รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2016 14:47 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2559

ผู้บริโภคมีความกังวลจากวิกฤติภัยแล้ง และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมกราคม 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,427 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 36.4 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2558 ที่มีค่า 37.2 ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 40.0 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.0 ส่วนค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 30.9 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 30.1โดยค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้ง พื้นที่ในหลายจังหวัดได้ถูกประกาศเป็นเขตภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอต่อภาคเกษตรและอุปโภคบริโภค รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชน รวมทั้ง ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตัวเลขการส่งออกลดลงต่อเนื่อง อีกทั้ง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกตกต่ำ ภาคการเกษตรมีรายได้ลดลง หนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนพร้อมหาแนวทางการแก้ไขระยะยาวเพื่อให้ประชาชนทุกระดับมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 45.1 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นฯอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่องจากเหตุปัจจัยต่างๆโดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจโลกและภัยธรรมชาติ ที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรทั่วโลกตกต่ำ กระทบต่อรายได้ของเกษตรกรและกำลังซื้อของประชาชน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     33.7     34.6     35.4     36.2     37.6     37.2     36.4

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     27.5     28.5     28.4     27.7     29.6     30.1     30.9
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     37.8     38.7     40.0     42.0     42.9     42.0     40.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     43.5     44.9     45.9     48.3     49.2     47.8     45.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    22.1     21.5     22.3     21.4     23.8     24.2     25.4
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     26.8     25.9     27.5     27.6     29.2     29.3     28.7

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58   ธ.ค.58   ม.ค.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        56.3     58.9     52.9     53.8     54.4     56.0     55.3
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         14.0     13.4     12.7     13.0     13.0     14.5     12.8
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       20.2     19.3     19.7     19.7     20.5     20.8     19.5
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมกราคม 2559 ภาคที่ปรับลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 37.7 เป็น 36.3 ภาคเหนือ จาก 38.2 เป็น 37.1 และภาคใต้จาก 28.9 เป็น 23.9 ส่วนภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ ภาคกลาง จาก 40.9 เป็น 42.6 และภาคตะวันออก จาก 31.6 เป็น 33.0 ยกเว้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีเท่ากับเดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 41.3 แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก วิกฤติภัยแล้งได้สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลายจังหวัด น้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้ง ราคาสินค้าการเกษตรยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพารา เป็นต้น

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน คุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมราคาสินค้า

2. ดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาดีขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าว ยางพารา พร้อมทั้งพัฒนาและช่วยเหลือธุรกิจต่าง ๆ ในระดับรากหญ้า

3. สนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

4. กระตุ้นการส่งออก และสร้างความน่าเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

5. กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนและยกระดับเงินเดือนลูกจ้างของรัฐ

ด้านสังคม

1. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด ปัญหาการทุจริต/คอรัปชั่น

2. ดูแลและปฏิรูประบบการศึกษาโดยเฉพาะเขตชนบท

3. อบรมวิชาชีพต่างๆให้กับเกษตรกรเพื่อให้มีรายได้เสริม

4. ปรับปรุงสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จำเป็นในชุมชน เช่น ถนน ไฟฟ้า

5. ปัญหาภัยแล้งทำให้เกษตรกรไม่มีรายได้ โดยต้องการให้ภาครัฐทำฝนเทียมเพื่อมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก

6. ดูแลหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

7. แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน

8. แก้ไขปัญหาคนว่างงานและผู้ที่มีรายได้น้อย

9. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร วางแผนระยะยาวในการปลูกพืช เพื่อลดปัญหาสินค้าล้นตลาด

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ