ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือน มีนาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 15:46 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับร้อยละ -0.46 (YoY) ได้รับอิทธิพลมาจากสินค้า 4 หมวดหลักคือ 1) หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร 2) หมวดเคหสถาน 3) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 4) ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ตามลำดับ)

ผลกระทบทางลบจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร และหมวดเคหสถานยังคงมีอิทธิพลมากกว่าผลกระทบทางบวกจากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามภาวะอุปสงค์และอุปทานของตลาด และผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าในเดือนก.พ.59 (ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร เริ่มปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและส่งผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อลดลง เป็นสัญญาณที่ดีว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยายตัวในระยะสั้น

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เดือนมีนาคม 2559 (ดัชนีปี 2554 เท่ากับ100) เท่ากับ 105.84 อัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ลดลงร้อยละ 0.46 (YoY) จากผลกระทบสะสมของหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารและส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ -0.99 ปัจจัยสำคัญมาจาก 1) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ได้แก่ น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 95 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซ LPG (ผลกระทบร้อยละ 1.01) 2) ค่าโดยสารนอกท้องถิ่น อาทิ ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 (ผลกระทบร้อยละ -0.01) ทั้งนี้ผลกระทบทางลบของสินค้าและบริการที่กล่าวมาข้างต้นต่ออัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด อาทิ ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มในหมวดเคหสถาน กดดันให้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมลดลงร้อยละ -0.02 ทั้งนี้ ผลกระทบในทางลบต่ออัตราเงินเฟ้อถูกชดเชยด้วยความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเพื่อการบริโภคหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 0.33 โดยเฉพาะไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน(ข้าวราดแกง) และข้าวสารเหนียว (ร้อยละ 0.05, 0.04, 0.03 และ 0.01 ตามลำดับ) รวมทั้งผลกระทบสะสมของการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (ร้อยละ 0.18)

เมื่อเทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อัตราเงินเฟ้อมีค่าเท่ากับ 0.21 (MoM) โดยได้รับอิทธิพลสำคัญมาจาก 1) น้ำมันเชื้อเพลิง (ร้อยละ 0.27) 2) ค่าเช่าบ้าน (ร้อยละ 0.07) 3) การปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบในเดือนก.พ.59 (ร้อยละ 0.05) 4) ผลไม้สด (ร้อยละ 0.025) 5) ผักสด (ร้อยละ -0.087)

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2559

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนใช้สอยครอบคลุม

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล พาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษาและการศาสนา ยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 450 รายการ

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2559 สามารถสรุปได้ดังนี้ คือ

1.ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2559 (ปี 2554 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100) มีค่าเท่ากับ 105.84 (เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 105.62 )

2.การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                     การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
          2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM)           สูงขึ้น      0.21
          2.2 เดือนมีนาคม 2558 (YoY)             ลดลง     -0.46

2.3 เฉลี่ย 3 เดือน

          (มกราคม - มีนาคม 2558)                ลดลง     -0.50

โดยมีรายละเอียดดังนี้

2.1 เทียบเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) สูงขึ้น ร้อยละ 0.21 มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 1

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2559 สูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) ร้อยละ 0.21 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากหมวดยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นร้อยละ 3.36 ซึ่งเป็นผลสะสมจากการปรับอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าเมื่อเดือนก.พ.59 (บุหรี่ ราคาสูงขึ้นร้อยละ 6.65) นอกจากนี้ ดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 1.15 (ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศสูงขึ้นร้อยละ 5.04 รถยนต์สูงขึ้นร้อยละ 0.01) ดัชนีหมวดเคหสถานสูงขึ้นร้อยละ 0.03 (ค่าเช้าบ้านร้อยละ 0.05 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาดร้อยละ -0.20 อาทิ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน) หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคลสูงขึ้นร้อยละ 0.01 (ยาแก้ปวดลดไข้ ยาคุมกำเนิด ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย) อย่างไรก็ตาม ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.31 (อาทิอาหารโทรสั่ง ร้อยละ -17.67 ผักบุ้ง ร้อยละ -25.96 ผักคะน้า ร้อยละ -16.30)

2.2 เดือนมีนาคม 2558 (YoY) ลดลง ร้อยละ 0.46 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 2

อัตราเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2559 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2558 (YoY) ร้อยละ -0.46 โดยยังคงได้รับผลกระทบหลักมาจากหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -4.28 ตามแนวโน้มของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ (ร้อยละ -16.06) และพลังงานที่ใช้ในบ้าน อาทิ ค่ากระแสไฟฟ้า (ร้อยละ -4.11) และก๊าซหุงต้ม (ร้อยละ -9.03) ส่งผลให้หมวดเคหะสถานลดลงร้อยละ -0.50 ทั้งนี้สินค้าและบริการในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบุหรี่ ปรับสูงขึ้นสูงสุดร้อยละ 14.43 นอกจากนี้ สินค้าและบริการในหมวดการบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา (ค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ และประถมศึกษา) หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดการตรวจค่าตรวจรักษาและค่ายา (ค่ายาและเวชภัณฑ์ ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.16, 0.97, และ 0.78 ตามลำดับ

2.3 เดือนมกราคม - มีนาคม 2559 เทียบกับ เดือนมกราคม - มีนาคม 2558(AoA) ลดลง ร้อยละ 0.50 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการจำแนกตามหมวดแสดงได้ดังภาพที่ 3

อัตราเงินเฟ้อในระยะ 3 เดือน (เดือนม.ค.-มี.ค. 59/เดือนม.ค.-มี.ค.58) ลดลงร้อยละ 0.50 (AoA) ยังคงได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับหมวดอื่น ร้อยละ -4.33 (น้ำมันเชื้อเพลิง เบนซิน ดีเซล แก๊สโซฮอล์91 95 E20 E85) หมวดเคหสถาน ร้อยละ -0.39 (ค่ากระแสไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ทั้งนี้ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ราคาสูงขึ้นมากที่สุดร้อยละ 8.98 ในขณะที่ หมวดบันเทิงการอ่าน การศึกษาและการศาสนา หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยที่ ร้อยละ 1.16, 1.01, 0.90, 0.48 ตามลำดับ

3. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 ประมาณการอัตราเงินเฟ้อปี 2559 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 - 1.0 โดยมีสมมติฐานหลักคือ

มีนาคม 2559 ธันวาคม 2558

          1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)        2.8-3.8         3.0-4.0

2.ราคาน้ำมันดิบดูไบ

          (เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล)                     30-40           48-54

3.อัตราแลกเปลี่ยน

          (บาท/เหรียญสหรัฐฯ)                        36-38           36-38

ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงดอลล่าร์สหรัฐ และราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 35.24 บาทต่อดอลล่าร์ (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 29 มีนาคม 59) และ 35.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (ข้อมูลล่าสุด วันที่ 30 มีนาคม 59) ตามลำดับ

4. ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ

4.1 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจากปัญหาอุปทานส่วนเกิน

4.2 ผลกระทบสะสมการปรับขึ้นอัตราค่าแสตมป์ยาสูบตามมูลค่าจากร้อยละ 87 เป็นร้อยละ 90 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559

4.3 สถานการณ์ภัยแล้งส่งผลให้สินค้าพืชผักสดและผลไม้สดหลายชนิดมีราคาสูงขึ้น

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ