ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2559 และไตรมาสแรกของปี 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 25, 2016 16:25 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2559 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงในอัตราชะลอลงร้อยละ 2.0 (YoY) เป็นผลมาจากลดลงของราคาสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงและปริมาณผลผลิตส่วนเกินในสินค้าเกษตรที่มีอยู่มาก ขณะที่ความต้องการของตลาดคู่ค้ายังคงชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2559 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 (YoY) สาเหตุจากสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก โดยเกิดจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก นอกจากนั้น ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ราคาปรับลดลง ได้แก่ เหล็ก สินแร่โลหะต่างๆ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ดัชนีราคาส่งออก เดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 95.1 (ปี 2555 = 100) และเทียบกับเดือนมีนาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 (YoY) เป็นการปรับตัวลดลงทุกหมวดสินค้า โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาส่งออกในเดือนนี้ คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เนื่องจากผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดมาก หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ล้นตลาด ทองคำ จากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ทำให้ความน่าสนใจในทองคำลดลง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกลดลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนมีนาคม 2559 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 (ปี 2555 = 100) ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.5 (YoY) ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่กดดันให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง คือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากยังคงมีภาวะอุปทานส่วนเกินอยู่ในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันกำลังพยายามจะหารือเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันในการสร้างเสถียรภาพให้กับราคาน้ำมัน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งราคาที่ปรับลดลง เป็นผลมาจากภาวะอุปทานที่ล้นตลาดเช่นกัน นอกจากนั้น ยังมีสินแร่โลหะต่างๆ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เคมีภัณฑ์ ที่ราคานำเข้าปรับตัวลดลง

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 838 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 95.1 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 94.4) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนมีนาคม 2559 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 81.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 97.5 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 98.2 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 79.7

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนมีนาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา จากมาตรการที่ผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ลดปริมาณการส่งออกลง ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง จากความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และปริมาณผลผลิตลดลงจากปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามประสบปัญหาโรคระบาดและสารตกค้างในกุ้ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย จากผลผลิตที่ลดลงและความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ทองคำ ตามค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงภายหลังจากเฟดยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วๆนี้ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เป็นผลจากการที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่างกลุ่มโอเปค และนอกกลุ่มโอเปค มีการเจรจาตกลงเรื่องการคงกำลังการผลิต ประกอบกับปริมาณสำรองน้ำมันดิบในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลง และจีนมีแนวโน้มความต้องการใช้สูงขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 2.0 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกยังคงปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์เม็ดพลาสติก เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาด ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนก

รายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคาส่งออกปรับลดลงทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ สินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับลดลงเป็นผลจากปริมาณผลผลิตส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 842 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2559 เท่ากับ 81.1 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกุมภาพันธ์ 2559 เท่ากับ 79.9) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนมีนาคม 2559 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 41.1 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 97.9 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 89.1 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 99.0 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 91.0

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนมีนาคม 2559 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2559 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 1.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิง มีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ว่าจะมีการหารือระหว่างผู้ผลิตน้ำมันทั้งในกลุ่มโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคเพื่อหามาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันและมีการตรึงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดิม หมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ ทองคำ ซึ่งมีปัจจัยหนุนคือ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม

2.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 (YoY) ลดลงร้อยละ 6.5 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง โดยมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ และปุ๋ย หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค และเครื่องสำอาง โดยสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าในตลาดโลก อาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยเกิดจากภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคานำเข้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งมีการปรับสูงขึ้นจากกลุ่มสินค้าเกี่ยวกับส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-มีนาคม 2558 (AoA) ลดลงร้อยละ 7.7 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

ราคานำเข้าปรับลดลงทุกหมวดสินค้า โดยหมวดสินค้าเชื้อเพลิงมีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ ปุ๋ย พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ยารักษาโรค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ซึ่งสินค้านำเข้าที่สำคัญยังคงเคลื่อนไหวตามสถานการณ์ในตลาดโลกที่ได้รับแรงกดดันจากปัญหาภาวะอุปทานส่วนเกินอาทิ น้ำมันดิบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่ความต้องการใช้ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะจีนที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ