รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 21, 2015 14:22 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2558

การบริโภคและใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนสิงหาคม 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,468 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 34.6 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2558 ที่มีค่า 33.7 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 28.5 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 27.5 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 38.7 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 37.8 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกรายการ ยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง ส่งผลกระทบ ต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจของไทย แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ประกอบการรายย่อย แต่ผู้ประกอบการหลายรายขาดสภาพคล่องส่งผลกระทบต่อภาคแรงงาน ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้รายได้ของเกษตรกรลดลงแต่ต้นทุนการผลิตกลับสูงขึ้น กำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง ทั้งยังเกิดเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ กระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในระยะสั้น แต่ยังมีปัจจัยบวกที่สามารถช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ โดยราคาน้ำมันขายปลีก หลายรายการปรับลดลง อีกทั้ง กบง. มีมติปรับลดราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลง 1 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการปรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน จากแนวนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาค่าครองชีพเพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 44.9 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งโอกาสในการหางานทำในปัจจุบันและอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้และโอกาสในการหางานทำ รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มี ความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการบริโภคและใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก รายได้เกษตรกรหดตัว หนี้ภาคครัวเรือนอยู่ในระดับสูง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     42.4     40.0      38.8     38.9     38.9     33.7     34.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     36.8     34.1      32.5     32.6     32.5     27.5     28.5
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     46.1     44.0      42.9     43.1     43.2     37.8     38.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     50.9     49.5      47.0     47.3     47.8     43.5     44.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    27.5     25.6      24.2     26.1     26.2     22.1     21.5
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     31.8     30.6      31.6     31.7     31.4     26.8     25.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        62.4     61.7      59.8     58.5     59.0     56.3     58.9
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         13.0     14.6      14.6     15.3     16.4     14.0     13.4
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า     19.0     22.0      19.8     20.2     20.7     20.2     19.3

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนสิงหาคม 2558 ที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 34.1 เป็น 38.6 ภาคกลาง จาก 39.4 เป็น 39.9 ภาคตะวันออก จาก 24.2 เป็น 25.8 และภาคใต้จาก 23.1 เป็น 25.9 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคเหนือ จาก 37.5 เป็น 34.9 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 36.9 เป็น 36.0 โดยค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แม้ว่าความกังวลในปัญหาภัยแล้งจะลดลง เนื่องจากมีฝนตกเพิ่มขึ้นแต่เกษตรกรก็ยังมีความเสี่ยงจากฝนทิ้งช่วง เกิดเหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ที่สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้องและรายได้ของประชาชน

2. ดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ลูกจ้างและเกษตรกร

3. รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ

4. กระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ

5. แก้ไขปัญหาราคาต้นทุนทางการเกษตรและหามาตรการช่วยเพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตร เช่น ยางพารา ข้าว ปาล์ม และมันสำปะหลัง เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น

6. ปรับโครงสร้าง/ยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เร่งใช้จ่ายงบประมาณการลงทุนในโครงการที่มีประโยชน์

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ

2. สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว

3. แก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดการเกิดปัญหาอาชญากรรม

4. แก้ไขปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

5. ดูแลค่าแรงขั้นต่ำ ส่งเสริมอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับผู้ว่างงาน

6. แก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้นอกระบบ รวมทั้งดูแลความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ที่มีรายได้น้อยและคนในชุมชุนต่างๆ

7. วางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ