ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2016 15:40 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 (YoY) เป็นผลมาจากลดลงของราคาสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลง ซึ่งเป็นไปตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่มีอยู่มาก ขณะที่ความต้องการของตลาดคู่ค้าชะลอตัวเนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.4 (YoY) สาเหตุจากสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยเกิดจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ดัชนีราคาส่งออก เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 94.4 (ปี 2555 = 100) และเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.6 (YoY) โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาส่งออกในเดือนนี้ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็งเนื่องจากผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมาก ขณะที่ความต้องการสินค้าชะลอตัว หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ทองคำ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นไปตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาด และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากผู้ผลิตหลักอย่างบราซิลสามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (ปี 2555 = 100) ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.4 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ในตลาดโลก แม้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างโอเปคจะพยายามสร้างเสถียรภาพต่อราคาน้ำมัน แต่ก็ยังไม่มีแผนที่จะปรับลดกำลังการผลิตที่ชัดเจน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งราคาที่ปรับลดลง เป็นผลมาจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาดเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีสินแร่โลหะต่างๆ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ ที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 94.4 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 94.3) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 79.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 97.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 97.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 73.5

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

สินค้าส่งออกที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาส่งออกในอัตราที่สูงขึ้น ได้แก่ สินค้าในหมวดอุตสาหกรรม จากราคาทองคำที่สูงขึ้นตามการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จึงหันมาสนใจลงทุนในทองคำมากขึ้น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการของตลาดที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับหมวดสินค้าอื่นๆ ที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ ยางพารา กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่สินค้าราคาลดลง ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับลดลง

2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.6 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกยังคงปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาด ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 79.9 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนมกราคม 2559 เท่ากับ 79.8) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 38.3 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 97.2 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 88.6 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 98.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 90.0

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนมกราคม 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีสินค้านำเข้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ทองคำ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลกที่ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม อย่างไรก็ตาม หมวดสินค้าเชื้อเพลิงยังคงปรับลดลง โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะอุปทานที่ยังคงล้นตลาด

2.2 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 8.4 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคานำเข้าปรับลดลงทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิงมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าในตลาดโลก อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยเกิดจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 8.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคานำเข้าปรับลดลงทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิงมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค เครื่องสำอาง นาฬิกาและส่วนประกอบ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินอาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ