดอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน และ มติ กนง. ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
          ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 49.5 และเป็น ครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า  50  สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคต รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น บางส่วนชะลอ             การใช้จ่าย เนื่องจากไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันและในอนาคต

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                 ก.ย. 57       ต.ค. 57       พ.ย. 57        ธ.ค. 57        ม.ค. 58        ก.พ. 58       มี.ค. 58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม        45.8          46.1          44.2           44.2           43.3           42.4          40.0

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                          ก.ย. 57      ต.ค. 57      พ.ย. 57     ธ.ค. 57     ม.ค. 58      ก.พ. 58     มี.ค. 58

ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน    40.6         40.2        38.6         38.7        38.7         36.8        34.1
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต    49.2         50.1        47.9         47.8        46.5         46.1        44.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                           ก.ย. 57      ต.ค. 57      พ.ย. 57       ธ.ค. 57     ม.ค. 58     ก.พ. 58      มี.ค. 58

รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)         53.3         53.9          52.8         52.2         50.4        50.9        49.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                           ก.ย. 57     ต.ค. 57     พ.ย. 57     ธ.ค. 57     ม.ค. 58     ก.พ. 58     มี.ค. 58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                            31.2        31.3        29.4        29.2        27.6        27.5        25.6
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)             36.3        37.2        33.9        33.9        32.0        31.8        30.6

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                 ก.ย. 57     ต.ค. 57     พ.ย. 57      ธ.ค. 57     ม.ค. 58      ก.พ. 58     มี.ค. 58

การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน       56.6        59.2        61.1        62.4         60.0        62.4         61.7
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า        15.0        16.5        13.6        14.6         15.2        13.0         14.6
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน      20.9        23.1        21.5        19.6         21.4        19.0         22.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2558 เกือบทุกภาคปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 44.0 เป็น 43.0 ภาคกลาง จาก 46.2 เป็น 42.5 ภาคเหนือ จาก 43.8 เป็น 42.5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 45.7 เป็น 42.2 และภาคใต้จาก 33.1 เป็น 28.3 ยกเว้น ภาคตะวันออก ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 37.1 เป็น 38.9 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงติดต่อกันมานานหลายเดือน ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง รายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเกษตรที่สูงขึ้น เกิดภาวะหนี้สะสมกระทบต่อระบบเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยเพราะไม่เชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจ หลายพื้นที่ของประเทศประสบปัญหาภัยแล้งประชาชนได้รับความเดือดร้อน ภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน รวมทั้ง เหตุการณ์ ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

การอ่านค่าดัชนี ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ดี"
  • ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ "ไม่ดี"

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ